เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อาคารมณียา กรุงเทพฯ กองทุนสัตว์ป่าโลกหรือ WWF
แถลงผลการค้นพบสิ่งมีชีวิตพันธุ์ใหม่ในแถบภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong) รวมกว่า 163 ชนิด ในจำนวนมี "กบโคราช" ซึ่งพบในประเทศไทย ลำตัวมีสีน้ำตาลเข้ม ปากกว้าง มีกระดูกอ่อนงอกขึ้นมาจากด้านในริมฝีปากล่างคล้ายเขี้ยว จับนกกินเป็นอาหาร รวมถึง "ตุ๊กแกลายเสือดาว" ที่พบในประเทศเวียดนาม แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ในความหลากหลายทางชีวภาพของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นายสจวร์ต แชปแมน ผู้อำนวยการองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลแห่งลุ่มแม่น้ำโขง กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์พบสิ่งมีชีวิตพันธุ์ใหม่ต่างๆ ในแถบนี้
การค้นพบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยช่วงปี 2540-2550 พบแล้วกว่า 1,000 ชนิด ล่าสุดเป็นการค้นพบในปี 2551 รวม 163 ชนิด แบ่งเป็นพืช 100 ชนิด ปลา 28 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 18 ชนิด สัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก 14 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 2 ชนิด และนกอีก 1 ชนิด
ในบรรดาสัตว์ชนิดใหม่ที่ค้นพบตัวที่เป็นดาวเด่น ได้แก่ "กบโคราช" ที่มีเขี้ยวใช้จับกินนกเป็นอาหาร พบในทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Limnonectes megastomias อาศัยอยู่ตามทางน้ำเพื่อจับกินแมลงและนก นอกจากนี้ยังมี "ตุ๊กแกลายเสือดาว" จากเกาะแคตบา ทางเหนือของประเทศเวียดนาม มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Goniurosaurus catbaensis มีตาสีน้ำตาลส้มคล้ายแมว และมีลายเหมือนเสือดาวตลอดทั้งตัว ค้นพบโดยนายลี คริสเมอร์ จากมหาวิทยาลัยลาเซียร์รา ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมี "ค้างคาวจมูกท่อ" มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Murina harpioloides อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของเวียดนาม "นก Nonggang babbler" พบในป่าดงดิบบริเวณชายแดนประเทศจีน-เวียดนาม
นายแชปแมนกล่าวว่า การค้นพบที่ผ่านมาเป็นเพียงแค่การเริ่มต้น พร้อมแสดงความรู้สึกกังวลถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อน รวมถึงภัยแล้ง น้ำท่วม
ที่จะส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์พันธุ์ต่างๆ ทั้งใหม่และเก่า แม้สัตว์บางชนิดอาจปรับตัวได้กับความเปลี่ยนแปลงทางอากาศ แต่บางชนิดก็ปรับตัวไม่ได้และเสี่ยงจะต้องสูญพันธุ์ "หากแต่ละประเทศที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงยังไม่มีแผนการที่จะรับมืออย่างจริงจังเชื่อว่าจะทำให้สปีชีส์ใหม่ๆ ที่ค้นพบได้รับผลกระทบ หรืออาจจะสูญพันธุ์ไปได้และอาจจะเชื่อมโยงไปถึงสัตว์สปีชีส์อื่นๆ ที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีระบบนิเวศที่เชื่อมโยงถึงกันกลายเป็นผลกระทบแบบลูกโซ่" นายแชปแมนกล่าวและว่า ดังนั้นจึงอยากให้ประเทศต่างๆ ที่ใช้แม่น้ำโขงร่วมกัน จะต้องหันมาให้ความสำคัญ และควรจะร่วมกันหาแนวทางหรือข้อตกลงในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอกาสที่จะมีการประชุมบางกอก ไคลเมต เชนจ์ ทอล์ก 2009 ซึ่งเป็นการประชุมหารือว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก จะมีความสำคัญอย่างยิ่งและหากทุกประเทศในลุ่มน้ำโขงหาข้อตกลงร่วมกันได้สำเร็จ ก็จะเป็นการดีอย่างยิ่งในการดูแลสัตว์สปีชีส์ใหม่ และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงนี้ไว้ได้