เขื่อนลำตะคองโคราชวิกฤติ ระดับน้ำกักเก็บเหลือเพียง 40% พอใช้แค่สิ้นปีนี้เท่านั้น ด้าน ผอ.โครงการส่งน้ำฯ ลุ้นฝนตกใหญ่เดือน ต.ค. หวั่นโคราชจะเผชิญภัยแล้งหนักเหมือนปี 2548..
เมื่อช่วงสายวันที่ 25 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำใน จ.นครราชสีมา น่าเป็นห่วง หลังพบว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำกักเก็บ ไม่ถึงครึ่ง โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำแห่งใหญ่ที่สุดอย่างอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำอยู่เพียง 43% ขณะที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย เหลือปริมาณน้ำกักเก็บเพียง 27.50% เท่านั้น สาเหตุมาจากการทิ้งช่วงของฝนในพื้นที่และไม่มีฝนตกในพื้นที่เหนือเขื่อน
สำนักชลประทานที่ 8 ระบุว่าสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับ จ.นครราชสีมา ขณะนี้คล้ายคลึงกับสถานการณ์ในปี 2547 ซึ่งเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงยาวนานกว่าปกติ จนส่งผลให้ในปี 2548 จ.นครราชสีมา ต้องประสบภัยแล้งอย่างหนัก น้ำในเขื่อนลำตะคอง แห้งขอด สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างมาก
นายทรรศนันท์ เถาหมอ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 8 นครราชสีมา ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ 4 จังหวัดภาคอีสาน ประกอบด้วย นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ขณะนี้เขื่อนลำพระเพลิงมีระดับน้ำกักเก็บอยู่ที่ 30.150 ล้าน ลบ.ม. จากความจุทั้งหมด 109.63 ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 27.50% ขณะที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคอง มีน้ำกักเก็บ 140 ล้านลบ.ม. จากความจุทั้งหมด 314 ล้าน ลบ.ม. จึงเกรงว่าหากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงไปจนถึงสิ้นสุดฤดูฝนในปลายเดือน ต.ค. จะทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนทั้ง 2 แห่งไม่เพียงพอที่จะใช้ในฤดูแล้ง ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.ปีหน้า
อย่างไรก็ตาม เดือน ต.ค.นี้ ยังถือว่าเป็นฤดูฝนช่วงสุดท้าย หากมีฝนตกในพื้นที่เหนือเขื่อนทั้ง 2 แห่ง ก็อาจจะทำให้สถานการณ์คลี่คลายลงได้ แต่อยากฝากเตือนให้ประชาชนชาวโคราชช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อเตรียมรับมือกับภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในปีหน้า
ด้านนายสุทธิโรจน์ กองแก้ว ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงปัจจุบัน พื้นที่ จ.นครราชสีมา มีฝนตกลงมาในปริมาณที่น้อยกว่าทุกปี โดยเฉพาะพื้นที่เหนือเขื่อนลำตะคอง ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีปริมาณฝนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. จนถึง ณ วันที่ 21 ก.ย. 2552 เพียง 600 มิลลิเมตร เมื่อเทียบกับปริมาณฝนเฉลี่ยของทุกๆ ปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 800 มิลลิเมตร จะเห็นได้ว่าปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ลดลงถึง 200 มิลลิเมตร ทำให้น้ำที่ไหลลงสู่เขื่อนลำตะคองน้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์คล้ายคลึงกับเมื่อปี 2547 ซึ่งถือเป็นวิกฤติภัยแล้งหนักที่สุดในรอบ 10 ปีที่ จ.นครราชสีมา เคยเผชิญมาเลยทีเดียว
นายสุทธิโรจน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางเขื่อนลำตะคอง ได้ร้องขอให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างเร่งทำฝนหลวง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคองให้มากขึ้น และลดปริมาณการจ่ายน้ำเพื่อการเกษตรให้แก่เกษตรกรลงครึ่งหนึ่ง จากเดิมที่จะระบายน้ำวันละ 800,000 ลบ.ม.ต่อวัน เหลือเพียงวันละ 400,000 ลบ.ม.ต่อวันเท่านั้น รวมถึงปิดการจ่ายน้ำให้แก่เกษตรกรมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น
"หากสถานการณ์ยังคงเป็นอย่างนี้อยู่ ประชาชนก็ต้องทำใจที่จะต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งปีหน้า อย่างแน่นอน เพราะน้ำที่มีอยู่ในเขื่อนขณะนี้สามารถจ่ายให้ประชาชนได้เพียงพอแค่สิ้นปีนี้เท่านั้น" นายสุทธิโรจน์ กล่าว