อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เขียนรายงานระบุไทยไร้วัฒนธรรม-ความรู้สึก เคร่งศาสนาบอกไม่มีวรรณกรรม ภาพเขียน มีเพลงที่แปลกๆ ส่วนประติมากรรม เครื่องดินเผา ร่ายรำยืมจากมาจากชาติอื่น สถาปัตยกรรมน่าเบื่อ ตกแต่งภายในน่ากลัว "การพนัน-กอล์ฟ"เป็นกิจกรรมคนรวย ผิดศีลธรรมตัณหาจัดมักมากในกาม
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม สถานีวิทยุเรดิโอ 4 ของสำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษได้เสนอรายงานเกี่ยวกับการนำเสนอรายงานชิ้นสุดท้ายของบรรดาเอกอัครราชทูตอังกฤษที่ไปประจำการในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ว่ามีมุมมองและความเห็นอย่างไร โดยเอกอัครราชทูตเหล่านี้มีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการเขียนรายงาน ซึ่งมีทั้งความเห็นเกี่ยวกับประเทศที่ตนประจำการ ความเห็นเกี่ยวกับรัฐบาล หรือความเห็นเกี่ยวกับแวดวงการทูตที่ทำงานอยู่
บีบีซี ระบุว่า รายงานในลักษณะนี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของกระทรวงต่างประเทศที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนานก่อนที่จะถูกยุติลงในปี 2549 ที่ผ่านมา หลังจากที่มีเอกสารชิ้นหนึ่งซึ่งเขียนโดยอดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำอิตาลีที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมการทำงานของกระทรวงต่างประเทศอังกฤษในปัจจุบันว่า กำลังหลงลืมว่างานของนักการทูตที่แท้จริงคืออะไรไปปรากฏในสื่อมวลชน
ทั้งนี้ หนึ่งในประเด็นที่มีการเขียนถึงมากที่สุดคือความเห็นต่อผู้คนในประเทศที่เอกอัครราชทูตแต่ละคนไปประจำการ โดยมีตั้งแต่มุมมองของพวกหัวเก่าที่ชอบปล่อยมุขอย่างนายแอนโธนี รัมโบลด์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ระหว่างปี 2508-2510 ที่พูดในทำนองว่า ประเทศไทยไร้ซึ่งวัฒนธรรมจากที่เขาได้ระบุไว้ในรายงานของตนเองว่า "ต้องเป็นพวกที่ไร้ความรู้สึกและเคร่งศาสนามากๆ จึงจะบอกว่าประเทศไทยไม่มีอะไรจะให้กับเรา เป็นเรื่องจริงที่พวกเขาไม่มีวรรณกรรม ไม่มีภาพเขียน แต่มีเพลงที่แปลกเอามากๆ แม้แต่ประติมากรรม เครื่องดินเผา หรือการร่ายรำ พวกเขาก็ยืมมาจากคนอื่น สถาปัตยกรรมของพวกเขาก็น่าเบื่อ การตกแต่งภายในก็น่าหวาดกลัว แต่ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่าการพนันและการเล่นกอล์ฟเป็นสิ่งที่สร้างความพอใจในหมู่คนร่ำรวย ขณะที่การประพฤติผิดศีลธรรม ตัณหาจัด และมักมากในกามก็เป็นความเพลิดเพลินหลักของพวกเขาทั้งมวล"
นายโรเจอร์ พินเซนท์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำนิการากัว ในปี 2510 บอกว่า "ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคนนิการากัวโดยทั่วไปล้วนแต่เป็นหนึ่งในชนชาติที่ไม่ซื่อสัตย์ ไว้ใจไม่ได้ ชอบความรุนแรง และติดเหล้ามากที่สุดในละตินอเมริกา"
ขณะที่นายเดวิด ฮันท์ ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำไนจีเรีย ระบุว่า "ผู้นำไนจีเรียเป็นคนบ้าที่ดูจะเลือกทำแต่สิ่งที่สร้างความเสียหายสูงสุดต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ชาวแอฟริกันเป็นพวกที่ไม่ลังเลที่จะตัดจมูกแม้จะเป็นการทำร้ายใบหน้า เพราะพวกเขาเห็นว่ามันเป็นการเสริมความงาม"
รายงานสุดท้ายของทูตบางคนยังเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของนักการทูตเอง อย่างเซอร์เดวิด กอร์-บูธ เอกอัครราชทูตประจำอินเดียในปี 2542 ที่ว่า "หนึ่งในความล้มเหลวที่ใหญ่หลวงของการทูตคือ การไร้ความสามารถที่จะขจัดภาพว่านักการทูตเป็นพวกไม่ติดดินที่หลงใหลในแชมเปญ ทั้งที่จริงแล้วการไปร่วมงานค็อกเทลนั้นล้มหายตายจากไปแล้ว เชื่อเหลือเกินกว่าร้อยละ 99 ของเพื่อนนักการทูตทั้งหลายก็เห็นด้วยในเรื่องนี้"
รายงานข่าวระบุว่า กระทรวงต่างประเทศอังกฤษกำลังเผชิญกับปัญหาใหญ่อีกครั้งภายใต้กฎหมายข้อมูลข่าวสารของอังกฤษซึ่งอนุญาตให้มีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ แก่สาธารณะ ขณะที่งานของนักการทูตมักจะอยู่ภายใต้กำแพงของชั้นความลับ ทำให้บางคนหวาดเกรงว่าแนวคิดในการเปิดกว้างอาจทำให้เกิดผลกระทบโดยไม่ตั้งใจตามมา