เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 8 ต.ค. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 18 บัลลังก์ 18 ศาลจังหวัดนครราชสีมา
นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จ.นครราชสีมา เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธัญญา จั่นอาจ อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 14/83 ม.1 ต.คลองสี่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี นักวิจัยชื่อดังขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ทั้งนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2551 นายทักษิณ อาชวาคม ผู้อำนวยสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ต.อุดมทรัพย์ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เข้าแจ้งความต่อ พ.ต.ท.มานนท์ ซิลพรมราช สารวัตรเวร สภ.อุดมทรัพย์ กรณีกบสายพันธุ์ใหม่ของโลก ที่ชื่อว่า กบปากใหญ่โคราช จำนวน 3 ตัว ได้หายไปจากสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช โดยมีพยานยืนยันว่าเห็นนายธัญญา เป็นผู้ขโมยไป โดยศาลได้ใช้เวลาอ่านสำนวนเป็นเวลา กว่า 30 นาที ก่อนจะพิพากษายกฟ้องเนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ
ด้านนายนายธัญญากล่าวว่า คำตัดสินของศาลถือว่าเป็นการแสดงถึงความบริสุทธิ์ของตนเองเกี่ยวคดีดังกล่าว
ซึ่งตนรู้สึกดีใจส่วนตัวไม่ติดใจในเรื่องนี้และคงจะต้องเดินหน้าทำงานวิจัยต่อไป ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้นก็ขอให้จบลงเพียงเท่านี้ ทั้งนี้ตนยืนยันว่าตนเองไม่มีเหตุผลใดที่จะขโมยกบดังกล่าวไปและไม่รู้ว่าจะขโมยไปเพื่ออะไร นายทักษิณ กล่าวว่า เมื่อศาลตัดสินยกฟ้องก็ถือว่านายธัญญาเป็นผู้บริสุทธิ์ ตนเองคงไม่ติดใจเอาความในเรื่องนี้ต่อไปและคงจะไม่มีการดำเนินการใดๆต่อ ส่วนตัวไม่ได้มีความขัดแย้งกับนายธัญญาใดๆทั้งสินเป็นการกระทำตามหน้าที่เท่านั้น หลังจากนี้คงจะทำงานต่อไปไม่ติดใจเอาความกับเรื่องนี้อีกอย่างแน่นอนเมื่อศาลตัดสินถือว่าเรื่องยุติ
สำหรับกบปากใหญ่โคราช หรือกบหัวใหญ่โคราช ถูกคันพบเมื่อปี วันที่ 27 มิย. พ.ศ.2546 ภายในป่าดงดิบ ผืนป่าสงวนมณฑลสะแกราช
ซึ่งมีเนื้อที่กว่า 50,000 ไร่ และขึ้นทะเบียนเป็นกบชนิดใหม่ของโลก เมื่อวันที่ 29 เมย. 2551 ที่ผ่านมา มีลักษณะขนาดใหญ่ค่อนข้างใหญ่ จากปลายถึงก้นประมาณ 82 มิลลิเมตร ลำตัวยาวและมีส่วนหัวกว้าง บนหัวระหว่างตาทั้งสองข้างมีรอยพับ ของแผ่นหนังพาดขวางด้านท้ายของตา และมีรอยพับของผิวหนังจากด้านท้ายตาลงไปที่ส่วนต้นของขาหน้า เพศผู้มีหัวใหญ่และมีโครงสร้างคล้ายฟันเขี้ยวอยู่ที่ส่วนปลายของขากรรไกรล่าง ผิวหนังทางส่วนต้นของลำตัวค่อนข้างเรียบ มีตุ่มเล็กกระจายอยู่บ้าง แต่จะกระจายหนาแน่นบริเวณท้ายลำตัวและขนขาหลัง พบได้เฉพาะในประเทศไทยและบางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลยและนครราชสีมา พื้นที่อาศัยหลบซ่อนตัวในเวลากลางวันตามซอกหินและใบไม้หากินเวลากลางคืน อาหารเป็นแมลงทั่วไปเหมือบกบชนิดอื่น แต่ที่แปลกสุดสามารถกินนกขนาดเล็กในตระกูลนกเขียวก้านตอกได้ โดยพบหลักฐานจากขนนกที่ตรวจพบในอุจจาระ