ฉวยโอกาสพาณิชย์เผลอโขกผู้บริโภคฟาร์มขายราคาเดิมแฉเขียงหมูตัวแสบ
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า มีผู้บริโภคร้องเรียนผ่านสายด่วนแม่บ้าน 1569 ถึงปัญหาการจำหน่ายเนื้อสุกรในเขตกรุงเทพฯ มีราคาแพงกว่าราคาแนะนำที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดถึง กก.ละ 5-10 บาท โดยมีราคาสุกรเนื้อแดงชำแหละส่วนตะโพกเฉลี่ย กก.ละ110-120 บาท เนื้อแดงชำแหละส่วนไหล่ กก.ละ 110-115 บาท และเนื้อสามชั้น กก.ละ 110-120 บาท ขณะที่ราคาแนะนำของกระทรวงพาณิชย์ที่ประกาศเมื่อ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา กำหนดราคาเนื้อแดงตะโพกที่ กก.ละ 105-110 บาท เนื้อแดงส่วนไหล่ กก. ละ 100-105 บาท
ก่อนหน้านี้ช่วงเดือน ก.ค. นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้เข้ามาแก้ปัญหาเนื้อสุกรราคาแพงแล้วครั้งหนึ่ง ด้วยการปรับสูตรคำนวณราคาเนื้อหมูใหม่ เป็นราคาหมูเป็นบวกกำไร 10% เท่ากับราคาหมูซีก และจากราคาหมูซีกบวกกำไร 7% เป็นราคาขายปลีกในท้องตลาด พร้อมกับประกาศราคาแนะนำออกมา
ทั้งนี้ทำให้ราคาขายปลีกตามตลาดสดหลายแห่งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดในช่วงนั้นปรับลดเท่ากับราคาแนะนำ กก.ละ 100-110 บาท เช่น พรานนก ดาวคะนอง บางปะกอก คลองเตย บางแค แต่ให้หลังจากนั้นเพียง 1 เดือนเศษ ราคาขายปลีกเนื้อสุกรก็ปรับขึ้นเกินราคาที่กำหนดอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าแปลกเพราะขณะนี้เข้าสู่หน้าฝนและไม่ใช่ฤดูกาลที่หมูจะปรับขึ้นราคาแต่ราคาก็ยังกลับขึ้นมา
แหล่งข่าวจากผู้ค้าส่งสุกรแจ้งว่า ขณะ นี้ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์ม ยังไม่มีการปรับราคาขึ้น โดยขายเฉลี่ย กก.ละ 55-57 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ทรงตัวต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์แล้ว ดังนั้นการขึ้นราคาขายปลีกหมูเนื้อแดงในตอนนี้จึงไม่มีสาเหตุจากต้นทุนหมูเป็นที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นไปได้ว่าราคาที่เพิ่มน่าจะมาจากกลุ่มพ่อค้าหน้าเขียง โดยต้นทุนหมูเป็นในขณะนี้หากคำนวณตามสูตรใหม่น่าจะขายได้ในราคา กก. ละ 100-110 บาท ตามประกาศราคาแนะนำที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดได้
“ในเมื่อมีการแจ้งว่าเกิดการค้ากำไรเกินควรถือเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์เข้าไปตรวจสอบว่ามีสาเหตุจากจุดไหน โดยต้นทุนหมูเป็นที่ กก.ละ 55-57 บาท ถ้าหน้าเขียงแบ่งขายปลีก กก.ละ 105-110 บาท สามารถทำกำไรได้ตัวละ 700-800 บาท ซึ่งเป็นกำไรที่มากพอต่อการทำธุรกิจ เพราะก่อนหน้านี้หน้าเขียงจะมีกำไรเพียงตัวละ 500-600 บาทเท่านั้น แต่ถ้าขายปลีก กก.ละ 120 บาท จะมีกำไรเพิ่มเป็นตัวละเกือบ 2,000 บาท ซึ่งถือเป็นกำไรที่สูงมาก”.