เบรก!ห้ามขึ้นราคาสินค้าทุกชนิด น้ำตาลเริ่มหวาน พาณิชย์ กลับลำไม่ขาดแคลน

นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์จะไม่มีการพิจารณาให้สินค้าทุกรายการปรับขึ้นราคาจนถึงสิ้นปีนี้

เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ต้นทุนการผลิตไม่มีการผันแปรมากนัก จึงไม่มีเหตุผลอันควรในการขอปรับราคาสินค้า โดยสินค้าใดที่ต้องการขอปรับราคาจะเริ่มพิจารณาให้ตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป เพื่อเป็นการช่วยเหลือด้านค่าครองชีพให้กับประชาชน อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมีแนวโน้มว่า ผู้ประกอบการหลายๆ รายเริ่มที่จะใช้ เป็นเหตุผลในการขอปรับขึ้นราคาสินค้า และเริ่มมีการส่งรายละเอียดให้กรมการค้าภายในพิจารณาแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานจากผู้ประกอบการร้านค้าปลีกแบตเตอรี่รถยนต์ว่า ได้รับแจ้งจากผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายแบตเตอรี่รถยนต์หลายรายว่า

จะมีการปรับขึ้นราคาจำหน่ายแบตเตอรี่รถยนต์ในเดือน ต.ค.นี้ อีกประมาณ 15% จากราคาปัจจุบัน เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โดยเฉพาะตะกั่ว ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์มีการปรับราคาขึ้นสูงมาก  โดยเป็นการปรับราคาแบตเตอรี่รถยนต์ครั้งแรกในรอบ 2 ปี โดยก่อนหน้านี้ ช่วงต้นปี 2552 กรมการค้าภายในได้ขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่ปรับลดราคามาแล้ว 5-10% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา  หลังจากต้นทุนการผลิตและราคาน้ำมันลดลง  แต่ในขณะนี้เมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันและวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ส่งผลให้วัตถุดิบหลายรายการที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันปรับเพิ่มตาม ทำให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่จะขอปรับราคาอีกครั้ง

ทั้งนี้ นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ยังไม่ได้รับแจ้งเรื่องการขอขึ้นราคาแบตเตอรี่รถยนต์จากผู้ผลิตจึงยังไม่น่าจะมีการปรับขึ้นราคาในเร็วๆ นี้ เพราะเป็นหนึ่งในบัญชีสินค้าที่ต้องติดตามดูแล หากจะมีการปรับขึ้นราคาจะต้องยื่นสาเหตุของการขึ้นราคาให้กรมฯรับทราบก่อน

อย่างไรก็ตาม จากการหารือกับผู้ผลิตแบตเตอรี่ที่มีเจ้าของเป็นคนไทยได้รับการยืนยันว่า จะไม่มีการปรับราคาขายปลีกในเร็วๆ นี้

และราคาที่ขายอยู่ในปัจจุบันก็มีราคาขายต่ำกว่าแบตเตอรี่นำเข้าอยู่มาก จึงถือเป็นทางเลือกของประชาชน ที่หากพบว่าแบตเตอรี่มีราคาแพง ก็สามารถหันมาเลือกซื้อสินค้าของคนไทย ที่ปัจจุบันมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั่วโลกได้ นายยรรยงกล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาน้ำตาลทราย ยืนยันว่า ไม่มีการขาดแคลน เพราะน้ำตาลทรายที่บริโภคในประเทศ (โควตา ก) ขณะนี้คงเหลือปริมาณ 5.7 ล้านกระสอบ เพียงพอที่จะใช้ไปจนถึงสิ้นปี แต่สิ่งที่กรมฯจะดำเนินการก็คือ การป้องกันปัญหาการระบายน้ำตาลทรายจากโรงงานผู้ผลิตถึงผู้ค้าส่ง (ยี่ปั๊ว) ว่า ได้รับน้อยลงตามที่มีการร้องเรียนหรือไม่ โดยจะตรวจสอบย้อนหลัง 2-3 เดือน ซึ่งพอจะทำให้เห็นภาพได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ถึงทำให้ น้ำตาลทรายมีปัญหาตึงตัวเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน จะเข้าไปดูแลราคาจำหน่ายให้เป็นไปตามเพดานที่กำหนด กก.ละ 23.50 บาท ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ให้พิจารณากำหนดราคาแนะนำตามสัดส่วนที่เหมาะสม

ด้านนายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) 

กอน.ได้มีมติมาตรการเตรียมรองรับกรณี หากเกิดปัญหาน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศ (โควตา ก) ขาดแคลนเพื่อสร้างความมั่นใจ แม้ว่าขณะนี้ปริมาณน้ำตาลทราย ณ วันที่ 14 ก.ย. จะมีน้ำตาลที่ยังไม่ขึ้นงวดและค้างกระดานรวมสูงถึง 4.99 ล้านกระสอบ ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการจนถึงฤดูเปิดหีบใหม่ช่วงปลาย พ.ย.-ธ.ค.นี้ ส่วนกรณีที่สัปดาห์ที่ผ่านมามีการขึ้นงวดน้ำตาลทราย 440,000 กระสอบ จากปกติเฉลี่ยจะอยู่ที่งวดละ 360,000 กระสอบนั้น ยอมรับว่าผิดปกติ แต่จากการตรวจสอบมีการซื้อมากขึ้น และจากกรณีข่าวว่าจะขาดแคลน

ทั้งนี้ มาตรการมีตั้งแต่ระดับอ่อนสุดไปจนถึงเข้มงวดสุด 4 มาตรการคือ

1. การขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำตาลทรายเร่งขนย้ายน้ำตาลทรายออกจากโรงงานและโกดังเพื่อให้การจำหน่ายต่อเนื่อง 2. ให้โรงงานนำน้ำตาลงวดสุดท้ายคืองวดที่ 52 นำขึ้นมาจำหน่ายให้เร็วขึ้น ซึ่งจะเพิ่มประมาณน้ำตาลแต่ละงวดที่กำหนดไว้เพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านกว่ากระสอบ 3. หากสถานการณ์ยังไม่ดีอีก สอน.ก็จะเข้มงวดการต่ออายุใบอนุญาตการขนย้ายน้ำตาลทราย ซึ่งปกติจะให้ทุก 15 วัน หากพบการกระทำส่อไปในทางกักตุน หรือไม่ยอมปล่อยน้ำตาลออกมาจริง ก็จะไม่ต่ออายุใบอนุญาต และ 4. มาตรการเด็ดขาดควบคุมการส่งออกน้ำตาลทรายขาว (โควตา ค) ด้วยการชะลอการส่งออกซึ่งขณะนี้รอส่งมอบอยู่ประมาณ 10 ล้านกระสอบ รวมกับน้ำตาลที่มีอยู่ในประเทศก็จะมีสูงกว่า 15 ล้านกระสอบ.

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์