ปัญหาทองราคาแพง

โดย วินัย วงศ์สุรวัฒน์ คณะวิทยาการจัดการ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)


ความตื่นตระหนกของประชาชนเวลาราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นเป็นกรณีศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ที่น่าสนใจ ทั้งนี้ เพราะผู้คนส่วนมากมิได้มีความจำเป็นต้องใช้ทองคำในชีวิตประจำวันเหมือนอย่างที่จำเป็นต้องกินข้าวหรือซื้อน้ำมันมาเติมรถ

เวลาข้าวราคาแพงหรือน้ำมันราคาขึ้น ประชาชนย่อมวิตกเพราะกลัวว่าจะขาดแคลนสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน สำหรับทองคำนั้นถ้าเกิดมันแพงขึ้นมากๆ ก็เลิกซื้อมันเสียก็ได้ คนส่วนใหญ่คงจะมิได้เป็นเดือดเป็นร้อนอะไรมากมาย หากไม่มีสร้อยทองมาแขวนคอ หรือไม่มีทองคำแท่งมาเก็บไว้ในตู้เซฟ

ความตื่นตระหนกส่วนหนึ่งคงมาจากชาวบ้านที่พอมีอันจะกิน ชาวบ้านพวกนี้อาจรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้ซื้อทองคำเก็บไว้เมื่ออาทิตย์ก่อน เดือนก่อน หรือปีก่อนตอนราคาทองยังไม่แพงขนาดนี้ ความรู้สึกดังกล่าวสะท้อนความเสียดายที่พลาดโอกาสการทำเงินจากการเก็งกำไรในราคาทองคำนั่นเอง

หากความตื่นตระหนกส่วนใหญ่เกิดจากความเสียดายของนักเก็งกำไร สังคมส่วนรวมก็คงไม่มีความจำเป็นต้องกังวลกับเรื่องราคาทองมากนัก ทั้งนี้ เพราะการเก็งกำไรนั้นไม่ใช่กิจกรรมที่เป็นประโยชน์และน่าสนับสนุนแต่อย่างใด ถ้าใครมีสตางค์เหลือเก็บ สู้เอาไปใช้ลงทุนในธุรกิจ (ไม่ว่าทางตรง เช่นการเปิดร้าน สร้างโรงงาน หรือทางอ้อม เช่นการฝากธนาคารหรือซื้อหุ้น) ยังจะเป็นประโยชน์เสียมากกว่าการเอาเงินมาเก็งกำไรในราคาทอง

อย่างไรก็ตาม ความวิตกกังวลเรื่องราคาทองนั้น ดูเหมือนจะแผ่วงกว้างไปกว่าในหมู่นักเก็งกำไร ชาวบ้านธรรมดาที่หาเช้ากินค่ำ และมิได้มีเงินเหลือเฟือเอามาใช้เก็งกำไรราคาทอง ก็ดูเหมือนว่าจะสนใจและเป็นกังวลกับราคาทองคำที่แพงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

อะไรคือต้นตอของความวิตกกังวลของชาวบ้านพวกนี้

นักวิเคราะห์มองว่าราคาทองคำที่แพงขึ้นมีผลสืบเนื่องมาจากการสูญเสียความมั่นใจในค่าของเงินตรา หรือความกลัวเงินเฟ้อนั่นเอง เวลาเงินเฟ้อราคาสินค้าและบริการทุกอย่าง (อาหาร เครื่องนุ่มห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค การศึกษา ความบันเทิง ฯลฯ) ก็จะพุ่งสูงขึ้น

นอกจากนั้น มูลค่าหรืออำนาจการซื้อของเงินฝากในบัญชีธนาคารก็จะลดลง ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจนขนาดไหน

หากผู้คนต่างกังวลกันว่า ค่าของเงินกำลังมีแนวโน้มจะลดลง ทุกคนก็จะพยายามเปลี่ยนไปออมในรูปแบบอื่นๆ คนทั่วไปเวลากลัวเงินเฟ้อ ไม่รู้จะออมในรูปแบบใดแทนเงิน มองซ้าย-มองขวาแล้ว สุดท้ายก็มักจะตัดสินใจซื้อทองเก็บไว้

สัญชาตญาณการใช้ทองเป็นเครื่องมือการเก็บออมมีรากฐานมาจากพฤติกรรม ค่านิยม และความเชื่อของคนตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ อย่างไรก็ดี หากมองกันแบบเป็นกลางแล้ว การออมในรูปทองคำก็มีความเสี่ยงไม่ต่างไปจากการลงทุนแบบอื่น เพราะราคาทองคำขึ้นอยู่กับอุปสงค์ (ความต้องการใช้ทองในอุตสาหกรรม และความนิยมของผู้คน) และอุปทาน (จำนวนเหมืองทองที่ค้นพบใหม่ และปริมาณที่ผลิตได้ในแต่ละปี)

ดังนั้น ราคาทองคำจึงมีขึ้นมีลงได้เหมือนราคาสินค้าอื่นๆ การซื้อทองเก็บไว้จึงมิได้ดีไปกว่าการเอาเงินลงทุนกับอย่างอื่น เช่น การเก็งกำไรที่ดิน-คอนโดฯ การซื้อหุ้น หรือการลงทุนในการศึกษา แต่ประการใด

ความวิตกกังวลเรื่องเงินเฟ้อเป็นปัญหาที่น่าเห็นใจสำหรับประชาชนตาดำๆ เป็นอย่างมาก เพราะไม่ว่าพวกเขาจะขยันขันแข็ง เก็บหอมรอมริบเป็นเวลานานสักเพียงใด ฐานะความเป็นอยู่ของพวกเขาก็อาจไม่กระเตื้องขึ้นเลย เพราะมูลค่าเงินออมที่ฝากธนาคารไว้ถูกกัดกร่อนไปอย่างรวดเร็วด้วยฤทธิ์ของเงินเฟ้อ

สิ่งที่น่าทึ่งเป็นที่สุดก็คือ หากถามประชาชนตาดำๆ เหล่านี้ว่าต้นเหตุของเงินเฟ้อมาจากไหน พวกเขาก็มักพูดถึงปัญหาเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน หรือความโลภของนายทุน ทรรศนะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าบางครั้งเส้นผมเล็กๆ ก็สามารถเอามาใช้บังภูเขาทั้งลูกได้ หากมีเทคนิคการหลอกล่อที่ถูกต้อง

ค่าของเงินถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทานเหมือนกับสินค้าอื่นๆ หากปีใดเกษตรกรผลิตข้าวออกมามาก แต่ความต้องการบริโภคมิได้มากตาม ราคาข้าวก็จะตก ฉันใดก็ฉันนั้น หากมีใครสักคนพิมพ์เงินออกมามากกว่าปริมาณที่ใช้จ่ายกันตามปกติ "ราคาของเงิน" ก็จะตก ซึ่งนั่นก็คือคำจำกัดความของเงินเฟ้อนั่นเอง

ใครสักคนที่มีอำนาจในการพิมพ์เงินก็คือรัฐบาล อภิสิทธิ์ในการเสกกระดาษเป็นเงินนั้นเป็นอำนาจที่เย้ายวนและชวนให้ใช้ในทางที่ผิดเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะเงินสามารถซื้อหาคะแนนนิยมและอำนาจทางการเมืองได้ ด้วยการจับจ่ายใช้สอยอย่างมือเติบภายใต้ข้ออ้างต่างๆ นานา เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจ การประกันราคาไอ้โน่นไอ้นี่ และการสร้างความเข้มแข็งทางไอ้นั้นไอ้โน้น

รัฐบาลไม่ว่ารัฐบาลไหนก็มักจะบ่ายเบี่ยงไม่ยอมรับว่าปัญหาเงินเฟ้อนั้นเป็นความผิดของรัฐ วิธีหลอกล่อให้ประชาชนสับสนที่ใช้ได้ผลดีที่สุดก็คือ โยนความผิดให้กับแพะรับบาป เช่น พวกต่างชาติ (เลวๆ) หรือไม่ก็พวกนายทุน (หน้าเลือด)

แน่นอนว่าคนที่ได้ประโยชน์จากนโยบายถลุงเงินดังกล่าวย่อมพึงพอใจ (อย่างน้อยก็ในช่วงสั้นๆ) แต่ในไม่นานทุกคนก็ย่อมเริ่มตั้งคำถามว่ารัฐบาลเอาเงินมากมายเหล่านี้มาจากไหน

คำถามดังกล่าวย่อมนำไปสู่ความลังเลสงสัยในค่าของเงินในอนาคต และก่อให้เกิดอุปสงค์พิเศษสำหรับการออมในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งก็ทำให้ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นนั่นเอง

นายเลนินเคยกล่าวไว้ว่า วิธีที่ดีที่สุดที่จะบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจเสรีคือ การบ่อนทำลายระบบการเงิน

จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้บ่อนทำลายประเทศโดยการทำลายความน่าเชื่อถือของระบบการเงินมักจะเป็นรัฐบาลของประเทศนั้นเอง เช่น กรณีเงินเฟ้อวิกฤตในประเทศ เยอรมนี ฮังการี และ ซิมบับเว

วิธีการป้องกันมิให้นักการเมืองบ่อนทำลายระบบการเงินด้วยการพิมพ์เงินมาถลุง โดยไม่ยั้งมือนั้นมิใช่เรื่องง่าย เพราะนักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งมาเป็นรัฐบาลนั้นมักคิดว่าพวกตนมีสิทธิชอบธรรมที่จะทำอะไรก็ได้ บทเรียนประวัติศาสตร์สอนว่า การประกันเสรีภาพในการทำงานของธนาคารกลางนั้น อาจช่วยสร้างความมั่นคงให้กับระบบการเงินได้บ้าง

การออกพันธบัตรที่จ่ายดอกเบี้ยตามอัตราเงินเฟ้อก็อาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดแรงจูงใจในการสร้างเงินเฟ้อของรัฐบาล ทั้งนี้ เพราะหากรัฐไม่ระวังปล่อยให้เงินเฟ้อในอัตราสูง หนี้ที่รัฐกู้ประชาชนมาผ่านพันธบัตรก็จะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงตามไปด้วย

ปัจจุบันประเทศตะวันตกหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และ ฝรั่งเศส ต่างมีพันธบัตรรัฐบาลที่จ่ายดอกเบี้ยตามอัตราเงินเฟ้อให้นักลงทุนซื้อหากันได้แล้ว

การออกพันธบัตรดังกล่าวเป็นการสร้างทางเลือกในการออมให้ประชาชนที่กลัวเงินเฟ้อ และทำให้พวกเขาไม่ต้องแห่กันไปซื้อทองเก็บไว้ในช่วงเวลาที่เกิดความหวาดระแวงในค่าของเงินตราอย่างเช่นในปัจจุบันนี้

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์