กฟผ.หนุนชาวบ้านสร้างพลังงานชุมชุนนำร่อง 8 จังหวัดภาคใต้


             นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า ได้จัดทำโครงการการจัดการความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคใต้ โดยร่วมกับชาวบ้านและนักวิชาการ ศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน ตามศักยภาพของทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นบนพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อศึกษารูปแบบและโครงสร้างองค์กร เพื่อการพัฒนาและบริหารจัดการโรงไฟฟ้าชุมชนที่เหมาะสมกับท้องถิ่น


         โดยในขณะนี้ได้ข้อสรุปในการทำโรงไฟฟ้าชุมชนในรูปแบบเครื่องปั่นไฟฟ้าพลังน้ำจากน้ำตกใน 3 พื้นที่ คือ บ้านคลองเรือ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร และบ้านวังลุง อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช น้ำตก โตนงาช้าง จังหวัดสงขลา และจะมีการแจกพิมพ์เขียวรูปแบบโรงไฟฟ้าแก่ชาวบ้านในเร็วๆ นี้ กำลังผลิตไฟฟ้าพื้นที่ละประมาณ 40 กิโลวัตต์ ในขณะที่น้ำตกโตนงาช้างสามารถผลิตได้ถึง 200 กิโลวัตต์  


          นายมานพ ประทุมทอง นักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รูปแบบโรงไฟฟ้าดังกล่าว เกิดจากชาวบ้านเห็นความสำเร็จของโรงไฟฟ้าแม่กำปอง ที่การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าสามารถดำเนินการได้ควบคู่กับการรักษาป่าต้นน้ำ จึงต้องเห็นโรงไฟฟ้าชุมชนเกิดขึ้น นับเป็นการมีส่วนร่วม เป็นฉันทามติของชุมชนนั้นๆ ซึ่งรูปแบบเช่นนี้ในอนาคต ก็คาดว่าจะสามารถนำไปใช้กับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซธรรมชาติ นิวเคลียร์ หรือถ่านหิน


        “หากชุมชนเข้าใจเรื่องโรงไฟฟ้า มีฉันทามติยอมรับการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าใหม่ ก็คาดว่ารูปแบบเช่นนี้จะนำร่องให้เป็นแบบแผนแก้ปัญหาการต่อต้านโรงไฟฟ้าได้ในอนาคต” นายมานพกล่าว


            ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว ครอบคลุม 8 จังหวัดได้แก่ จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ พัทลุง ตรัง สตูล และสงขลา โดยนักวิชาการศึกษาร่วมกับชาวบ้าน เป็นการพัฒนาเครือข่ายชาวบ้าน และสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการและพัฒนาพลังงานทั้งด้านการผลิตและการอนุรักษ์พลังงานไฟฟ้า เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนาเชื้อเพลิงท้องถิ่นที่เหมาะสมกับการใช้งานในอุตสาหกรรมชุมชน โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมจากชุมชน ซึ่งนอกจากจะสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนแล้ว ยังมีการส่งเสริมเรื่องการผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่ง การวิจัยและพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกที่ใช้วัสดุในท้องถิ่นและถ่านหินลิกไนต์ในชุมชน เพื่อทดแทนการใช้ฟืนในเตาความร้อนสำหรับห้องรมยางแผ่น
รวมทั้งการแก้ไขมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมจากการผลิตยางแผ่น และการขยายผลวิจัยเทคโนโลยีการผลิตก๊าซชีวภาพจากบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงผลิตยางแผ่นรมควัน มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงาน การติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพในโรงงานผลิตยางแผ่นรมควันยาง เป็นต้น.


เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์