เปิดขึ้นทะเบียนคนจนรอบ 2


กลางเดือน ต.ค.นี้ กรณ์ จาติกวณิชรมว.คลัง จะกดปุ่มส่ง ธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร” (ธ.ก.ส.) เปิดรับ ขึ้น ทะเบียนคนจน รอบ 2” ที่รับเฉพาะเรื่องหนี้นอกระบบ เพื่อแก้ปัญหาให้ชาวบ้านผู้มีรายได้น้อย คนจนที่กู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ เพราะไม่มีรายได้ที่แน่นอน 

 ต้องหันไปซบเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยมหาโหด ได้เงินต้นไม่เต็มจำนวน เก็บดอกเบี้ยรายวันแล้วอาจมีเลือดตกยางออกเป็นของแถมถ้าไม่จ่ายดอก ทำให้ลูกหนี้ต้องเวียนเทียนกู้เงินที่หนึ่งไปใช้อีกที่หนึ่งไม่จบไม่สิ้น และออกจากวงจรอุบาทว์นี้ไม่ได้เสียที
   
โดยให้ทั้ง 2 แบงก์ประเมินความเป็นไปได้ ความสามารถในการชำระหนี้ ก่อนอนุมัติให้คนเหล่านี้กู้เงินไปใช้หนี้นอกระบบ หรืออาจตัดหนี้สูญบางส่วน (แฮร์คัท) แล้วมาผ่อนคืนให้ 2 แบงก์แทนด้วยดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ
   



ฟังแล้วดูดี...ว่ารัฐบาลใส่ใจคนจน อยากให้ลืมตาอ้าปากได้ เพราะหนี้ภาคครัวเรือนเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศ แต่ได้รับการแก้ไขน้อยที่สุดมาทุกยุคสมัย และครั้งนี้จะทำได้แค่ไหนต้องดูกัน   ยาว ๆ เพราะที่ผ่านมายามใดที่มีข่าวทวงหนี้โหดเจ้าหน้าที่รัฐก็ตื่นตัวมาสร้างภาพเล็กน้อย เมื่อไฟไหม้ฟางหมดก็จบกัน อีกทั้งการขึ้นทะเบียนฯ ไม่ใช่ของใหม่ เมื่อ 5 ปีก่อน สมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้เคยทำมาแล้ว ช่วงปี 47-48 ที่กระทรวงมหาดไทยเปิดให้คนจนลงทะเบียน จากนั้นคัดแยกประเภทปัญหา โดยส่งปัญหาสารพัดหนี้มาให้กระทรวงการคลัง จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้ภาคประชาชนรับช่วงต่อ
   
สถิติครั้งนั้นมีผู้ลงทะเบียน 5 ล้านคน แยกเป็นหนี้นอกระบบได้ 200,000 ราย รวมมูลหนี้ 12,000 ล้านบาท แยกเป็นการกู้เจ้าหนี้ 1 ราย 72,000 ล้านบาท กู้เจ้าหนี้ 2 ราย 29,100 ล้านบาท กู้เจ้าหนี้ 3 ราย 14,400 ล้านบาท และกู้เจ้าหนี้ 4 รายขึ้นไป 15,300 ล้านบาท ผ่านไป 5 ปี แก้ไขได้ 100,000 ราย วงเงิน 6,000 ล้านบาท ยังเหลืออีก 100,000 รายที่ต้องรอต่อไป นี่ยังไม่รวมถึงลูกหนี้ใหม่ที่ผุดขึ้นในรอบปีนี้ จากพิษ แฮมเบอร์ เกอร์ดีซีสจึงต้องสะสางของเดิมพร้อมทั้งดูแลของใหม่อีกครั้ง ว่าขณะนี้ตัวเลขพุ่งกระฉูดไปถึงไหนแล้ว
   



ขณะเดียวกัน ขุนคลังได้หารือกับ ขุนค้อนเจ้าของร่าง พ.ร.บ.ควบคุมธุรกิจบัตรเครดิตว่า จะนำกฎหมายนี้มารวมกับร่าง พ.ร.บ.การติดตามทวงหนี้อย่างเป็นธรรมได้หรือไม่ เพราะดูแล้วเนื้อหาสาระใกล้เคียงกัน แต่ยังแก้ปัญหาหนี้ได้ไม่ครบวงจร ขุนคลังจึงปิ๊งไอเดียแจ้งเกิดร่างกฎหมาย พ.ร.บ.สินเชื่อส่วนบุคคลขึ้นมาอีก 1 ฉบับ ซึ่งแยกจาก พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ฯ อย่างชัดเจน เพราะเห็นว่ายังไม่มีกฎหมายใดกำกับดูแลสินเชื่อส่วนบุคคลอย่างชัดเจน แม้ว่าจะมีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เหลียวแลอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มีข้อกฎหมายที่ควบคุมได้ทั้งหมด ขณะที่ผู้ประกอบการยุคนี้มีวิวัฒนาการล้ำสมัยไปมากโข
   
อดีตที่ผ่านมา เราไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนเพียงพอในการควบคุมดูแลเรื่องเหล่านี้ มีเพียง ธปท.ที่มีกฎหมายจากประกาศคณะปฏิวัติเท่านั้น ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมสินเชื่อทุกประเภท และกฎเหล่านี้ไม่ศักดิ์สิทธิ์ ขณะที่ผู้ประกอบการที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ มีวิวัฒนาการไปมาก จนธปท.เอื้อมไปดูแลไม่ทั่วถึง หรือเงื่อนไขที่ไม่ยืดหยุ่น อาทิ ดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลที่กำหนดไว้สมัยก่อนสูงตามช่วงดอกเบี้ยในท้องตลาด แต่ขณะนี้ดอกเบี้ยต่ำแล้ว ก็ไม่เห็นว่าดอกเบี้ยสินเชื่อเหล่านี้จะต่ำลงด้วย ดังนั้นต้องปรับปรุงใหม่ ผมไม่ได้สนใจว่าหนี้นอกระบบนั้นเกิดจากอะไร แต่จะให้ความสำคัญที่ความสามารถในการชำระหนี้คืน
   
พร้อมทั้งเปิดไฟเขียวให้ใบอนุญาตผู้ประกอบการปล่อยสินเชื่อระดับประชาชนได้ด้วย ในรูปแบบที่คล้ายกับธนาคารประชาชนของออมสิน เพื่อลดการพึ่งพาเงินทุนนอกระบบ รวมทั้งเป็นการดึงผู้ปล่อยเงินนอกระบบให้กลับใจเข้ามาสู่ระบบอย่างถูกกฎหมาย เพื่อลดปัญหาดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรมลงอีกทางหนึ่ง
   



ขณะที่ เลอศักดิ์ จุลเทศผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ขานรับนโยบายดังกล่าว โดยได้เดินหน้าให้ความช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมามีผู้มาขอกู้เงินดอกเบี้ยต่ำไปชำระหนี้นอกระบบมากขึ้น เฉพาะ 2-3 สัปดาห์ก่อนมี 12 รายให้กู้รายละ 100,000 บาท คิดดอกเบี้ย 0.5% แต่ยืนยันว่า ออมสินต้องคัดแยกว่าเป็นกลุ่มไหน มีหนี้สินจากสาเหตุใด ใครเป็นเจ้าหนี้ หากเป็นผู้ประกอบการรายย่อย โชห่วย มีหนี้สินจากการประกอบอาชีพ หรือเพื่อการดำรงชีพก็จะช่วยเหลือ แต่คงไม่ใช่ทุกราย เพื่อคัดกรองกลุ่มที่มีหนี้สินจากการพนันหรือทำอาชีพไม่สุจริต และลูกหนี้ต้องไปเจรจากับเจ้าหนี้เอง ออมสินไม่ยุ่งเกี่ยวด้วย เพราะไม่ทราบว่าเจ้าหนี้เป็นใคร ซึ่งอาจเป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพล!!
   
ฟากเอ็นนู ซื่อสุวรรณรักษาการผู้จัดการ ธ.ก.ส. ฟันธงว่า แก้หนี้นอกระบบจะสัมฤทธิผลได้ ต้องมี คณะกรรมการประนอมหนี้ โดยเฉพาะการเจรจาขอลดต้นลดดอกเบี้ยกับเจ้าหนี้นอกระบบ เนื่องจากพบว่า หากไม่มีคณะกรรมการฯ ที่มีตัวแทนจากธนาคาร กรมสรรพากร เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ระดับอำเภอมาต่อรองกับเจ้าหนี้แล้ว มักล้มเหลวตลอด อีกทั้งต้องมีคณะกรรมการติดตามและฟื้นฟูลูกหนี้ให้มีอาชีพ ด้วยการอบรมวิชาชีพ  ต่าง ๆ เพื่อไม่ให้วนกลับมาเป็นหนี้อีก
   
อดีต ธ.ก.ส.เคยช่วยแก้ปัญหาหนี้สินนอกระบบของเกษตรกร โดยมีผู้เข้าโครงการ 78,000 ราย รวมวงเงิน 5,800 ล้านบาท ขณะนี้เหลือลูกหนี้ที่ยังเป็นหนี้อยู่ 30,000 ราย รวมมูลหนี้ 2,837 ราย หรือชำระหนี้คืนมาแล้วถึง 89% แสดงให้เห็นว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่มีวินัยในการชำระหนี้คืน รวมทั้งช่วยเหลือด้านการฝึกอบรม ส่งเสริมการสร้างอาชีพ และสนับสนุนการออม
   
แต่มุมมองจากสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) ไม่เห็นพ้องสักเท่าใดกับการออก พ.ร.บ.สินเชื่อส่วนบุคคล เพราะเห็นว่าถึงรัฐบาลจะคลอดกฎหมายออกมาได้ แต่หาก ธปท. ในฐานะผู้กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ และนอนแบงก์ ไม่ผ่อนคลายกฎการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อส่วนบุคคลแล้ว พ.ร.บ.ฉบับนี้คงไม่ต่างจากเสือกระดาษ!!
   



เพราะประเด็นสำคัญที่จะทำให้คนไทยทุกคนกู้เงินในสถาบันการเงินได้นั้น ธปท.วางกติกาเข้มข้นไว้แล้วว่า คนนั้นต้องมีคุณสมบัติชัดเปรี๊ยะทุกประการ ไล่ตั้งแต่ จะเอาเงินไปทำอะไร มีประวัติทางการเงินให้ตรวจสอบได้หรือไม่ มีรายได้ที่แน่นอนในแต่ละเดือน มีศักยภาพในการชำระคืนแค่ไหน หากคลายล็อก 3-4 ประเด็นเหล่านี้ได้ ก็จะพลิกมิติใหม่ของกระบวนการ     วิเคราะห์สินเชื่อ และช่วยให้หนี้นอกระบบกลับใจเข้าสู่ระบบได้ จากนั้นดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่อส่วนบุคคลจึงจะขยับได้ตามกลไกตลาด จากการแข่งขันที่รุนแรง และการ   ทวงถามหนี้โหด จะบรรเทาเบาบางลงไปเอง
   
ที่ต้องตระหนักคือผู้ใช้เงินกู้นอกระบบ คือกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่ไม่มีหลักฐานทางการเงิน ดังนั้นหากรัฐจะดูข้อเท็จจริงว่า จะปรับเปลี่ยนกรอบกติกาสินเชื่อได้หรือไม่ และมองยาวไปถึงแผนแม่บททางการเงิน ที่ ธปท.พูดถึงไมโคร ไฟแนนซ์ ว่าเป็นสถาบันการเงินแบบใดแน่ คงไม่ใช่ธนาคารเพื่อประชาชนรากหญ้าที่ไม่มีรายได้ประจำ ดังนั้นหากสถาบันการเงินนี้เกิดขึ้น รัฐจะอนุมัติให้กำหนดเกณฑ์ปล่อยสินเชื่อได้เองหรือไม่ เมื่อเกิดความเสี่ยงก็รับไว้เอง แต่กลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ คือ คนที่มีเงินเดือนน้อย ต่ำกว่าเกณฑ์ที่แบงก์กำหนด ไม่ใช่กลุ่มที่มีปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบโดยตรง ที่รัฐต้องการแก้ปัญหา
   
มงคล ลีลาธรรมประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย เห็นด้วยหากรัฐจะออก พ.ร.บ.สินเชื่อฯ เพื่อวางกรอบโครงสร้างพื้นฐานให้สถาบันการเงินปฏิบัติต่อไปในอนาคต แม้ว่าคงทำให้หนี้นอกระบบกลับเข้ามาได้ไม่มากนักในระยะแรก แต่เชื่อว่าจะค่อยเป็นค่อยไป ถ้ามีการแข่งขันปล่อยกู้มากขึ้น ดอกเบี้ยจะลดลงได้เอง
   
ฝั่ง วีระชาติ ศรีบุญมาผู้อำนวยการสำนักคดี ฝ่ายกฎหมายและคดี ธปท. ขานรับนโยบายดังกล่าว เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องดี ที่จะทำให้กฎหมายทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น มีมาตรฐานเดียวกัน อีกทั้งช่วยให้หนี้นอกระบบที่ใช้ช่องทางของสินเชื่อส่วนบุคคลแอบแฝงทำธุรกิจลดลง เนื่องจากมีบทลงโทษและการบังคับใช้ตามกฎหมายที่ชัดเจน ที่สำคัญต้องสอดคล้องกับ พ.ร.บ. ธปท. พ.ศ. 2551 ด้วย เพื่อให้เครื่องมือที่มีอยู่สัมฤทธิผลเต็มที่
   
ยอมรับว่า ธปท.ปราบปรามผู้ทำผิดให้หมดไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องอาศัยแม่บทกฎหมายเข้ามาช่วย โดยบทลงโทษไม่จำเป็นต้องหนัก แต่การบังคับใช้ต้องมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ทำธุรกิจผิดกฎหมายเกรงกลัว เพราะปัจจุบันเครื่องมือที่ใช้แก้ปัญหาเงินกู้นอกระบบ มีเพียงกฎหมายคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 เท่านั้น ตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. 2516 แม้ว่า ธปท.เคยมีแนวคิดที่จะออก พ.ร.ก.แนบท้าย พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 แต่มีจุดอ่อนตรงที่ต้องยกเลิกกฎหมายคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ก่อน เพราะกฎหมายระบุว่าต้องไม่มีกฎหมายอื่นเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ ถ้ามีต้องยกเลิก รวมทั้งเมื่อมีกฎหมาย 2 ฉบับมาควบคุมแล้ว หน่วยงานไหนจะเข้ามารับช่วงดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป
   
รัฐจะขึ้นทะเบียนคนจนอีกกี่รอบก็คงเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และขว้างงูไม่พ้นคอ ตราบใดที่คนจนยังไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินได้เหมือนคนอื่น ๆ เห็นทีกระทรวงการคลังคงต้องเรียกให้แบงก์ชาติก้มลงมาดูมารับรู้ความเป็นจริงในสังคมไทยเสียบ้าง!!.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์