ยังไม่ลด- พื้นที่ริมคลองอู่ตะเภา จ.สงขลา ยังมีระดับน้ำท่วมขังสูง ขณะที่บางส่วนไหลบ่าท่วมรางรถไฟ ทำให้เส้นทางรถไฟไป 3 จัง หวัดภาคใต้ถูกตัดขาด เมื่อวันที่ 7 พ.ย. |
ในหลวง-พระราชินีทรงห่วง ชาวใต้ที่ถูกน้ำท่วมอยู่ในขณะ นี้ พระราชทานสิ่งของผ่านแม่ทัพภาคที่ 4มอบให้ประชาชน 11 พ.ย.นี้ ที่ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา นราฯน้ำยังท่วมหนัก ประกาศเขตภัยพิบัติแล้วทั้ง 13 อำเภอชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 18,000 คน เจ้าหน้าที่พบศพเหยื่อโคลนถล่มศรีสาครแล้วทั้ง 8 ราย นำขึ้นมาได้เพียงรายเดียว ที่เหลือยังต้องรอรถแบ๊กโฮมาขุดดินออกก่อน ส่วนรถไฟ 3 จว.ใต้เป็นอัมพาตอีก เพราะน้ำท่วมรางหลายช่วง ตรังประกาศ 4 อำเภอเป็นเขตภัยพิบัติฉุกเฉิน ขณะที่สตูลประกาศ 7 อำเภอเป็นเขตภัยพิบัติ อุตุฯยังเตือน 5 จว.ใต้ระวังน้ำป่าไหลหลาก
พบแล้ว8ศพเหยื่อดินถล่ม
จากกรณีชาวบ้านตระกูลสาแล 8 คน ถูกดินเชิงเขาหลังหมู่บ้านไอเจี๊ยะ หมู่ 5 ต.ซากอ อ. ศรีสาคร จ.นราธิวาส ถล่มใส่บ้านพักเมื่อเที่ยงวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา เบื้องต้นคาดว่าทั้งหมดเสียชีวิตแล้ว
ความคืบหน้าเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 7 พ.ย. นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล รองผู้ว่าฯนราธิวาส นายไพโรจน์ จริตงาม นายอำเภอศรีสาคร เจ้าหน้าที่ทหาร อส. และชาวบ้านกว่า 300 คน ค้นหาผู้สูญหายจากเหตุดินโคลนถล่มทั้ง 8 ราย กระทั่งเวลาประมาณ 11.50 น. พบศพชาวบ้าน 4 ราย แต่เจ้าหน้าที่นำขึ้นมาได้เพียง 1 ราย เป็นผู้หญิง ส่วนอีก 3 ศพต้องรอเครื่องจักรกลหนักขุดดินขึ้นมา
นายไพโรจน์เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่เข้ามาค้นหาผู้ที่สูญหายตั้งแต่เช้า ซึ่งทุกคนมีความห่วงใยและคาดว่าผู้สูญหายจะมีชีวิตรอด แต่เมื่อค้นหาผ่านไป 3 ชั่วโมง เมื่อเกลี่ยหน้าดินออกหมดแล้วพบศพ 4 ศพ ทราบชื่อเพียง 2 ศพคือ นายสาและ สาแล อายุ 71 ปี เจ้าของบ้าน และนางแมะเยาะ สาแล อายุ 37 ปี ลูกสะใภ้ ใต้ดินโคลนดังกล่าวจึงรีบช่วยนำศพออกมา แต่ยังนำขึ้นมาได้เพียงศพเดียวเท่านั้น ส่วนอีก 3 ศพ ต้องรอรถแบ๊กโฮมาขุดหน้าดิน เนื่องจากระยะจากผิวดินห่างจากศพประมาณ 5 เมตร คาดว่าน่าจะนำขึ้นมาได้ในช่วงบ่ายวันนี้ ส่วนผู้สูญหายที่เหลืออีก 4 คน เจ้าหน้าที่ยังคงค้นหาอย่างต่อเนื่อง โดยกระจายกำลังไปโดยรอบและพบในช่วงเย็นวันเดียวกัน ซึ่งอยู่ลงไปในที่ลุ่มลึกลงไปประมาณ 5 เมตร
ประกาศภัยพิบัติ13อำเภอ
ขณะที่เจ้าหน้าที่ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันอุทกภัยฯ นราธิวาส ออกสำรวจความเสียหายของประชาชน ล่าสุดจ.นราธิวาสประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้ว 13 อำเภอ แม้ว่าฝนหยุดตกลงแล้ว แต่ยังมีเฆมฝนปกคลุมทั้ง 13 อำเภอ แต่น้ำที่อิ่มตัวบนเทือกเขา ลงมาสมทบกับแม่น้ำหลัก 3 สายคือ แม่น้ำสุไหงโก-ลก แม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำบางนรา ซึ่งปริมาณน้ำสูงอยู่แล้ว เอ่อล้นตลิ่งและเข้าท่วมบ้านเรือนที่อยู่ริมฝั่งจำนวนมาก เฉลี่ยประมาณ 1.20-2.20 เมตร ถนนสายหลักและสายรองที่ยานพาหนะไม่สามารถสัญจรไปมาได้ โดยอยู่ในระดับความสูงประมาณ 60-120 เซนติเมตร ชาวบ้านต้องหันมาใช้เรือแทน
นอกจากนี้ น้ำที่ท่วมขังติดต่อกัน ทำให้เด็กและคนชราเป็นโรคน้ำกัดเท้าและไข้หวัดจำนวนมาก ล่าสุดพ.ท.ธนิต แสงจันทร์ ผบ.ฉก. นราธิวาส 38 นำแพทย์ทหารออกตระเวนให้การรักษาประชาชน ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนควบคู่กับการแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคด้วย
ด้านนายเฆธา เฆฆารัฐ ผอ.ปภ.นราธิวาส สรุปความเสียหายจากอุทกภัย พบว่ามีบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบ 193 หมู่บ้าน 56 ตำบล 13 อำเภอ 10,264 ครัวเรือน รวม 18,415 คน อพยพชาวบ้านในอ.สุคิริน 951 คน ซึ่งปลูกสร้างบ้านบริเวณเชิงเขาและทางน้ำ ไปพักอาศัยชั่วคราวในพื้นที่สูงแล้ว นอกจากนี้น้ำยังพัดบ้านเรือนเสียหายบางส่วน 10 หลัง อ.สุไหงปาดี 6 หลัง อ.เมืองนราธิวาส 4 หลัง และบ้านเรือนเสียหายทั้งหลังเพราะถูกดินถล่ม 3 หลัง ในอ.ศรีสาคร ส่วนพื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมขังกว่า 5,000 ไร่
ไม่ทิ้งกัน- ทหารในจ.นราธิวาส ออกช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม ขณะที่มีการประกาศเป็นเขตภัยภิบัติแล้วทั้ง 13 อำเภอ ส่วนเหยื่อดินถล่มในอ.ศรีสาคร เจ้าหน้าที่พบแล้วทั้ง 8 ศพ เมื่อวันที่ 7 พ.ย. |
ในหลวงทรงห่วงน้ำท่วม
ส่วนที่จ.ยะลา เวลา 09.00 น. ทหารชุดเฉพาะกิจยะลาที่ 11 นำรถยูนิมอค 3 คัน รถยนต์หุ้มเกราะ 1 คัน และเรือท้องแบน 2 ลำ มารับส่งประชาชนที่ไม่สามารถสัญจร ผ่านเส้นทางสายยะลา-บ้านเนียงได้ เนื่องจากระดับน้ำท่วมสูงกว่า 60 ซ.ม. นอกจากนี้เส้นทางสายท่าสาป-ลำใหม่ น้ำท่วมขังรถยนต์ไม่สามารถวิ่งผ่านได้
ด้านศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยฯ จ.ยะลา รายงานความเสียหายว่า อ.ยะหา 6 ตำบล 17 หมู่บ้าน ประชาชนเดือดร้อน 3,500 ครัว 760 ครัวเรือน กรงปินัง 4 ตำบล 14 หมู่บ้าน ประชาชนเดือดร้อน 1,166 คน 241 ครัวเรือน ธารโต 3 ตำบล 7 หมู่บ้าน ชาวบ้านเดือดร้อน 320 คน 88 ครัวเรือน อ.เมืองยะลา 7 ตำบล 20 หมู่บ้าน ชาวบ้านเดือดร้อน 200 ครัวเรือน อ.รามัน 6 ตำบล มีผู้เสียชีวิตจมน้ำตาย 1 ราย คือ ด.ช.ฮาลีฟ พริกเอียด อายุ 7 ขวบ บันนังสตา 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ชาวบ้านเดือดร้อน 340 คน 75 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตจากดินถล่มทับบ้าน 4 คน และอ.กาบัง 2 ตำบล 6 หมู่บ้าน
วันเดียวกัน เวลา 11.30 น. ที่ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าฯยะลา และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นำเครื่องอุปโภคบริโภคไปแจกจ่ายแก่ชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม และอพยพมาอาศัยอยู่ที่ริมถนน ซึ่งเจ้าหน้าที่จัดที่พักไว้ให้
พล.ท.พิเชษฐกล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ทรงห่วงใยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในวันที่ 11 พ.ย. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงพระราชทานสิ่งของพระราชทานมาช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม และในวันนี้ตนจะเดินทางไปยังพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เพื่อรับพระราชทานสิ่งของจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อให้ทหารนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล
ยะลาเร่งอพยพ2พันคน
ด้านนายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าฯยะลา เปิดเผยว่า วันนี้ฝนเริ่มหยุดตก สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่อ.บันนังสตา ยะหา ระดับน้ำลดลง คืนสู่ภาวะปกติแล้ว ยังมีบางส่วนในพื้นที่ต.ละแอ อ.ยะหา ที่เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลแล้ว ขณะนี้น้ำจาก อ.บันนังสตา และยะหา ไหลมารวมกันที่อ. เมือง จ.ยะลา ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำปัตตานี ทำให้มีน้ำสูงขึ้นมาในพื้นที่ต.พร่อน ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา ประชาชนประมาณ 2,000 ครอบ ครัว อพยพมาอยู่ในที่สูง ซึ่งขณะนี้จ.ยะลา อบจ.ยะลา อ.เมืองยะลา และทหาร นำข้าวสารอาหารแห้งมาช่วยเหลือ รวมทั้งนำเรือเล็กเข้าไปลำเลียงประชาชนออกมาจากหมู่บ้าน ขึ้นมาอยู่ในที่ปลอดภัย
นายดลเดช พัฒนรัฐ นายอำเภอเบตง จ.ยะลา สั่งการให้เจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดนออกสำรวจบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ลุ่ม พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่ประสบภัยซ้ำซาก เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำท่วม และดินถล่มทั้ง 4 ตำบลคือ อัยเยอร์เวง ตาเนาะแมเราะ ธารน้ำทิพย์ และยะรม หากพบพื้นที่ใดประสบภัยน้ำท่วม สามารถขอความช่วยเหลือได้ทันที ส่วนเส้นทางสาย 410 ยะลา-เบตง ให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง หากพบว่ามีฝนตกหนักลงมาอีกให้อพยพชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มและเสี่ยงต่อการเกิดดินถล่มออกมาอยู่ในที่ปลอดภัย
ป้องกันย่านการค้าจม
นายเวโรจน์ สายทองแท้ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ยะลา กล่าวว่า น้ำท่วมในพื้นที่อ.ยะหาและรามันเริ่มลดลง ส่วนในเขต พื้นที่อ.เมืองยะลา น้ำจากอ.รามันและยะหาเริ่มทะลักเข้าสู่พื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายตำบล ถนนหลายสายสัญจรไปมาไม่ได้ โดยเฉพาะเส้นทางลัดสายท่าสาป-ลำใหม่ ที่จะไปอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และถ.เพชรเกษมบริเวณบ้านหน้าถ้ำ-บ้านเนียง อ.เมืองยะลา น้ำท่วมถนนสูงกว่า 50 ซ.ม. รถเล็กสัญจรไม่ได้ ขอให้ประชาชนที่จะไปยังจ.ปัตตานี และสงขลา เลี่ยงไปใช้ถนนสาย 418 ซึ่งกำลังก่อสร้างแทน
นอกจากนี้ เทศบาลนครยะลาได้แจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มเขตเทศบาลนครยะลา ชุมชนตลาดเก่า ถ.วิฑูรย์อุทิศ หลังวัดยะลาธรรมาราม ถ.ธนวิถี และหมู่บ้านเมืองทอง อพยพสิ่งของขึ้นไว้ในที่สูง เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งนี้เนื่องจากน้ำในพื้นที่อ.รามัน ได้ไหลเข้าเขตเทศบาลนครยะลาบ้างแล้วบางจุด ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมถ.วิฑูรย์อุทิศ 10 และถ.ธนวิถี ขณะนี้ทางเทศบาลนครยะลานำกระสอบทรายไปกั้น เพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมย่านการค้าแล้ว
สตูลประกาศ7อำเภอพิบัติ
ที่จ.สตูล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้น้ำไหลบ่าลงจากอ.มะนัง อ.ควนกาหลง ลงมาทางใต้ทำให้อ.ท่าแพ อ.ละงู อ.ควนโดน อ.เมือง น้ำท่วมบ้านเรือนชาวบ้าน ถนนหลายสายถูกตัดขาด จ.สตูลประกาศให้ 7 อำเภอเป็นเขตภัยพิบัติแล้ว นายสุเมธ ชัยเลิศวณิชกุล ผู้ว่าฯสตูล กล่าวว่า เนื่องจากน้ำได้ท่วมหนักเสียหายทั้งจังหวัด จึงประกาศให้พื้นที่ ทั้ง 7 อำเภอเป็นพื้นที่เขตภัยพิบัติแล้ว พร้อมสั่งการให้อำเภอออกสำรวจความเสียหายและรายงานมายังจังหวัดโดยด่วน เพื่อจะนำสิ่งของไม่แจกจ่ายช่วยเหลือได้ทันที และวันนี้นำสิ่งของข้าวสารอาหารแห้งและเครื่องอุปโภคบริโภคของเหล่ากาชาดไปแจกในพื้นที่ต.อุดมเจริญ อ.ควนกา หลงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
นายนุกูล สุยวานิช นายกเทศมนตรีตำบลฉลุง อ.เมือง จ.สตูล กล่าวว่า น้ำเหนือไหลบ่าลงมาท่วมบ้านเรือนในเขตเทศบาลและถนนในหมู่บ้าน เมื่อกลางดึกที่ผ่านมารวมถึงถนนสายฉลุง-ละงู บ้านฉลุง ท่วมขึ้นมาบนถนน 4 เลน ทำให้รถสัญจรไปมาลำบาก จึงนำแผงเหล็กมากั้นให้ใช้ถนนเพียงด้านเดียว ขณะนี้เทศบาลออกสำรวจและช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว
ด้านจ.ตรัง นายโส เหมกุล หัวหน้าสำนัก งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจ.ตรัง กล่าวว่า จ.ตรังประกาศให้พื้นที่ทั้งหมด 4 อำเภอ เป็นเขตภัยพิบัติแล้วคือ รัษฎา วังวิเศษ ปะเหลียน และนาโยง อย่างไรก็ตามหากไม่มีฝนตกเพิ่ม คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
ตรังปิด6น้ำตกหวั่นน้ำป่า
นอกจากนี้ นายคม ชัยภักดี หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง ได้ประกาศปิดน้ำตกทั้ง 6 แห่งอย่างไม่มีกำหนดคือ น้ำตกสายรุ้ง, น้ำตกไพรสวรรค์, กะช่อง, โตนเต๊ะ, โตนตก และน้ำตกลำปลอก เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว จนกว่าฝนจะหยุดติดต่อกัน 5-7 วัน โดยในระยะนี้จะมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ที่น้ำตกแห่งละ 8-12 คน คอยเตือนนักท่องเที่ยวไม่ให้ลงเล่นน้ำด้วย
ส่วนที่จ.นครศรีธรรมราช ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่จ.นครศรีธรรมราชช่วง 5 วันที่ผ่านมา จนเกิดภาวะน้ำท่วมขัง ประชาชนได้รับผลกระทบ 17 อำเภอ 91 ตำบล 450 หมู่บ้าน เดือดร้อน 54,852 คน จาก 12,619 ครัวเรือน ในขณะที่ฝนตกบ้างหยุดบ้าง และท้องฟ้ามืดครึ้มตลอดเวลา ส่วนความเสียหายเบื้องต้น บ้านเรือน 377 หลัง พื้นที่การเกษตร 89 ไร่ บ่อปลา/กุ้ง 197 บ่อ ถนน 154 สาย สะพาน/คอสะพาน 11 แห่ง ฝายน้ำ 1 แห่ง และท่อระบายน้ำ 16 แห่ง เสียหาย 24,232,714 บาท
2คลองสงขลาเริ่มทะลัก
น.อ.สุจินดา สุมามาลย์ ผบ.กองบิน 56 จ.สงขลา นำเฮลิคอปเตอร์ขึ้นบินสำรวจสภาพน้ำท่วมในจ.สงขลา พบว่า ยังมีอีกหลายจุดยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะ 4 อำเภอ ที่คลองอู่ตะเภาไหลผ่านคือ สะเดา คลองหอยโข่ง หาดใหญ่ บางกล่ำ ส่วนใหญ่เป็นสวนยาง สวนปาล์ม และบ้านเรือนของประชาชน ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดขณะนี้คือ ระดับน้ำในคลองร.1 ซึ่งเป็นคลองรับน้ำที่ไหลมาจาก 5 อำเภอคือ สะเดา นาหม่อม คลองหอยโข่ง หาดใหญ่ และบางกล่ำ เพื่อระบายลงทะเลสาบสงขลา พบว่าปริมาณน้ำเริ่มเต็มมีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนทั้งสองฝั่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจ.พัทลุงว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ริมเทือกเขาบรรทัด อ.กงหรา ตะโหมด ป่าบอน และอ.ศรีนครินทร์ ระดับน้ำเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ เนื่องจากน้ำไหลบ่าลงที่ราบลุ่ม แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ราบลุ่มริมทะเลสาบสงขลา อ.เขาชันสน บางแก้ว ควนขนุน และเมืองพัทลุง แต่ยังมีหลายหมู่บ้านมีระดับน้ำค่อนข้างสูงประมาณ 50-100 ซ.ม. เช่น ต.พนางตุง และมะกอกเหนือ ควนขนุน และบางหมู่บ้านในพื้นที่ต.พญาขัน ต.ชัยบุรี ต.ลำปำ และต.ควนมะพร้าว อ.เมืองพัทลุง ซึ่งน้ำท่วมครั้งนี้มีประชาชนเดือดร้อนกว่า 10,000 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 30,0000 ไร่ โดยเฉพาะนาข้าวเสียหายมาก เนื่องจากอยู่ในระยะเก็บเกี่ยว
น้ำท่วมรถไฟใต้อัมพาต
นายวินัย ครุวรรณพัฒน์ ผู้ว่าฯพัทลุง ร่วมกับพ.อ.อรุณ ศรีสุวรรณ ผบ.นพค. 43 ออกแจกจ่ายยาสามัญประจำบ้าน ให้ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 2 ต.มะกอกเหนือ และหมู่ 9 ต.พนางตุง อ. ควนขนุน ที่น้ำท่วมขังนานกว่า 1 เดือน
นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าฯสงขลา เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมในสงขลามี 11 อำเภอคือ จะนะ สิงหนคร เมืองสงขลา สะบ้าย้อย หาด ใหญ่ รัตภูมิ นาทวี เทพา นาหม่อม สะเดา และคลองหอยโข่ง ชาวบ้านเดือดร้อน 41,004 คน 10,618 ครัวเรือน อพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัย 1,402 คน บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 10 หลัง ปศุสัตว์ 10 ตัว พื้นที่การเกษตรเสียหาย 3,450 ไร่ บ่อปลา 26 บ่อ ถนน 70 สาย สะพาน/คอสะพาน 18 แห่ง วัด 4 แห่ง โรงเรียน 2 แห่ง บ่อน้ำ/อ่างเก็บน้ำ 93 แห่ง และท่อระบายน้ำ 6 แห่ง ความเสียหายเบื้องต้น 3.6 ล้านบาท
รายงานข่าวจากศูนย์เดินรถไฟภาคใต้ อ.หาดใหญ่ แจ้งว่า รถไฟในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่สถานีหาดใหญ่ จ.สงขลา ถึงสถานีสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ทั้งขาขึ้นและขาล่องไม่สามารถเดินรถได้ เนื่องจากเกิดน้ำท่วมรางรถไฟที่สถานีจะนะ-ควนมีด หมู่ 2 บ้านทุ่งพระต.ป่าชิง อ.จะนะ เป็นระยะทางยาวกว่า 600 เมตร ระดับน้ำสูงจากสันรางกว่า 20 ซ.ม. รถไฟทุกขบวนไม่สามารถวิ่งผ่านได้ ส่วนการเดินรถไฟสายใต้ทุกขบวนวิ่งได้เพียงสถานีหาดใหญ่เท่านั้น
อุตุเตือน5จว.ระวังฝน
วันเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนภัย"ฝนตกหนักและคลื่นลมแรง" ฉบับที่ 10 ว่า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ประเทศไทยตอน บนมีอากาศเย็นต่อไปอีกกับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนระวังอันตรายในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย สำหรับบริเวณภาคใต้ตั้งแต่จ.สุราษฎร์ ธานีลงไปยังคงมีฝนตกชุกและมีฝนตกหนักบางแห่งจึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มของจ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักต่อไปอีก 1-2 วัน สำหรับคลื่นลมในอ่าวไทยยังคงมีกำลังปานกลาง ขอให้ชาวเรือระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าวคุณภาพดี โดย : หนังสือพิมพ์ข่าวสด