สธ.จับตา 2-3 สัปดาห์จากนี้ หวั่น “หวัด 2009” ระบาดจาก 3 ปัจจัย เผย “ขอนแก่น” ผู้ป่วยขึ้น ๆ ลง ๆ
ที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 27 ต.ค. นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข แถลงว่า ตามที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในทวีปยุโรป และอเมริกานั้น ประเทศไทยไม่ประมาท ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยวันที่ 28 ต.ค.จะมีการประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ทั่วประเทศ โดยจะกำชับ นพ.สสจ.ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน ให้เฝ้าระวัง และป้องกันโรค เพราะช่วงนี้เข้าสู่การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ประจำปี และโรคไข้หวัดนก ดังนั้น การป้องกันโรคได้ดีที่สุด คือ การรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนตระหนัก และป้องกันตัวเอง
ด้าน นพ.ภาสกร อัครเสวี ผอ.สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ระบาดในประเทศไทย รอบสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน ระหว่างวันที่ 18-24 ต.ค.พบผู้ป่วย 243 คน รวมประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันทั้งสิ้น 28,300 ราย เสียชีวิต 182 คน ทั้งนี้ จากการติดตามพบว่า 41 จังหวัด ที่ยังมีการระบาดมีแนวโน้มผู้ป่วยลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่มี 1 จังหวัด คือ ขอนแก่น ที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลง คือ มีตัวเลขผู้ป่วยขึ้น ๆ ลง ๆ
นพ.ภาสกร กล่าวต่อว่า การเฝ้าระวังโรคได้มีการเก็บตัวอย่างผู้มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ใน 14 รพ. ทั้งผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน อย่างละ 10 คน พบว่า ผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ โดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นหวัด 2009 แต่ก็ตรวจพบหวัดใหญ่ตามฤดูกาล คือ เอช 3 เอ็น 2 แทรกเข้ามาประมาณ 1.5-2%
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า 2-3 สัปดาห์ต่อจากนี้ไปต้องจับตาเป็นพิเศษ เพราะมี 3 ปัจจัย คือ 1.เด็กนักเรียนกว่า 12 ล้านคนเปิดเทอม 2.เป็นช่วงเทศกาลลอยกระทง และเทศกาลประจำปี 3.อากาศเริ่มหนาวเย็น เชื้อไวรัสจากผู้ป่วยอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น อย่างไรก็ตาม มาตรการป้องกันนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาประเทศไทยนั้น คงจะประสานกับทางบริษัททัวร์ หรือโรงแรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเฝ้าระวังกรณีพบผู้ป่วยต่อไป ทั้งนี้ คงไม่ใช่มาตรการที่ด่านเฝ้าระวัง เพราะที่ผ่านมาไม่ได้ผล
นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.องค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า วัคซีนเชื้อตายล็อตแรก 1 ล้านโดส จะเข้ามาถึงประเทศไทยประมาณ ธ.ค. ส่วนอีก 1 ล้านโดส จะมาถึงประมาณกลางเดือน ม.ค.ปีหน้า ส่วนการผลิตวัคซีนเชื้อเป็นของไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบความคงตัวของวัคซีน.