บรรยากาศชมฝนดาวตกที่แปดริ้วเริ่มกลับคืนชีพคักคักขึ้นมาอีกครั้ง หลังตลอดช่วงที่ผ่านมา ซบเซาลงชั่วขณะ ส่วนนักดาราศาสตร์สมัครเล่น และนักถ่ายภาพ ต่างให้ความสนใจแบกกล้องหามุมมืดสงบตั้งขาตั้ง จ้องรอเตรียมกดชัดเตอร์ถ่ายภาพห่าฝนดาวตกในคืนนี้กันอย่างคึกคัก
เมื่อวันที่ 18 พ.ย.52 เวลา 02.30 น. บรรยากาศการเฝ้ารอชมฝนดาวตกลีโอนิดส์ ที่ จ.ฉะเชิงเทรา เริ่มมีสีสัน คึกคักมาก
บรรดาตากล้อง นักถ่ายภาพจำนวนมาก ต่างพากันหามุมมืดสงบ ในที่ทึบแสง ตั้งกล้องเรียงแถวเตรียมรอทำการบันทึกภาพปรากฎการณ์ฝนดาวตกที่จะเกิดขึ้น ขณะที่นักเรียน และผู้สนใจด้านดาราศาสตร์ ที่โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฏิ์ อ.เมืองฉะเชิงเทรา จำนวนกว่า 100 คน ต่างพากันเฝ้ารอชมปรากฏการณ์ ฝนดาวตกลีโอนิดส์ ประจำปี 2552 กันอย่างใจจดจ่อ พร้อมเตรียมตั้งกล้องเฝ้าคอยบันทึกภาพของการเกิดปรากฏการณ์ไว้เช่นเดียวกัน โดยที่บนดาดฟ้าชั้น 7 อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ ได้เริ่มมีฝนดาวตกลงมาให้เห็นเป็นลูกแรก สีน้ำเงิน เมื่อเวลา 01.00 น. พุ่งลงมาจากทางด้านทิศตะวันออกเฉียงไปทางทิศใต้ จากนั้นได้มีฝนดาวตก พุ่งลงมาเป็นกลุ่ม ต่อเนื่องกันอีกถึง 3 ลูก ทั้งสีน้ำเงิน สีเขียว จากบริเวณกลางศีรษะ ลงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
ล่าสุดจากการจดบันทึกของกลุ่มนักเรียนที่ร่วมกิจกรรม เมื่อเวลา 03.00 น. สามารถจดบันทึกปริมาณฝนดาวตกไว้ได้จำนวน 10 ลูก
และยังคงเฝ้ารอลุ้นในช่วงสูงสุด คือเวลาประมาณ 04.30 น. ต่อไปอีก ขณะเดียวกันนักถ่ายภาพทางดาราศาสตร์สมัครเล่น ซึ่งยังมีประสบการณ์ในการถ่ายภาพดาราศาสตร์ไม่มากนัก หลายคนยังไม่สามารถทำการบันทึกภาพของฝนดาวตก ที่ถือได้ว่าเป็นฝนดาวตกจำนวนมากที่สุด นอกจากนี้เหนือท้องฟ้าในเขตย่านตัวเมืองฉะเชิงเทรา ยังมีเมฆบางๆ ลอยเข้ามารบกวนการเฝ้ารอชมฝนดาวตกอยู่ตลอดเวลา
ขณะที่บรรยากาศที่สนามฟุตบอล โรงเรียนไผ่แก้ววิทยา อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา นายศักดิ์เดช จุมณี ผอ.โรงเรียน
ได้นำนักเรียนทั้งจากในโรงเรียน และจากโรงเรียนในพื้นที่ข้างเคียง จำนวนกว่า 200 คน จัดกิจกรรมด้านดาราศาสตร์ เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้พื้นฐานด้านดาราศาสตร์ของนักเรียน ก่อนที่จะแบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็น 14 กลุ่ม เฝ้าสังเกตการณ์ของปรากฏการณ์ด้านดาราศาสตร์ ฝนดาวตกลีโอนิดส์ ในครั้งนี้ด้วย เพื่อทำการจดบันทึกนับปรากฏการณ์ และเปรียบเทียบความแตกต่าง และเป็นการฝึกทักษะให้เด็กนักเรียนได้รู้จักสังเกตปรากฏการณ์ทางธรรมชาติของฝนดาวตก
ด้าน นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต นักดาราศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งได้มาบรรยายให้ความรู้แก่เด็กนักเรียน และผู้สนใจ ที่โรงเรียนไผ่แก้ววิทยา
กล่าวถึงความสำคัญของฝนดาวตกลีโอนิดส์ในครั้งนี้ว่า ถือเป็นโอกาสดีที่นักเรียนในประเทศไทยจะได้มีโอกาสได้ศึกษา เนื่องจากในปีนี้ ฝนดาวตกลีโอนิดส์ จะพี๊กตรงจังหวะที่โลกนั้นหันประเทศไทยเข้าสู่ด้านมืดเข้าหากลุ่มของฝนดาวตกพอดี และเพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการนำไปสู่เส้นทางของผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ที่จะมีการก่อตั้งหอดูดาวระดับภูมิภาคขึ้นมา ซึ่งกลุ่มของฝนดาวตกลีโอนิดส์ ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความสวยงามมากที่สุด กว่ากลุ่มของฝนดาวตกอื่นๆ
ทั้งนี้นักดาราศาสตร์ คาดการณ์ไว้ว่า จะมีปริมาณฝนดาวตกมากถึง 500 ดวงต่อชั่วโมง
แต่ถึงขณะนี้ ทางหอดูดาวบัณฑิตยังคงยืนยันการคาดการณ์ฝนดาวตกในครั้งนี้ไว้ก่อนหน้าแล้วว่า จะมีปริมาณฝนดาวตกในช่วงสูงสุด ประมาณ 100-150 ดวงต่อชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งหากจะมีมากถึง 500 ดวง จะต้องเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อคืนวานนี้แล้ว ขณะที่เมื่อปี พ.ศ.2544 นั้นเคยมีปริมาณสูงสุดถึง 1,000 ดวง ต่อชั่วโมง