เชื่อหลัง มี.ค.53 ไร้เด็กปากแหว่งเพดานโหว่


'วิทยา'มั่นใจปี 2553 เป็นต้นไป ไทยจะไม่มีเด็กพิการปากแหว่งเพดานโหว่ ตกค้างรักษา


        นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดโครงการ “ยิ้มสวย เสียงใส” ปีที่ 5 ที่โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเทิดพระเกียรติ 50 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อเช้าวันนี้(16 พ.ย.) ว่า หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขสภากาชาดไทย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้จัดโครงการยิ้มสวย เสียงใส พ.ศ.2548-2553 จัดบริการผ่าตัดแก้ไขความพิการฟรีให้เด็กแรกเกิดที่มีปัญหาปากแหว่งเพดานโหว่และเข้าไม่ถึงบริการการรักษา เพื่อให้ได้รับการดูแลแก้ไข ให้มีคุณภาพชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป ใช้งบประมาณ 31 ล้านบาท 

      ผลการดำเนินการจนถึงขณะนี้รวม 4 ปี มีเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ที่เกิดตั้งแต่ 1 มกราคม 2548 - 30 กันยายน 2551 ขึ้นทะเบียนในโครงการ 5,676 ราย  ได้รับการผ่าตัดไปแล้ว  5,300 ราย  ที่เหลืออีก 376 ราย จะผ่าตัดแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2553 มั่นใจจากนี้ไป จะไม่มีเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ตกค้างรักษาอีก เด็กที่เกิดใหม่ทุกรายที่มีปัญหาดังกล่าวจะเข้าสู่ระบบการดูแลต่อเนื่อง โดยมีโรงพยาบาลที่สามารถทำผ่าตัด ฟื้นฟูจนถึงการฝึกพูด จำนวน 42 แห่ง    

      นายวิทยากล่าวต่อว่า โรคปากแหว่ง เพดานโหว่ เป็นความพิการของใบหน้าที่พบมากที่สุด ปีละประมาณ 2,000 คน ส่วนใหญ่พบในครอบครัวที่มีฐานะยากจน โดยพบเด็กปากแหว่งได้ 1 ใน 600 ของเด็กแรกเกิด ส่วนเพดานโหว่พบได้ 1 ใน 2,500 ของเด็กแรกเกิด การรักษาให้ได้ผลดีคือการผ่าตัดเย็บปิดรอยแหว่ง และช่องโหว่ที่เพดานปาก โดยเด็กปากแหว่งควรได้รับการผ่าตัดเมื่ออายุ 3-6 เดือน ส่วนเด็กเพดานโหว่ควรผ่าตัดเมื่ออายุ 9 เดือน - 1 ขวบครึ่ง  หากได้รับการผ่าตัดช้า จะทำให้การฝึกพูดให้ชัดเจนเหมือนคนปกติเป็นไปได้ยาก.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์