ถกมติเหมาจ่ายคลอดลูก-ทำฟัน อัดประชาพิจารณ์แค่พิธี-บังคับตอบ

"เป็นวาระซ่อนเร้น"


รมว.แรงงาน ระดมกึ๋นถกคลอดบุตรและทันตกรรม ครวญ 1 ปีต้องผวากับเสียงวิจารณ์ จนทำให้เสียกำลังใจ ขณะที่ประธานเครือข่ายคนตกงาน ระบุ ประชาพิจารณ์มีวาระซ่อนเร้น ย้ำแค่จัดเป็นพิธีเท่านั้น สับแบบสอบถามความคิดเห็น ลักษณะบังคับให้ตอบ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รักษาการ รมว.แรงงาน กล่าวในระหว่างการเป็นประธานการประชุมระดมความคิดเห็นการปรับปรุงสิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตรและทันตกรรม โดยมีผู้ประกันตนเข้าร่วมงานประมาณ 100 คนว่า ตลอด 1 ปีที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ต้องหวาดวิตกกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการทำงานที่ไม่มีการแยกแยะ เพราะเป็นการพูดแบบเหมารวม มองจุดเล็กๆ แล้วนำมาขยายผล จนทำให้คนทำงานต้องเสียกำลังใจ


"ปัญหาบริการไม่พร้อมไม่ใช่ของ กระทรวงแรงงาน"


ที่ผ่านมายอมรับว่านโยบายเหมาจ่ายค่าคลอดบุตร และทำฟันฟรี มีสถานพยาบาลบางแห่งมีความไม่พร้อมในการบริการ จึงทำให้ภาพลักษณ์ส่วนใหญ่ต้องเสียไป แต่ก็เป็นเรื่องที่สถานพยาบาลต้องปรับปรุง ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของกระทรวงแรงงาน เพราะกระทรวงมีหน้าที่บริหารจัดการงบประมาณให้เท่านั้น ดังนั้น จึงอยากให้ข้าราชการมั่นใจ เพราะการทำงานเดินมาถูกทางแล้ว หากไม่เข้มแข็ง นโยบายที่ทำมาอาจผิดพลาดเพราะเสียงวิจารณ์ได้

"เรื่องนี้มันไม่ใช่ความผิดของพวกเรา แต่เกิดจากโรงพยาบาลปรับตัวไม่ทันที่จะให้บริการผู้ประกันตน 8-9 ล้านคน ฉะนั้น ผมจึงไม่อยากให้ล้มไป เราอย่าเพิ่งรื้อระบบ หรือนโยบายที่ทำมาดีแล้ว" นายสมศักดิ์ กล่าว


"ให้ กทม.เบิกไม่เกิน 800 คลอดบุตรเหมา 12,000"


นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ข้อสรุปเบื้องต้นกรณีทำฟันนั้นมี 2 แนวทาง ที่จะให้ดำเนินการ คือ 1.ผู้ประกันตนที่อยู่ต่างจังหวัดจะได้สิทธิใช้บริการทำฟันฟรีโดยเหมาจ่ายให้โรงพยาบาล และ 2.ผู้ประกันในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้สิทธิเบิกค่าทำฟันคนละไม่เกิน 800 บาทต่อปี ทั้งนี้สาเหตุที่ต้องดำเนินการแบบนี้ เพราะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีปัญหาผู้ประกันตนจำนวนมาก รอคิวนานและทันตแพทย์ไม่เพียงพอ ซึ่งตนเชื่อว่าเมื่อใช้วิธีนี้จะไม่มีปัญหาเรื่องมาตรฐานการให้บริการแต่อย่างใด ส่วนกรณีคลอดบุตร จะเป็นระบบเหมาจ่ายให้ผู้ประกันตนครั้งละ 12,000 บาท

"ข้อเสนอที่ผู้ประกันตนขอใช้สิทธิบริการทำฟันเป็น 2 ทางเลือกทั่วประเทศนั้น ระบบ สปส.ยังไม่พร้อม คงต้องใช้เวลา 1-2 ปี เพื่อให้ระบบการให้บริการสมบูรณ์กว่านี้ก่อน" นายสมศักดิ์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ดี สปส.จะเปิดรับฟังความเห็นในเรื่องนี้ไปอีก 1-2 เดือนก่อนจะให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2550 ต่อไป" รักษาการ รมว.แรงงาน กล่าว


"ดีทั้งสองแบบ แต่ตอนนี้ยังไม่พร้อม"


รักษาการ รมว.แรงงาน กล่าวด้วยว่า เบื้องต้นพบว่า คนที่อยากได้ระบบเก่า เพราะไม่อยากเสียเงิน แต่บางคนรำคาญกับการรอคิวก็อยากให้เป็นเหมาจ่ายไปยังผู้ประกันตน ซึ่งสามารถเอาใบเสร็จรับเงินไปได้เลย ดังนั้น จึงทำให้มีอยู่ 2 รูปแบบ ซึ่งถือว่าดีทั้งคู่ และในอนาคตคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ แต่ในขณะนี้ยังไม่พร้อม เพราะศูนย์ข้อมูลเรื่องการบริหารจัดการต่างๆ ยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากเพิ่งตั้งมาไม่ถึงปี ดังนั้น เรื่องของการทำฟันกับคน 9 ล้านคน ต้องใช้เวลาสักระยะถึงจะได้ทั้ง 2 รูปแบบ

"ต่างจังหวัดไม่มีปัญหา มีปัญหาเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีผู้ประกันตนถึงครึ่งหนึ่ง ดังนั้น อาจจะทำแบบ 2 อย่าง ต่างจังหวัดอย่างหนึ่ง กรุงเทพฯ อย่างหนึ่ง แต่เรื่องมาตรฐานนั้น เป็นมาตรฐานเดียว คือ ทำฟันฟรีทั้งหมดเหมือนปัจจุบัน แต่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีปัญหาเรื่องสถานบริการ การเข้าคิว จึงอาจอนุโลมให้ใช้แบบเหมาจ่ายไปยังผู้ประกันตน แต่ช่วง 1 เดือน ที่เก็บข้อมูลนี้ ทุกอย่างยังปรับเปลี่ยนได้ ยังมีเวลาถึงวันที่ 1 มกราคม 2550 ที่ต้องมีระบบออกมาชัดเจน" นายสมศักดิ์ กล่าว


"ให้จ่ายโดยตรงผู้ประกันตน"


ขณะที่ น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายคนตกงาน กล่าวว่า การจัดงานของกระทรวงแรงงานในครั้งนี้ ไม่อาจถือว่าเป็นการทำประชาพิจารณ์ เพราะผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ไม่ทราบมาก่อน ได้รับแจ้งแต่เพียงว่า สปส.จะจัดงานทำบุญครบรอบ 16 ปีของการสถาปนา สปส.จึงรู้สึกว่าการประชุมต้องการหมกเม็ดหรือไม่ เพราะผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เป็นข้าราชการมากกว่า แสดงให้เห็นว่าการประชุมจัดพอเป็นพิธีเท่านั้น และมีการให้กรอกแบบสอบถามในลักษณะบังคับตอบด้วย

น.ส.อรุณี กล่าวอีกว่า หาก สปส.ต้องการจะปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการจริงๆ ขอเสนอให้เปลี่ยนค่าคลอดบุตรจากเหมาจ่ายให้โรงพยาบาลรายละ 12,000 บาท เป็นจ่ายให้ผู้ประกันตนโดยตรงรายละ 12,000 บาท ส่วนกรณีทำฟันควรปรับให้มี 2 ทางเลือก คือ 1.ให้บริการทำฟันฟรีกับผู้ประกันตนแบบเดิม และ 2.ให้บริการเหมาจ่ายทำฟันโดยตรงกับผู้ประกันตน


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์