สธ.เตือนคนพุงพลุ้ย ระวังโรคร้ายรุมเร้า

"รักษาไม่หายขาด โรคเมตะบอลิค ซินโดรม"


เมื่อวันที่ 3 ก.ย. นายสง่า ดามาพงศ์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ปัญหาสุขภาพของคนไทยและคนทั่วโลกนอกจากกำลังเผชิญกับการระบาดโรคไข้หวัดนกแล้ว ยังต้องเผชิญกับโรคภัยที่เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตของตัวเองด้วย เมื่อเป็นแล้วจะรักษายากและมักรักษาไม่หายขาด โรคที่ว่านั้น ทางการแพทย์เรียกว่า โรคเมตะบอลิค ซินโดรม (Metabolic syndrome)

เป็นโรคใหม่ที่กำลังมาแรงในศตวรรษที่ 21 นี้ ลักษณะเด่นของโรคดังกล่าวคือการอ้วนลงพุง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า พุงพลุ้ย หรือหุ่นอาเสี่ยที่คนสมัยก่อนชอบพูดกัน ซึ่งสมัยนี้ความอ้วนไม่ใช่สิ่ง บ่งบอกถึงฐานะอีกต่อไปแล้ว แต่ความอ้วนจะเป็นตัวทำนายอายุและสุขภาพในอนาคตได้ด้วย


"เป็นต้นเหตุ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด เบาหวาน หลอดเลือดตีบตัน"


นายสง่า กล่าวว่า จากการสำรวจพบ ว่าคนไทยอายุ 35 ปีขึ้นไปล่าสุดพบว่าในรอบ 5-6 ปีมานี้ พบว่าอ้วนลงพุงเกือบร้อยละ 30 หรือประมาณ 12 ล้านคน โดยผู้หญิงพบสูงถึงร้อยละ 50 ส่วนชายพบร้อยละ 21 กล่าวได้ว่าในกลุ่มคนไทยวัยนี้ ทุก 3 คนจะมีคนอ้วนลงพุง 1 คน พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นวัยที่ลูกหลานมักให้พักผ่อน โดยการอ้วนลงพุงจะเป็นต้นเหตุให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง

โรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดตีบตัน เนื่องจากเซลล์ไขมันส่วนเกินจะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนต่าง ๆ เข้าสู่กระแสเลือดผิดปกติ ส่งผลให้การทำงานของอวัยวะผิดปกติ โรคนี้มักพบร่วมกันและเป็นต้นเหตุให้หลอดเลือดแดงแข็งตัว ทำให้กล้ามเนื้อโดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจนอาจทำให้เสียชีวิตได้


"สาเหตุ ค่านิยมในการกิน ขาดการออกกำลังกาย"


โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า สาเหตุสำคัญที่สุดของการอ้วนลงพุง เกิดจากการที่คนไทยมีพฤติกรรมการกินการอยู่เปลี่ยนไปตามกระแสสังคม ชอบรับประทานอาหารที่มีเนื้อล้วน ๆ เช่น ไก่ย่าง หมูย่าง หมูอบ หรือกินคู่กับขนมปัง มีผักกาดหอมใส่แค่ใบเดียว หรือกินอาหารรสจัด และกินผักผลไม้น้อย หันไปใช้ยวดยานที่ใช้เครื่องยนต์และสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น ระยะทางในการเดินน้อยลง และขาดการออกกำลังกาย

ดังนั้นวิธีป้องกันไม่ให้อ้วนลงพุง ต้องหันกลับมาใช้ชีวิตที่ตรงกันข้ามคือเพิ่มการกินอาหารประเภทผักผลไม้ให้มากขึ้น ลดการกินอาหารรสหวาน มัน ออกกำลังกายทุกวัน โดยเฉพาะผู้อ้วนลงพุงและมีโรคเบาหวานแฝงอยู่ หากออกกำลังกายควบคู่กับการปรับพฤติกรรมการกิน จะสามารถยับยั้งไม่ให้โรคเบาหวานกำเริบได้


"เป็นโรคเรื้อรังและ อาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้"


ทั้งนี้โรคอ้วนลงพุงเป็นภาวะที่ร่างกายมีไขมันสะสมในบริเวณช่องท้องมากกว่าปกติ ซึ่งสามารถที่จะทราบได้โดยใช้เส้นรอบเอวเป็นตัวชี้วัด ในผู้ชายเอเชียรวมทั้งคนไทยมาตรฐานไม่ควรเกิน 90 ซม. หรือ 36 นิ้ว และในผู้หญิงไม่ควรเกิน 80 ซม. หรือ 32 นิ้ว และในการแก้ไขปัญหาอ้วนลงพุงของคนไทย กระทรวงจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ สสส. รณรงค์ให้คนไทยทุกคนที่ยังไม่เป็น และคนที่เป็นโรคแล้ว

ตระหนักถึงภัยร้ายของกลุ่มโรคดังกล่าว โดยได้ประชุมผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการกำหนดแนวทางการรณรงค์ในคน 4 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มคนที่ยังไม่อ้วน กลุ่มคนที่มีรอบเอวเกิน 80-90 ซม. หรือกลุ่มที่อ้วนลงพุงแต่ยังไม่เกิด กลุ่มคนที่มีรอบเอวเกิน 80-90 ซม. และเป็นโรคเรื้อรังดังกล่าว และกลุ่มคนที่อ้วนลงพุงมานานและมีโรคแทรกซ้อน ซึ่งการรณรงค์จะเริ่มในเดือนธันวาคม 2549 มุ่งเน้นที่การปรับพฤติกรรมการกินอาหารให้สมดุลกัน และการกระตุ้นการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ.


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์