หมอไทยเจ๋งใช้ข้าวทำแผ่นซับเลือด

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 12 ต.ค. น.ส.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ศ.น.พ.สิริฤกษ์ ทรงวิไล ประธานโครงการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น แถลงข่าวเปิดตัว รศ.น.พ.สิทธิพร บุณยนิตย์ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประเภทบุคคล จากผลงาน "ข้าวเจ้ากรดห้ามเลือด" ซึ่งเป็นแผ่นไฮโดรเจล ทำจากข้าวเจ้าหรือแป้งข้าวเจ้าไทย ย่อยสลายได้ในร่างกายมนุษย์ ใช้ห้ามเลือดต่ออวัยวะอ่อนนุ่มที่ตกเลือดขณะผ่าตัด และวัสดุเย็บแผลชนิดย่อยสลายได้ นับว่าเป็นผลงานการคิดค้นที่เกิดขึ้นครั้งแรกในโลก

น.พ.สิทธิพร กล่าวว่า ใช้เวลาคิดค้น 10 ปีแล้ว เพราะเห็นว่าประเทศไทยมีทรัพยากรสำคัญคือข้าวเจ้า

ที่มีคุณสมบัติทางชีวภาพที่น่าจะนำมาทำเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ได้ เพราะที่ผ่านมาไทยนำเข้าเครื่องมือ และวัสดุทางการแพทย์เหล่านี้เป็นมูลค่าสูงถึงปีละแสนกว่าล้านบาท ทั้งๆ ที่ไทยมีทรัพยากรที่น่าจะนำมาศึกษาวิจัยเพื่อผลิตเครื่องมือแพทย์ เช่น ข้าวเจ้าได้ จึงสนใจและศึกษาค้นคว้ามาตลอด เพราะมีคุณสมบัติทางชีวภาพที่ดี จึงนำมาดัดแปลงเติมสารปรุงแต่งลงไป ทำให้ได้แผ่นข้าวเจ้ากรดห้ามเลือด มีฤทธิ์เป็นกรดเมื่อสัมผัสกับของเหลว เพื่อใช้ห้ามเลือดต่ออวัยวะอ่อนนุ่มที่ตกเลือดขณะผ่าตัดได้ มีความปลอดภัยสูง ราคาไม่แพง และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

"ผมคิดว่าการนำข้าวเจ้ามาเพิ่มมูลค่าเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ นอกจากจะช่วยลดการนำเข้าเซลลูโลสราคาสูงถึงแผ่นละ 180 บาทแล้ว เมื่อใช้แผ่นที่ทำจากข้าวเจ้านี้ ต้นทุนลดลงเหลือเพียงไม่กี่สิบบาท ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดลงมาก นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรไทยที่ปลูกข้าว เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวเจ้าไทยอีกด้วย ขณะนี้ผลงานวิจัยนี้ได้จดสิทธิบัตรไทยเรียบร้อยแล้ว นับว่าเป็นการคิดค้นครั้งแรกของโลกที่นำข้าวเจ้ามาทำเป็นแผ่นกรดห้ามเลือด คาดว่าอีกประมาณ 1 ปี จะผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์อุตสาหกรรมได้" รศ.สิทธิพรกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรางวัลเทคโนโลยีดีเด่นประเภทกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี "ปุ๋ยสั่งตัด" เพื่อการผลิตพืชอย่างยั่งยืน

โดยมี ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ จากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะ 28 คน ร่วมกันวิจัย ซึ่งเป็นการจัดการธาตุอาหารเฉพาะพื้นที่ ทำให้เกษตรกรลดค่าปุ๋ยในการผลิตข้าวได้ และรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่คือ ผศ.ดร.เจษฎา วรรณสินธุ์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จากผลงานการพัฒนาเทคโนโลยีการขึ้นรูปโลหะด้วยกระบวนการหล่อโลหะกึ่งของแข็ง และ ดร.ฉันท์ทิพ คำนวณทิพย์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จากผลงานการพัฒนาแผ่นอะครีลิกนำแสงประหยัดพลังงาน โดยใช้สารช่วยในการกระจายแสง ทำให้แผ่นอะครีลิกให้ความสว่างมากกว่าแสงที่ได้รับจากหลอดไฟฟลูออเรสเซ็นต์แม้ในยามค่ำคืน

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์