กระทรวงอุตฯ นัดผู้บริหาร กนอ. กรมโรงงานอุตสาหกรรม สนง.อุตสาหกรรม 2 จังหวัด ถกล้อมคอกสถานการณ์"ก๊าซรั่วไหล" พร้อมทบทวนมาตรการป้องกันฉุกเฉิน ปลัดอ้าง"บิวทีน"รั่วเหตุสุดวิสัย รองผู้ว่าการ กนอ.รับยังต้องปรับปรุง ที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายสยุมพร ลิ่มไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง
แถลงเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ภายหลังนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เพื่อแก้ไขปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพูด ออกมาตำหนิการทำงานด้านการป้องกันและแก้ไขมลพิษของหน่วยงานต่างๆ ว่า หลังเกิดเหตุเรือบรรทุกก๊าซบิวทีน 1 รั่วไหลขณะกำลังโหลดที่ท่าเทียบเรือมาบตาพุดแทงค์เทอร์มินอล อ.เมือง จ.ระยอง มีชาวบ้านและชาวประมงได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมานั้น ต่อมาในวันที่ 6 ธันวาคม เจ้าหน้าที่ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของเรือบรรทุกก๊าซและท่าเรือมาบตาพุดข้อหากระทำโดยประมาท ทำให้เกิดอันตรายกับประชาชน
"กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินเร่งด่วน อย่างน้อยต้องกำหนดให้ชัดว่าบุคคลที่ควรจะต้องรับทราบได้ทันที ประกอบด้วย 1.ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) 2.ผู้อำนวยการท่าเรือมาบตาพุด 3.ผู้ว่าราชการจังหวัด 4.นายกเทศมนตรี มาบตาพุด หลังจากนั้นการแก้ไขจะได้ทำไปพร้อมๆ กัน เรื่องนี้นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี สั่งกำชับและให้ปรับปรุงระบบการตอบโต้กรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินแล้ว" นายสยุมพรกล่าว
สำหรับกรณีเกิดเหตุไฟไหม้ในบริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) หรือโรงงานกำขัดขยะเจนโก้ เลขที่ 5 ติดกับโรงพยาบาลมาบตาพุด
เทศบาลเมืองมาบตาพุด เหตุเกิดเมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมานั้น นายสยุมพรกล่าวว่า หลังเกิดเหตุได้รับรายงานจากนายพีระวัฒน์ รุ่งเรืองศรี ผอ.การนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดว่า เจ้าหน้าที่ดับเพลิงใช้เวลาเพียง 10 กว่านาทีเพลิงก็สงบ เหตุการณ์ครั้งนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีผลกระทบต่อชุมชนแต่อย่างใด
ขณะที่นายวีระพงศ์ ไชยเพิ่ม รองผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยว่า กรณีเรือบรรทุกก๊าซบิวทีน 1 รั่วไหล เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม เวลา 13.30 น.
แต่บริษัทเอกชนแจ้งให้ กนอ.ทราบเวลาประมาณ 16.00 น. เมื่อ กนอ.รับทราบเรื่อง จึงสั่งให้บริษัทมาบตาพุดแทงค์เทอมินอล รีบนำเรือออกนอกชายฝั่ง และรีบประสานไปยังชาวบ้านที่อยู่พื้นที่ใกล้เคียงให้ทราบข่าว 2 ช่องทาง คือส่งข้อความเอสเอ็มเอสให้ประธานชุมชน และแจ้งผ่านหอกระจายข่าวด่วน จนกระทั่งเวลา 17.00 น. ได้รับแจ้งว่ามีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บจากการสูดดมจำนวน 17 คน กนอ.และบริษัทผู้รับผิดชอบจึงรีบนำส่งโรงพยาบาล แพทย์ให้พักรักษาตัว 5 คน และให้ออกจากโรงพยาบาลราว 11.00 น. ของวันที่ 6 ธันวาคม
"ทราบดีว่าเป็นความรับผิดชอบของ กนอ.ในการแก้ปัญหาความขัดข้องและเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่เนื่องจากเหตุการณ์ก๊าซรั่วที่เกิดขึ้น กนอ.ได้รับทราบข้อมูลล่วงเลยราว 2 ชั่วโมง ซึ่งระหว่างนั้น กนอ.ได้พยายามประสานเพื่อแก้ไขกับบริษัทเอกชนที่เกิดปัญหา และแจ้งข่าวให้ชาวบ้านทราบ โดยก๊าซได้พัดมากับลมทะเลเวลา 17.00 น. ใช้เวลาในการเจือจางราว 15 นาที แต่ก็มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ" นายวีระพงศ์ กล่าว
กระทรวงอุตฯ ถกล้อมคอกสถานการณ์ก๊าซรั่วมาบตาพุด
นายวีระพงศ์กล่าวว่า ยอมรับว่า กนอ.ทราบอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นช้าราว 2 ชั่วโมง จึงเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข
อย่างไรก็ตาม กนอ.ได้รับแจ้งจากบริษัทเอกชนรายนี้ว่าทันทีที่เกิดเหตุการณ์ ทางบริษัทได้พยายามแก้ไข แต่เนื่องจากระบบเซฟตี้วาล์วค้าง จึงจำเป็นต้องระบายก๊าซบิวทีน-1 ออก ไม่เช่นนั้นถังก๊าซอาจระเบิดได้ นอกจากนี้ บริษัทยังส่งคนเข้าไปสังเกตการณ์พื้นที่ที่ชาวบ้านอยู่ด้วย แต่ก๊าซดังกล่าวก็ลอยมากับลมในช่วงเย็น รองผู้ว่าการ กนอ.กล่าวว่า การแจ้งเตือนแก่ชาวบ้านยังมีช่องว่างในเรื่องของรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตัวเบื้องต้น ตลอดจนการปฐมพยาบาล ซึ่ง กนอ.จะประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลาประมาณ 15.00 น. นายประสาน ตันประเสริฐ ประธานคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ได้เรียกประชุมผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือเกี่ยวกับอุบัติเหตุก๊าซรั่วที่เกิดขึ้น อาคารการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมาบตาพุด 2-แทรก ต่อมานายประสานกล่าวภายหลังประชุมว่า กนอ.ไม่อยากปฏิเสธความรับผิดชอบ แต่เหตุการณ์ที่เกิดก๊าซบิวทีน-1 รั่วนั้น หลังการหารือกับผู้บริหารของ กนอ.พบว่ามีประเด็นปัญหาคือ ก๊าซบิวทีน-1 ที่รั่วเป็นความบกพร่องของถังก๊าซในเรือ GLOBAL HIME และท่าเรือมาบตาพุด ที่เอกชนได้รับสัมปทานจาก กนอ.ในการบริหารงานที่ไม่สามารถจัดการให้เรือออกนอกพื้นที่ทันทีภายหลังก๊าซรั่ว รวมถึงการแจ้งข้อมูลมายัง กนอ.ที่ล่าช้าจนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น
"ขณะนี้ท่าเรือมาบตาพุดยังคงปิดดำเนินกิจการ ภายหลัง กนอ.สั่งปิดชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม เวลา 18.00 น. สำหรับผู้รับผิดชอบโดยตรงนั้น กนอ.กำลังอยู่ระหว่างดูข้อกฎหมายที่รวมถึงกฎหมายพาณิชยนาวี และสัญญาว่าจ้างเรือ เพื่อเอาผิดกับท่าเรือ และเรือสินค้า ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าเป็นเรือของประเทศอะไร เนื่องจากเป็นวันหยุดยังไม่สามารถประสานงานได้ คาดว่าเมื่อมีข้อสรุปจะประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดระยองเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป" นายประสานกล่าว
ด้านนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เข้าใจว่าสถานที่เกิดเหตุก๊าซรั่วซึ่งอยู่ในเรือนั้น ไม่น่าจะใช่ความรับผิดชอบการนิคมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม แต่น่าจะเป็นความรับผิดชอบของการท่าเรือที่มีกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับผิดชอบมากกว่า
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า
วันที่ 8 ธันวาคม กระทรวงอุตสาหกรรมจะเชิญผู้บริหาร 3 หน่วยงานหลักที่ดูแลภาคอุตสาหกรรมร่วมประชุม ซึ่งประกอบด้วย กนอ. กรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด 2 จังหวัด คือ ชลบุรี และระยอง เพื่อหารือถึงสถานการณ์ก๊าซรั่วบริเวณท่าเรือของบริษัทเอกชนในพื้นที่มาบตาพุด การแก้ปัญหา และทบทวนมาตรการป้องกันตามแผนฉุกเฉินที่ทุกโรงงานต้องปฏิบัติอยู่แล้ว แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเข้าใจว่าเป็นเหตุสุดวิสัย โดยเฉพาะปัญหาหลักซึ่งอยู่ที่ช่องทางการสื่อสารของทางท่าเรือที่ล่าช้า
"แผนฉุกเฉินอาจไม่เคยซ้อมหรือเปล่า ตอนนี้ผมยังไม่แน่ใจ คงต้องหารือเกี่ยวกับข้อมูลอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หลังการประชุมเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของเหตุการณ์อย่างละเอียดแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมจะทำหนังสือชี้แจงต่อนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีต่อไป" นายวิฑูรย์ กล่าว
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)
ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทยจะประชุมประจำเดือนในวันที่ 8 ธันวาคม โดยประเด็นเร่งด่วนที่ ส.อ.ท.จะนำไปหารือกับที่ประชุม คือ ผลกระทบจากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลางระงับโครงการในมาบตาพุด 65 โครงการ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ กกร.จะเชิญผู้บริหาร กนอ.มาร่วมหารือด้วย เพื่อให้อธิบายรายละเอียดการดำเนินงานปัจจุบันและอนาคตของ กนอ.ภายหลังมีคำสั่งศาลออกมา
"เอกชนมีความมั่นใจว่า ที่ผ่านมาได้ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในพื้นที่เป็นอย่างดีตามกฎหมายที่ระบุไว้ แต่เมื่อเป็นคำสั่งศาลก็ต้องดำเนินตามแม้จะได้รับเสียหาย โดยเฉพาะการถูกฟ้องร้องจากผู้ถือหุ้นและผู้ร่วมทุน ดังนั้น ทางเลือกสุดท้ายจึงจำเป็นต้องฟ้องร้องรัฐ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายต่อไป" นายพยุงศักดิ์กล่าว