อย่าพลาดชม ฝนดาวตก เริ่มเที่ยงคืนวันนี้

คนกรุง-เมืองใหญ่ส่อแห้ว อุตุฯชี้เมฆเยอะ

     เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรรายงานว่า จากกรณีที่ประเทศไทยจะเกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ ในค่ำคืนนี้ ตั้งแต่เวลาเที่ยงคืน ต่อเนื่องถึงเช้าวันพรุ่งนี้นั้น ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผอ.สถาบันวิจัยดารา  ศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. กล่าวว่า ในช่วงวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ แม้จะไม่ใช่รอบปีของการเกิดพายุฝนดาวตกลีโอนิดส์ แต่เราจะมีโอกาสเห็นฝนดาวตกในอัตราความชุกมากกว่าปีก่อนๆ โดยอัตราการตกราว 100-500 ดวงต่อชั่วโมง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะเห็นฝนดาวตกตลอดทั้งชั่วโมง และจำนวนฝนดาวตกที่เห็นก็ไม่ได้เห็นมากถึง 500 ดวง ตัวอย่างเช่น อัตราการตกที่ 400 ดวงต่อชั่วโมง เราเห็นแค่ช่วงเวลา 15 นาที นั่นคือในช่วงชั่วโมงนั้น เราจะเห็นดาวตกประมาณ 100 ดวง ซึ่งก็ถือว่ามากแล้ว


     สำหรับช่วงเวลาที่ประเทศไทยจะมีโอกาสเห็นฝนดาวตกสูงสุดในครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่หลังเที่ยงคืน  ให้หันหน้าไปทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จะเห็นดาวตกลูกแรกคล้ายพุ่งขึ้นมาจากดิน  และหลัง03.00 น. ในการชมเราสามารถนอนหงายจะเห็นฝนดาวตกมาจากทุกทิศทางมาจากกลุ่มดาวสิงโต  ถ้าลูกใหญ่จะสวยมีควันที่เรียกว่าไฟร์บอลล์และจะเห็นเป็นรอยดาวตกทิ้งไว้เป็นทางด้วย

     ด้านนายบุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว แนะนำเบื้องต้นว่า ควรจะหาพื้นที่ท้องฟ้าโปร่งไม่มีเมฆบัง รวมทั้งห่างไกลจากบริเวณที่มีแสงสว่างมากๆ เพื่อจะทำให้การดูฝนดาวตกมีความชัดเจนมาก อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่าในระยะ 2-3 วันนี้จะมีเมฆบางส่วนในบางพื้นที่ ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคในการดูปรากฎการณ์ดาวลีโอนิดส์ตกบ้าง แต่ก็เชื่อในหลายพื้นที่จะสามารถมองเห็นฝนดาวตกได้อย่างชัดเจน  สำหรับคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ก็อาจจะมีโอกาสมองเห็นฝนดาวตกได้ยากหน่อย เพราะนอกจากอาจจะมีเมฆมาบังแล้ว แสงนีออนจากไฟฟ้าในเมืองก็เป็นอุปสรรคสำคัญด้วย ทางทีดีหากต้องการดูปรากฎการณ์นี้จริงๆ คงจะต้องออกมาหาพื้นที่ไกลออกไปสักหน่อยเพื่อจะได้เห็นได้ชัดเจน
 
     ทั้งนี้ ฝนดาวตก เกิดจากดาวหางซึ่งเป็นก้อนน้ำแข็งที่ประกอบด้วยฝุ่นหินเกาะกลุ่มกันจำนวนมาก เมื่อโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ก้อนน้ำแข็งจะเกิดการระเหิด ทิ้งแนวฝุ่นหินเป็นสายธารยาว เมื่อโลกโคจรเข้าไปตัดกับสายธารดังกล่าวนี้ เศษฝุ่นหินจะเคลื่อนตัววิ่งเข้ามาในบรรยากาศของโลกด้วยความ เร็วสูง และเกิดการเสียดสีจนลุกไหม้ปรากฏเป็นขีดแสงสว่างให้เราเห็น ที่เราเรียกว่า "ฝนดาวตก" นั่นเอง สำหรับชื่อของฝนดาวตกลีโอนิดส์ มาจากการอ้างอิงกับแหล่งการเกิด คือกลุ่มดาวสิงโตนั่นเอง คือแม้เราจะเห็นฝนดาวตกในทิศทางต่างๆ กัน แต่เมื่อเราลองลากเส้นย้อนกลับไปยังแหล่งการเกิดแล้ว ฝนดาวตกทุกดวงจะมาจากกลุ่มดาวสิงโต


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์