ถึงเวลายกเครื่อง ร.ฟ.ท. ครั้งใหญ่
จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารและสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ที่ยังไม่มีทีท่าจะยุติ แม้การเปิดให้บริการเดินรถจะคลี่คลายลงไปมากแล้ว เพราะการแก้ปัญหาในขณะนี้เป็นแค่มาตรการเฉพาะหน้าระยะสั้น
เพื่อลดผลกระทบความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องเดินทางด้วยรถไฟ โดยกระทรวงคมนาคมเตรียมที่จะนำแผนปฏิรูปรถไฟทั้งระบบเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า หลังจากมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำแผนดังกล่าว
สอดรับกับกระแสสังคมที่เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องปฏิรูปรถไฟอย่างจริงจัง หลังจากมีความพยายามจะพัฒนารถไฟทั้งการบริการเดินรถ และแก้ปัญหาการขาดทุนมาตลอด โดยจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการและผลักดันแผนเข้าสู่การพิจารณาอนุมัติของ ครม. เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552 แต่ก็ต้องหยุดชะงักลงเมื่อนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพรถไฟคนใหม่ออกมาต่อต้านแผนการจัดตั้งบริษัทลูก 2 แห่ง เพราะมองว่าจะนำไปสู่การแปรรูปกิจการในอนาคต
คลังยึดแผนฟื้นฟูกิจการรถไฟเดิม
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังมองว่าถึงเวลาแล้วที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรและการบริหารงาน เรื่องเงินไม่ใช่ปัญหาหลัก กระทรวงการคลังพร้อมจัดสรรงบประมาณอุดหนุน และจัดสรรงบจากโครงการไทยเข้มแข็งลงทุนพัฒนาระบบราง จัดซื้อหัวรถจักรและขบวนรถกว่า 6 หมื่นล้านบาท ในระยะ 2 ปีนี้ ที่สำคัญในหลักการจะยังยึดตามแผนฟื้นฟูกิจการรถไฟเดิมที่เคยผ่าน ครม.มาแล้ว ในการแยกไปตั้งบริษัทลูก คือบริษัทเดินรถ ที่แยกย่อยเป็น 3 ส่วนในการดูแลด้านขนส่งสินค้า ด้านโดยสาร และการบริหารโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ กับการตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อบริหารที่ดินของรถไฟที่มีทั่วประเทศ ขณะที่ร.ฟ.ท.จะดูแลการลงทุนระบบราง ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังยืนยันมาตลอดว่าทั้ง 2 บริษัทจะถือหุ้นโดย ร.ฟ.ท. 100% และจะไม่มีการแปรรูปในอนาคตแน่นอน ซึ่งในส่วนของบริษัทบริหารสินทรัพย์จะใช้เจ้าหน้าที่ประมาณ 80 คน ก็เป็นการดึงคนของรถไฟเข้ามาดูแล เพราะมีที่ดินเพียง 10% ที่สามารถนำมาพัฒนาหรือให้เช่าเชิงพาณิชย์ได้ เช่นที่ดินบริษัทเซ็นทรัล ลาดพร้าว มักกะสัน และช่องนนทรี เป็นต้น
นายกุลิศ สมบัติศิริ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ระบุว่า กระทรวงการคลังมีหน้าที่ยืนยันให้เป็นไปตามแผนฟื้นฟูรถไฟเดิมที่ผ่านการศึกษามาแล้วอย่างดี และก่อนหน้านี้ก็เป็นที่ยอมรับของทางสหภาพแล้ว ซึ่งสคร.ได้จัดให้มีการไปศึกษาดูงานของบริษัทลูกในเครือ บมจ.ปตท. หลายแห่ง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการโอนย้ายคนจากรถไฟไปบริษัทลูก โดยไม่ได้รับผลกระทบทั้งถูกเลิกจ้างหรือลดสวัสดิการต่างๆ ลง และสคร.ย้ำมาตลอดว่าการโอนคนมาบริษัทลูกนั้น สามารถขอย้ายกลับไปรถไฟได้ในภายหลัง หรือจะทำในลักษณะของการยืมตัวก็ได้
เพียงแต่บริษัทเดินรถและบริษัทบริหารทรัพย์สินจะต้องมีการแยกบัญชีจาก ร.ฟ.ท. เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าส่วนไหนขาดทุนหรือกำไร โดยหากขาดทุนจากการให้บริการสาธารณะรัฐบาลพร้อมให้การชดเชยอยู่แล้ว และจะไม่มีการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานระหว่างกัน ซึ่งพนักงานจะได้รับสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกัน แต่เมื่อมีการเปลี่ยนตัวประธานสหภาพ ได้มีกระแสต่อต้านการตั้งบริษัทลูกขึ้นมาอีก ทำให้การเตรียมความพร้อมต่างๆ ต้องชะงักไป
คลังรอแผนคมนาคม-ชูจ่ายโบนัสจูงใจ
แม้ขณะนี้กระทรวงคมนาคมกำลังพิจารณาทำแผนพัฒนารถไฟเพิ่มเติม ซึ่งน่าจะได้ข้อสรุปภายในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้ สคร.คงต้องรอดูว่าจะสามารถนำมาปรับใช้กับแผนฟื้นฟูกิจการรถไฟเดิมได้หรือไม่ โดยมองว่าการพัฒนารถไฟไม่น่าจะพ้นไปจากแนวทางดังกล่าวมากนัก แต่เพื่อให้สามารถหาข้อยุติกับทางสหภาพได้ก็อาจมีการปรับเปลี่ยนในบางประเด็น ซึ่งตอนนี้คงไม่สามารถบอกได้ว่าจะปรับในจุดใดและเริ่มทำอะไรได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม สคร.มีแนวคิดว่าเพื่อให้เกิดแรงจูงใจและสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงานรถไฟที่มีกว่า 1.8 หมื่นคน ก็ควรเปิดช่องให้รถไฟสามารถจ่ายเงินโบนัสประจำปีให้พนักงานได้ เพราะที่ผ่านมารถไฟประสบปัญหาการขาดทุนมาตลอด โดยปี 2551 ขาดทุนถึง 9.8 พันล้านบาท และปี 2552 นี้ก็น่าจะขาดทุนไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท ทำให้พนักงานไม่มีโอกาสได้รับเงินโบนัสเหมือนรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่มีผลประกอบการดี จึงเห็นว่าหากต่อไปรถไฟสามารถปฏิบัติงานได้ตามเป้าหมายและแผนงานที่วางไว้ ทั้งการลงทุน การเบิกจ่ายงบ หรืออื่นๆ แม้จะยังประสบกับการขาดทุนก็ควรมีสิทธิได้รับโบนัส
"จุดนี้น่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะนำไปเจรจากับทางสหภาพรถไฟเพื่อหาข้อยุติต่อไป เพราะหากไม่มีการปรับโครงสร้างใหม่รถไฟก็จะเป็นหนี้สะสมและมีภาระค้างจ่ายเงินพนักงานเกษียณประมาณ 2,000 กว่าคน กว่า 6 หมื่นล้านบาทต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด และยังมีพนักงานอีก 1,300 คนกำลังจะเกษียณในระยะอันใกล้นี้ก็จะไม่มีเงินจ่ายให้พนักงานเช่นเดียวกัน"
จี้ร.ฟ.ท.ต้องเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน
นายกุลิศ กล่าวอีกว่า หากไม่สามารถหาข้อยุติได้ในเร็ววันนี้ อาจจะมีปัญหากับการทำงานในส่วนของการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ที่กำลังเปิดทดลองใช้ เพราะเดิมต้องเป็นหน่วยหนึ่งในบริษัทเดินรถและใช้พนักงานประมาณ 400 คน ซึ่งส่วนหนึ่งต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญการเดินรถ และหากไม่ได้รับความร่วมมือจากพนักงานรถไฟ เบื้องต้นอาจต้องใช้คนของบริษัทซีเมนส์เข้ามาช่วยเดินรถก่อนในระยะแรก เพราะกว่าระบบจะลงตัวต้องใช้เวลาประมาณปีครึ่ง
นอกจากนั้น ในระยะสั้นนี้ สคร.ทำได้เพียงการติดตามการดำเนินงานของร.ฟ.ท.ในส่วนของการเบิกจ่ายงบลงทุน หลังจากพบว่าปีงบ 2552 ที่ผ่านมาเบิกจ่ายได้ไม่ถึง 50% จากวงเงินที่ตั้งไว้ 1.6 หมื่นล้านบาท รวมถึงการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงที่ล่าช้ากว่ากำหนด ในปีงบ 2553 นี้ รถไฟต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยเฉพาะการใช้งบลงทุนจากเงินกู้ตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 อีกกว่า 6 หมื่นล้านบาท ในระยะ 2 ปีนี้ เพื่อนำไปใช้ในการจัดซื้อหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า 7 คัน ระบบอื่นๆ อีก 7 คัน ขบวนรถขนส่งสินค้า 13 คัน และจัดหาแคร่รถสินค้าอีก 308 คัน รวมถึงเดินหน้าลงทุนระบบราง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูกิจการรถไฟให้กลับมามีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นจนถึงขั้นลดการขาดทุนและมีกำไรได้ในอนาคต
"ข้อเรียกร้องของสร.รฟท.ที่ระบุว่าหัวรถจักรเก่าไม่พร้อมใช้งานนั้น จริงๆ แล้วหาก ร.ฟ.ท.มีความพร้อมก็สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ทันที รวมถึงการลงทุนระบบราง หากทำได้เร็วก็ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อรถไฟมากขึ้นเท่านั้น โดย สคร.จะเข้าไปดูแลการใช้เงินก้อนหนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ จึงอยากให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นทำให้แผนการต่างๆ ของรถไฟต้องหยุดชะงักไปและบางโครงการยังไม่ได้เริ่มต้นด้วยซ้ำ"
จากสภาพปัญหาของรถไฟที่คาราคาซังมานานคงจะถึงเวลาแล้วที่จะยกเครื่องรถไฟใหม่ทั้งด้านคน และการบริหารจัดการ หากไม่อยากเห็นรถไฟไทยต้องล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านทั้งที่เรามีรถไฟมา 125 ปีแล้ว ดังนั้น ทุกฝ่ายควรหันหน้ามาร่วมกันแก้ปัญหาด้วยความจริงใจ ยังไม่ต้องคิดไปไกลถึงขนาดเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนเดินรถสินค้าและรถโดยสาร เอาแค่ผลักดันให้มีจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงให้ได้ก่อน
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าวคุณภาพดี โดย : คม ชัด ลึก