สิงคโปร์ 12 พ.ย. - กรุงธากา กรุงมะนิลา และกรุงจาการ์ตา คือ 3 เมืองใหญ่ในเอเชียที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ลมพายุและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินมหาศาล
กองทุนสัตว์ป่าโลก (ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ) ศึกษาถึงภัยคุกคาม 11 เมืองใหญ่ในเอเชีย ที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลและสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ
โดยให้คะแนน 1-10 ประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและความสามารถในการปรับตัว พบว่านครกัลกัตตาในอินเดีย กรุงพนมเปญ นครโฮจิมินห์ ซิตี นครเซี่ยงไฮ้ กรุงเทพมหานคร ฮ่องกง กรุงกัวลาลัมเปอร์ และสิงคโปร์ เป็นเมืองด่านหน้าที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาทางรับมือเพื่อหลีกเลี่ยงอันตราย เพราะนอกจากเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตประชากรหลายล้านคนแล้วยังมีผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจและการเติบโตของตัวเลขจีดีพีอีกด้วย
ผลการศึกษายกให้กรุงธากา นครหลวงของบังกลาเทศ เป็นเมืองใหญ่ในเอเชียที่ตกอยู่ในอันตรายมากที่สุด
โดยให้คะแนนความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 9 จาก 10 เนื่องจากเมืองนี้มีประชากรมากและอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปัจจุบันไม่กี่เมตร อีกทั้งมักได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนส่งผลให้เกิดอุทกภัย ส่วนความสามารถในการปรับตัวของกรุงธากาก็มีอยู่อย่างจำกัดมาก
ทางด้านกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย และกรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ มีความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 8 เท่ากัน
เนื่องจากเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีโอกาสเกิดอุทกภัยอยู่เป็นประจำ และมีความสามารถในการปรับตัวต่ำเมื่อเทียบกับเมืองอื่น ผลสำรวจพบว่า กรุงจาการ์ตามีความเสี่ยงในการสูญเสียผืนดินอย่างรวดเร็ว เพราะระดับน้ำทะเลในอ่าวจาการ์ตาจะสูงขึ้นปีละ 2 นิ้ว ทำให้พื้นที่ทางตอนเหนือจำนวน 160 ตารางกิโลเมตร จะจมอยู่ใต้น้ำในปี 2593 และบางพื้นที่จะถูกน้ำท่วมถาวร
ทางด้านฮ่องกง กัวลาลัมเปอร์ และสิงคโปร์ มีความอ่อนแอน้อยที่สุดเมื่อพบกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง
เนื่องจากเมืองเหล่านี้มีฐานะร่ำรวยและรัฐบาลที่เข้มแข็ง โดยที่ฮ่องกงจะพบกับภัยคุกคามจากพายุและระดับน้ำทะเล ในขณะที่น้ำท่วมและดินถล่มจากลมพายุเป็นภัยคุกคามสำคัญของกรุงกัวลาลัมเปอร์ แถลงการณ์ของกองทุนสัตว์ป่าโลก ระบุว่า เมืองในเอเชียขยายตัวอย่างรวดเร็ว ดังนั้นพื้นที่เขตเมืองจะเป็นสมรภูมิสำคัญในการต่อสู้กับสภาพอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง.- สำนักข่าวไทย