เปิดสุวรรณภูมิ ไฟดับคอมล่ม

"ไฟดับกะทันหัน"


ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานที่สวยงามและทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ได้ฤกษ์เปิดใช้สนามบินในเชิงพาณิชย์ สำหรับสายการบินภายในประเทศเป็นวันแรกแล้ว เมื่อวานนี้ (15 ก.ย.) หลังจากมีการก่อสร้างยาวนานเกือบครึ่งศตวรรษ แต่เจอปัญหาไฟฟ้าดับกะทันหัน ทำให้เจ้าหน้าที่สายการบินต้องทำงานโดยใช้ระบบแมนนวล ทั้งที่มีการเตรียมการและซักซ้อมมาอย่างดีก่อนหน้านี้แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศว่า ตั้งแต่เช้า วานนี้ สนามบินสุวรรณภูมิเต็มไปด้วยความคึกคัก ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากที่ตลอดทั้งคืนวันที่ 14 ก.ย. เจ้าหน้าที่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และเจ้าหน้าที่ประจำสนามบิน เร่งตรวจสอบระบบคอมพิวเตอร์และระบบไฟฟ้า เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของสายการบินไทย เข้ามาทำการบินเที่ยวบินภายในประเทศ จากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังสนามบินจังหวัดพิษณุโลกเที่ยวปฐมฤกษ์ เที่ยวบินที่ทีจี 8860 ในเวลา 06.30 น.


"ผิดหวังใช้บริการครั้งแรกเกิดปัญหา"


ตั้งแต่เวลาประมาณ 04.00 น. ได้มีผู้โดยสารภายในประเทศจำนวน 83 คน ทยอยมาเช็กอินกันอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากท่าอากาศยานได้กำหนดให้ผู้โดยสารที่จะบินทั้งในและต่างประเทศ ต้องเช็กอินช่วงหน้าก่อนขึ้นเครื่องบิน 3 ชั่วโมง และสายการบินต้องปิดการเช็กอิน ก่อนนำเครื่องขึ้นบินประมาณ 40 นาที อย่างไรก็ตาม ระหว่างนั้นได้เกิดปัญหาขึ้นเล็กน้อย

เมื่อผู้โดยสารมาถึงเคาน์เตอร์เช็กอิน โซน C แต่เจ้าหน้าที่สายการบินมานั่งประจำการทำหน้าที่ช้าไปกว่า 1 ชั่วโมงเศษ ประกอบกับระบบไฟฟ้าภายในอาคารผู้โดยสารขัดข้อง ส่งผลให้ระบบเช็กอินเกิดปัญหา ไม่สามารถเช็กอินด้วยระบบคอมพิวเตอร์ได้ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องหันมา กรอกข้อความด้วยมือแทน ทำให้ผู้โดยสารเที่ยวบินปฐม ฤกษ์สุวรรณภูมิส่วนใหญ่ แสดงความผิดหวังในการมาใช้บริการสนามบินเป็นครั้งแรก

นพ.พิชิต ลิมปิเวศน์ นายแพทย์ประจำโรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังเล็กน้อย และโชคร้ายที่ต้องมาขึ้นบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพราะตนต้องรีบออกจากบ้านที่อยู่แถวดอนเมืองมาตั้งแต่ตี 4 การเดินทางลำบากพอสมควร เสียค่าใช้จ่ายไปกว่า 350 บาท แต่ปรากฏว่าเมื่อมาถึงแล้วยังไม่มีเจ้าหน้าที่สายการบินมาให้บริการ ไม่คิดว่าต้องเสียเวลานานขนาดนี้ ส่วนนายธนกร วรรณเกษม นักธุรกิจวัย 38 ปี กล่าวว่า

เป็นครั้งแรกที่เดินทางมาสนามบินสุวรรณภูมิ แม้ว่าอยู่ ในย่านมีนบุรี แต่ก็ยังสับสนกับป้ายจราจรพอสมควร อย่างไร ก็ตาม ถือว่าโชคดีกว่าผู้โดยสารคนอื่นๆ เนื่องจากบ้านของตนอยู่ไม่ไกลจากสนามบินมากนัก ส่วนนางมยุรา มนะสิการ อดีต ส.ส.ไทยรักไทย เขต 3 พิษณุโลก ที่จะเดินทางไปพิษณุโลกกล่าวว่า ตื่นเต้นมากที่ได้บินเที่ยวบินนี้ สนามบินอาจจะมีปัญหาขลุกขลักบ้าง แต่ถือเป็นเรื่องธรรมดา การใช้ของใหม่ทันทีย่อมมีปัญหาติดขัด ภาพรวมน่าพอใจ เพราะทางสนามบินและสายการบินแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วมาก


"คนแห่ขึ้นเพียบ"


ต่อมาเวลา 08.50 น. เครื่องบินของสายการบินไทย เที่ยวบินที่ ทีจี 8861 นำผู้โดยสาร 62 คน จากจังหวัดพิษณุโลก ร่อนลงแตะรันเวย์ทางทิศตะวันออกของสนามบินสุวรรณภูมิ โดยการร่อนลงเป็นไปอย่างราบรื่น ผู้โดยสาร พอใจกับการเดินทางพร้อมทั้งชื่นชมกับความสวยงามของสนามบิน แต่หลายคนเป็นห่วงเรื่องการเดินทางออกจากสนามบิน โดยนายธีรชาติ อ้อสมาน วัย 35 ปี เจ้าของร้านอินเตอร์เน็ต ซึ่งขาพิการกล่าวว่า ระบบป้ายบอกทางภายในสนามบิน ยังไม่มีมากพอ เกรงว่าจะหลงทาง และรวมทั้งไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่รองรับคนพิการ อย่างไร ก็ตาม

ตลอดทั้งวันมีประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เดินทางมาใช้บริการขึ้นเครื่องไปจังหวัดพิษณุโลก โดยสายการบินไทยและไปประเทศสิงคโปร์ โดยสายการบินเจ็ทสตาร์ และเที่ยวชมสนามบินกันอย่างคับคั่ง จนบริเวณพื้นที่ผู้โดยสารขาออก และศูนย์อาหารของสนามบินแน่นขนัดไปด้วยผู้คน ในจำนวนนี้มี น.ส.นาตาลี เกลโบวา อดีตนางงามจักรวาล ปี 2005 และหนุ่ม-ศรราม เทพพิทักษ์ พระเอกชื่อดัง เดินทางมาขึ้นเครื่องบินของสายการบินไทยเที่ยวบินที่ ทีจี 8862 เพื่อไปร่วมงานแข่งขันเรือยาวที่ จังหวัดพิษณุโลก ที่สนามบินแห่งนี้ด้วย โดย น.ส.นาตาลีกล่าวว่า ภูมิใจแทนคนไทยที่มีสนามบินที่ทันสมัยและสวยงามแห่งหนึ่งของโลก

ช่วงสายวันเดียวกัน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.อุตสาหกรรม นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.คมนาคม เดินทางมาตรวจดูการเปิดการบินเชิงพาณิชย์ของสายการบินภายในประเทศ ซึ่งมีสายการบินเจ็ทสตาร์ เอเชีย ของสิงคโปร์ ได้บินมาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิด้วย นายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า ปัญหาไฟฟ้าดับทำให้เคาน์เตอร์เช็กอิน โซน C ซึ่งเป็นเคาน์เตอร์เช็กอินของผู้โดยสารภายในประเทศ ที่จะเดินทางในเที่ยวบินแรกไปจังหวัดพิษณุโลกล่าช้านั้น ได้รับรายงานจากผู้บริหารท่าอากาศยาน

ซึ่งได้ตรวจสอบสายไฟฟ้าและกล้องทีวีวงจรปิด พบว่าเกิดจากมีคนเข้าไปดับสวิตช์ไฟในช่วงเวลา 01.00 น. วันที่ 15 ก.ย. ทำให้ระบบเช็กอินในแถวดังกล่าวไม่ทำงาน ขณะนี้ได้สั่งให้มีการตรวจสอบคนที่เป็นผู้ดับสวิตช์ไฟฟ้าที่ปรากฏอยู่ในทีวีวงจรปิด ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของสนามบินหรือบุคคลภายนอก อย่างไรก็ตาม เป็นบทเรียนที่จะทำให้ต้องมีการเข้มงวดระบบรักษาความปลอดภัยมากขึ้น หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีความผิด ต้องลงโทษอย่างหนัก ขณะเดียวกัน ขอฝากไปยังผู้โดยสารเครื่องบิน ให้ระมัด ระวังในการตรวจสอบตารางบิน เพื่อไปขึ้นเครื่องให้ทันตามกำหนดเวลา เพราะไม่เช่นนั้นอาจตกเครื่องได้

"ระบบสำรองใช้ได้ ผู้โดยสารพอใจ"


ด้านนายโชติศักดิ์ อาสภวิริยะ กรรมการผู้อำนวย การใหญ่ ทอท. กล่าวว่า ระบบคอมพิวเตอร์ที่ขัดข้องในเช้าวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ปัญหาเกิดจากระบบไฟฟ้าที่เบรกเกอร์ตัดไฟตั้งแต่ช่วง 03.00 น. ทำให้ระบบไฟทำงานไม่ได้ แต่หลังจากนั้นได้ใช้แผนสำรอง จึงทำให้ เช็กอินได้ และผู้โดยสารสามารถเช็กอินขึ้นเครื่องได้ในเวลาที่ไม่ช้ามากนัก นับเป็นการทำงานทดสอบการวางระบบที่ดี ทำให้ผู้โดยสารสามารถมั่นใจได้ว่าระบบสำรองสามารถรองรับได้ทุกกรณีทันที นอกจากนี้ ได้มีการประเมินผลของปัญหาโดยรวม ทั้งระบบหลังมีการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์วันแรก พบว่ามีปัญหาเพียง 2-8% เท่านั้น

นายสมชัย สวัสดีผล ผู้อำนวยการสนามบินสุวรรณภูมิ กล่าวว่า จากปัญหาไฟฟ้าดับทางสนามบินได้รับทราบข้อมูลมาตั้งแต่เกิดเหตุ แต่การประสานงานช่วงแรกยังไม่มีความชัดเจน จึงได้มีการตรวจสอบไล่ทีละจุด จึงใช้ระยะเวลาในการแก้ไข และมาเสร็จในช่วงเช้า นอกจากนั้น ยังพบสาเหตุจากการตรวจสอบจากจอโทรทัศน์วงจรปิดภายในห้องควบคุมต่างๆ ทั้งอาคารผู้โดยสาร พบว่าในห้องควบคุมมีชายลึกลับเข้าไปในห้องควบคุมเมื่อเวลา 01.00 น. วันที่ 15 ก.ย. และไฟดับเมื่อเวลา 01.05 น. และบุคคลดังกล่าวออกจากห้องนั้นเมื่อเวลา 01.07 น. จึงได้มีการสอบสวนว่าบุคคลดังกล่าวเข้าไปทำไม มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ จากการสอบสวนในเบื้องต้นพบว่า บุคคลดังกล่าวแจ้งว่าเข้าไปในห้องเพื่อสับสวิตช์แอร์ ไม่รู้ว่าเป็นระบบไฟของระบบเช็กอิน แถวซี ที่การบินไทยให้บริการอยู่


"คิดว่าทำเป็นกระบวนการ"


ต่อมาเวลา 14.00 น. นายพงษ์ศักดิ์ได้กล่าวอีกครั้ง ถึงกรณีกระแสไฟฟ้าเคาน์เตอร์เช็กอินผู้โดยสารสายการบินไทย ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เป็นเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง จากการตรวจสอบจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดแล้ว พบผู้ต้องสงสัยเข้าไปสับสวิตช์เวลาประมาณ 01.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลานอกเหนือจากเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่ ขณะเดียวกัน ยังพบว่ามีการสับสวิตช์การจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังอาคารเอมส์ ภายในท่าอากาศยานและเคาน์เตอร์สายการบินบางกอก แอร์เวย์ส ในเวลาไล่เลี่ยกัน

เรื่องนี้คิดว่ามีการกระทำเป็นกระบวนการ จึงได้สั่งการให้ ทอท.แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อส่งตัวผู้ต้องสงสัยไปดำเนินคดี และสั่งให้ติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่ม โดยเฉพาะในห้องปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ รวมถึงการตรวจสอบการเข้า-ออกห้องปฏิบัติการอย่างเข้มงวดทุกครั้ง โดยเฉพาะในเขตหวงห้าม ต่อไปนี้เจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไปปฏิบัติงานในห้องควบคุม จะต้องแหงนหน้ามองกล้อง เพื่อให้รู้ว่าเป็นใคร พร้อมลงชื่อ แจ้งเบอร์โทรศัพท์ก่อนการเข้าและออกทุกครั้ง โดยจะมีการติดตั้งป้ายแสดงรายชื่อผู้เข้าออกในแต่ละวัน และส่งข้อมูลให้กับสายการบินต่างๆที่ให้บริการในสนามบินให้รับทราบด้วย นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

"หาวิธีแก้ไขเรื่องระบบไฟฟ้า"


สำหรับชายลึกลับที่เข้าไปสับสวิตช์ในห้องควบคุม ทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เกิดปัญหาระบบล่มนั้น เมื่อเวลา 15.17 น. วันเดียวกันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อ. บางเสาธง อ.เมืองสมุทรปราการ ได้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยที่ทำให้ระบบไฟฟ้าของสนามบินขัดข้องมาสอบปากคำ

เบื้องต้นผู้ต้องสงสัยรับสารภาพว่าเป็นผู้สับสวิตช์หลักของกระแสไฟฟ้าที่จะจ่ายมายังลานเคาน์เตอร์เช็กอินของสายการบินไทยจริง แต่เป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าเป็นสวิตช์เครื่องปรับอากาศ ทั้งนี้เมื่อเวลา 14.00 น. เจ้าหน้าที่ได้นำสื่อมวลชนเข้าไปดูจุดเกิดเหตุ เพื่อให้เห็นระบบการทำงานของการจ่ายกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นห้องจ่ายไฟฟ้าย่อย ซึ่งเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานยืนยันว่า ได้รับการแจ้งเหตุตั้งแต่เวลา 01.00 น. แต่ไม่สามารถประสานงานมายังเจ้าหน้าที่การบินไทยได้ ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างการสอบปากคำผู้ต้องสงสัยเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

วันเดียวกันนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า จากที่มีปัญหาเรื่องไฟฟ้าดับในสนามบินสุวรรณภูมิจากการเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ เส้นทางบินในประเทศนั้น ตนได้เรียกผู้ออกแบบ คือบริษัท เอ็มเจทีเอ ซึ่งเป็นผู้ออกแบบอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิมาหารือว่าจะแก้ไขอย่างไร เพราะสาเหตุที่ไฟฟ้าดับเกิดจากสาเหตุที่ระบบไฟย่อยเกิดดับแล้วไม่โชว์ในระบบใหญ่ ดังนั้นจะทำอย่างไรเมื่อเกิดเหตุแล้วให้โชว์ที่ระบบใหญ่ด้วย เพื่อที่เมื่อแก้ไขปัญหาจะได้รู้สาเหตุทัน


"นศ.ประท้วงกระทบสิ่งแวดล้อม"


ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งที่หอประชุมใหญ่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บรรดาคณาจารย์ นักศึกษาและตัวแทนชุมชน ประมาณ 800 คน ได้ชุมนุมประท้วงบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งจะมีการเปิดใช้สนามบินอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 ก.ย. จะสร้างปัญหาทางเสียงซึ่งมีกลุ่มอาคารเรียน 22 อาคาร ได้รับผลกระทบ โดย รศ.ดร.กิตติ ตีรเศรษฐ อธิการบดี เปิดแถลงข่าวว่า จากการเจรจาเมื่อวันที่ 6 ก.ย. นายโชติศักดิ์ อาสภวิริยะ

กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย ยินดีดำเนินการตามข้อเรียกร้อง แต่งบประมาณป้องกันเสียงในอาคารเรียนในวงเงิน 214 ล้านบาท ต้องนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ผลการประชุมมีมติไม่อนุมัติการจ่ายเงิน จนกว่าสถาบันที่ ทอท. ว่าจ้างให้ศึกษาการจ่ายค่าชดเชย จะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม ตามหลักเกณฑ์ ทอท. ต้องแก้ไขและป้องกันผู้ ที่ได้รับผลกระทบก่อนเปิดดำเนินการบินในวันที่ 28 ก.ย. และปัญหานี้ควรได้รับการแก้ไขมานานแล้ว

รศ.ดร.กิตติกล่าวว่า หลังจากมีการออกมาเรียกร้องหลายครั้ง ได้มีการปล่อยข่าวว่า ทอท.จ่ายเงินชดเชยให้แล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริง สถาบันไม่เคยได้รับเงินการเรียกร้องไม่ได้มุ่งเรื่องเงิน แต่ต้องการให้มีการป้องกันผลกระทบก่อนเปิดใช้สนามบิน อย่าทำให้ประชาชนสับสน และยังมีการปล่อยข่าวไปในกลุ่มกัปตันการบินว่า ในวันที่ 15 ก.ย. จะมีการปล่อยบอลลูนและลูกโป่งสวรรค์รบกวนการบิน นักบินได้โทรศัพท์เข้ามาสอบถาม

ได้บอกไปว่าสถานศึกษาไม่ทำเรื่องเลวแบบนั้นแน่นอน แต่ที่ต้องออกมาประท้วงเพราะต้องการให้บอร์ด ทอท.แก้ไขปัญหาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยเร็ว ที่ป้องกันได้ก็ต้องป้องกัน ถ้าป้องกันไม่ได้ก็ต้องชดเชย หากยังเงียบเฉยจะมีมาตรการประท้วงโดยจะยื่นหนังสือถึงไอซีเอโอ พร้อมกับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง หากการเรียกร้องไม่เป็นผล อาจจะมีการขยายการประท้วงออกไปนอกสถาบันในวันที่ 28 ก.ย.


"ควรมีแผนประชาสัมพันธ์ให้ทราบ"


ด้าน รศ.ศริวัฒน์ โพธิเวชกุล ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมฯ กล่าวถึงการแก้ปัญหาที่ต้องดำเนินการ 8 ข้อ คือ 1. งบเร่งด่วนในการป้องกันเสียงสำหรับอาคารที่อยู่ในแนวเส้นเสียง 22 อาคาร ในวงเงิน 214 ล้านบาท 2. การติดตั้งไฟส่องสว่างอาคารเรียน 12 ชั้น ซึ่งมีความสูงเกินมาตรฐานในเขตปลอดภัยทางเดินอากาศ 4 ล้านบาท 3. เมื่อสนามบินเปิดใช้บริการ ทอท. ต้องจัดงบประมาณผูกพันในส่วนที่เหลือรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,021.7 ล้านบาท และต้องติดตามผลกระทบที่จะได้รับ โดยเฉพาะเรื่องเสียง

4. ต้องมีความชัดเจนของผู้ที่จะรับผิดชอบในการตรวจสอบและเฝ้าระวังระดับเสียง และความสั่นสะเทือน 5. ต้องติดตั้งสถานีตรวจวัดสภาวะแวดล้อมแบบอัตโนมัติ เพื่อเฝ้าระวังผลกระทบคุณภาพอากาศระยะยาว 6. ถ้าเป็นไปได้ควรปิดการใช้ถนนฉลองกรุงส่วนที่ตัดผ่าสถาบันและสร้างถนนใหม่เพื่อความปลอดภัยของนักศึกษา รวมทั้งควรเปิดทางเข้าสถาบันจากถนนมอเตอร์เวย์ เพื่อลดการจราจรที่คับคั่งในถนนอ่อนนุช 7. เมื่อสนามบินเปิดใช้ใน 5 ปีแรก ควรมีแผนประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหาผลกระทบให้ทราบเป็นระยะ


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์