คนแห่ร่วมพิธีทำบุญให้ศพทารกที่ตายจาก "แท้ง" แน่นขนัดวัดแค เมืองสุพรรณฯ ส่วนใหญ่มาจากกรุงเทพฯ มีทั้งมาคนเดียว คู่รักหนุ่มสาว แต่งตัวดีมีฐานะ สวมแว่นดำ ด้านเจ้าอาวาสวัดระบุ เพื่อช่วยรักษาและบรรเทาจิตใจให้แก่ผู้ที่เคยทำผิดพลาด จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ทำแท้งเป็นกรรมหนัก ฆ่าชีวิต เป็นแผลใจที่มิอาจลบเลือนได้ ขณะที่มูลนิธิเพื่อนหญิงไม่เห็นด้วยทำบุญแก้กรรม จี้แก้ระยะยาว เปลี่ยนทัศนคติสังคมใหม่ ว่าผู้หญิงทำแท้งมีผู้ชายร่วมสร้างปัญหา ไปหลอกลวง ทำร้าย ข่มขืน ไม่รับผิดชอบ ต้องโทษผู้ชายด้วยที่สร้างปัญหา
เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่วัดแค ต.รั้วใหญ่ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี จัดพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศดวงวิญญาณทารก ที่เสียชีวิตจากการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 โดยตั้งแต่เช้ามีประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกรุงเทพฯ เดินทางมาคนเดียว แบบคู่รักหนุ่มสาว และครอบครัว จนถึงวัยกลางคน บางคนแต่งตัวดีมีฐานะ และมักจะสวมแว่นตาดำอำพรางใบหน้า รวมกว่า 4,000 คน มาร่วมพิธีกันแน่นขนัด ทำให้รถติดยาวเหยียด จนที่จอดรถภายในบริเวณวัดไม่เพียงพอ ต้องไปจอดในพื้นที่ของอบต.รั้วใหญ่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พิธีเริ่มในเวลา 10.00 น. ด้วยการถวายสังฆทาน สวดบังสุกุล และถวายภัตตาหารเพล พอมาถึงช่วงบ่ายในเวลา 13.00 น. ประกอบพิธีบวงสรวง กล่าวคำขอขมา และขออโหสิกรรม ต่อด้วยพระสงฆ์แสดงธรรม เทศนา และในเวลา 15.00 น. จัดพิธีประชุมเพลิง ทำทุกอย่างเหมือนงานศพตามปกติ จะแตกต่างเล็กน้อยก็ตรงที่เผากระดาษในโลงศพ และมีนายลักษณ์ เรขานิเทศ หรือหมอดูฟันธงชื่อดัง มาร่วมพิธีด้วย
พระครูปลัดธรรมวงศานุวัตร เจ้าอาวาสวัดแค กล่าวว่า จัดขึ้นเพื่อรักษาจิตใจให้แก่ประชา ชนทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะคนจ.สุพรรณบุรี ประชา ชนที่อื่น ก็สามารถเข้าร่วมงานนี้ พิธีนี้มุ่งเน้นให้มีจิตสำนึกเรื่องบาปบุญคุณโทษ จะเป็นใครก็ได้ขอเพียงให้ผู้เคยกระทำความผิดพลาดในอดีต ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ได้มีโอกาสตระหนักถึงการกระทำอันเป็นบาป ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อบรรเทาจิตใจให้ทุเลาลงไม่มากก็น้อย การทำแท้งที่เกิดขึ้นด้วยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ถือเป็นกรรมหนัก เพราะเป็นการฆ่าชีวิต เป็นแผลใจที่มิอาจลบล้างให้เลือนหายไปจากจิตใจได้
เจ้าอาวาสวัดแค กล่าวต่อว่า หลังจากเสร็จพิธีกรรมต่างๆ แล้ว ทั้งปัจจัยที่ได้ และสิ่งของที่ประชาชนนำมาร่วม ทางวัดจะนำไปมอบให้เด็กผู้ยากไร้ และเป็นทุนการศึกษา รวมถึงให้อุปกรณ์การเรียนแก่โรงเรียนต่างๆ การทำบุญใหญ่ครั้งนี้ ถือว่าวัดแคเป็นสะพานบุญช่วยเหลือผู้ที่ยังคงยึดติดอยู่กับอดีต เคยมีเวรมีกรรมในชาตินี้ หรือชาติปางก่อน อาจไม่ได้ตั้งใจทำแท้ง หรือแท้งเองตามธรรมชาติ
ด้านพระเทพสุวรรณโมลี เจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า ทราบว่าที่วัดหน้าพระเมรุ จ.พระนครศรีอยุธยา ก็จัดพิธีนี้เช่นกัน เป็นการทำให้จิตใจสบายขึ้น เป็นการปลดปล่อย การทำบุญไม่ว่ารูปแบบใด ทำแล้วสบายใจ ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนก็ทำไป ไม่ถือเป็นการมอมเมาประชาชน ทั้งสุขทั้งทุกข์อยู่ที่ใจเราเอง เรื่องนี้ละเอียดอ่อนต้องเข้ามาสัมผัสเองจึงจะเข้าถึงรู้ ใครทำดีก็จะได้ผลลัพธ์ที่ดีตอบแทน ตรงกันข้ามใครทำชั่ว จะได้ผลลัพธ์ชั่วตอบแทนเช่นกัน
ส่วนนายลักษณ์ หมอดูฟันธง กล่าวว่า การที่มาทำพิธีที่วัดแค เนื่องจากวัดแคมีเรื่องราวของขุนแผน ที่ผ่าท้องนางบัวคลี่นำเด็กในท้องมาทำกุมารทอง ถือว่าขุนแผนเป็นคนที่ทำแท้งคนแรกก็ว่าได้ จึงเป็นที่มาของการทำบุญในครั้งนี้ เรื่องของความศรัทธา และความเชื่อเรื่องบุญบาป ใครทำใครได้ ทำน้อยได้มากก็มี ทำตามกำลังความศรัทธาตามที่มี และตั้งจิตตั้งใจเท่านี้ก็ได้บุญมหาศาลแล้ว
วันเดียวกัน พระพรหมมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ กล่าวถึงการทำบุญที่วัดแค ว่า ตามคติความเชื่อของคนไทย เด็กที่ถูกทำแท้ง ดวงวิญญาณจะไม่ไปสู่สุคติ ต้องวนเวียนอยู่ในภพนี้จนกว่าถึงวาระได้ไปผุดไปเกิด อาจเป็นด้วยความแค้นที่ไม่ใช่ความผิดของเด็ก แต่ต้องมาตายด้วยการทำแท้ง เพราะการกระทำที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ของพ่อแม่ การจัดพิธีทำบุญดังกล่าว นอกจากช่วยทำให้คนที่เป็นพ่อแม่ที่ได้กระทำ ได้สำนึกถึงความผิด ให้เกิดความสบายใจแล้ว ดวงวิญญาณของทารกเมื่อได้รับรู้ถึงผลบุญก็จะอโหสิกรรม และไปเกิดในภพภูมิที่ดี
พระพรหมมุนี กล่าวต่อว่า แต่การทำพิธีอโหสิ กรรม ไม่ใช่การตัดกรรม เพราะไม่มีใครลบล้างกรรมชั่วที่ก่อไว้ได้ กรรมชั่วไม่มีวันถูกลบล้าง แต่ถ้าเราทำความดีมากๆกรรมดีจะเกิดขึ้นกับเราก่อน ใครทำดีก็จะได้ผลลัพธ์ที่ดีตอบแทน ตรงกันข้ามใครทำชั่วก็จะได้ผลลัพธ์ชั่วตอบแทนเช่นกัน เจตนาของผู้จัดประกอบพิธีอโหสิกรรม ต้องการสร้างความสบายใจให้ผู้กระทำผิดไปแล้ว เกิดความสบายใจมากกว่า อีกทั้งคนทำผิดควรกลับตัวกลับใจ สำนึกผิดในสิ่งที่ก่อไว้ ปฏิญาณกับตนเองว่าจะไม่ประพฤติเช่นนั้นอีก และนับจากนี้ไปจะทำแต่ความดี ละเว้นความชั่ว
"อาตมาเชื่อว่าผู้ที่เคยกระทำผิด เคยไปทำแท้งทำลายชีวิตเด็กทารก ล้วนแต่มีความเศร้าเสียใจ และมีความสำนึกผิด ไม่มีใครอยากกระทำผิดเช่นนั้นอีก แต่ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือความจำเป็นบางประการของแต่ละบุคคล บาปกรรมที่เกิดจากฆ่าชีวิตผู้เป็นลูก หรือผู้อื่น ไม่สามารถลบล้างได้ ถ้าเป็นไปได้ก่อนที่เราจะทำสิ่งใดไป ควรชั่งใจให้ดี ถ้าทำไปแล้วเกิดความทุกข์เสียใจในภายหลัง ก็ไม่ควรทำ" กรรมการมหาเถรสมาคม กล่าว
ด้านนายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า การทำแท้งส่วนหนึ่ง เพราะผู้หญิงไม่มีทางเลือก เนื่องจากไม่พร้อมจึงต้องทำแท้ง ผู้หญิงย่อมรู้สึกผิดและคิดจะแก้บาป เมื่อรู้สึกผิดก็อยากจะแก้กรรม แต่แก้บาปกรรมได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ปัญหาคือต้องทำให้สังคมเห็นว่า ทำแบบนี้ไม่ใช่ทางออก สิ่งแรกต้องทำความเข้าใจว่าการที่ผู้หญิงทำแท้งไม่ใช่เพราะผู้หญิงเลวร้ายทั้งหมด หรือมักประณามผู้หญิงว่าฆ่าลูก แต่อยากให้ดูต้นตอปัญหาที่แท้จริงว่า การที่ผู้หญิงตั้งท้องไม่พร้อม เนื่องจากถูกผู้ชายหลอกลวง ไม่รับผิดชอบ ขณะที่สังคมมองผู้หญิงตั้งท้องไม่พร้อมไปทำแท้งว่าเลว จึงเกิดกลุ่มรณรงค์ให้ผู้หญิงไปแก้กรรม เหมือนเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้ผู้หญิงกลุ่มนี้รู้สึกดี ดังนั้น สังคมต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่ ทำให้เห็นว่าการทำแท้งไม่ปลอดภัย อันตรายถึงตายได้ และการแก้กรรมแก้ไม่ได้หมด
"ผมไม่ทราบเจตนาของผู้จัดงาน ว่าทำเชิงธุรกิจ หรือต้องการช่วยเยียวยาจิตใจผู้หญิง ถ้าต้องการช่วยเยียวยาจิตใจก็เป็นทางออกแบบหนึ่ง แต่หากทำเป็นธุรกิจ จะกลายเป็นกระแสที่แรง ส่งผลกระทบกับผู้หญิงมาก การแก้กรรมเชิงพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่เยียวยาจิตใจได้ โดยต้องยอมรับว่าผู้หญิงทำแท้งไม่ใช่ความผิด แต่เพราะไม่มีทางเลือก หากจะผิดก็ไม่ใช่ความผิดฝ่ายเดียว ฝ่ายชายที่เห็นแก่ตัวไม่ยอมรับผิดชอบผู้หญิง จนต้องทำแท้งก็ผิด แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครวิพากษ์วิจารณ์ว่าผู้ชายผิดเลย" นายจะเด็จ กล่าว
ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยกับการแก้กรรมแบบนี้ในระยะสั้น และชั่วคราว แต่อยากให้แก้ปัญหาระยะยาว ว่าผู้หญิงทำแท้งมีผู้ชายร่วมสร้างปัญหาด้วย ไปหลอกลวง ทำร้าย ข่มขืนผู้หญิง ไม่รับผิดชอบผู้หญิง ดังนั้น ต้องแก้ทัศนคติสังคม ผู้หญิงก็ต้องระวัง รวมทั้งการไปร่วมทำพิธีด้วย และการทำแท้งก็ช่วยแก้ปัญหาในบางกรณี ดังนั้น สังคมต้องช่วยกันดูแล