การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ก่อนกำหนดของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 30 ส.ค. เป็นไปตามความคาดหมาย เมื่อเอ็กซิท โพลชี้ชัด พรรคประชาธิปัตย์ (ดีพีเจ) ฝ่ายค้าน สามารถกวาดที่นั่ง ส.ส. ในรัฐสภาได้อย่างถล่มทลาย ยุติการผูกขาดเป็นรัฐบาล เกือบตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีของพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ได้อย่างสวยงาม
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ว่า พรรคประชาธิปัตย์ (ดีพีเจ) ชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของญี่ปุ่น
ที่มีขึ้นเมื่อ วันที่ 30 ส.ค. อย่างถล่มทลาย ตามความคาดหมายของโพลแทบทุกสำนักก่อนหน้านี้ โดยจากการประเมินเบื้องต้นของสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคของทางการญี่ปุ่น คาดว่าพรรคดีพีเจแนวกลาง-ซ้าย จะได้ที่นั่งระหว่าง 298 - 329 ที่นั่ง จากทั้งหมด 480 ที่นั่งในรัฐสภา ขณะที่พรรค เสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ที่ผูกขาดบริหารประเทศ เกือบตลอด 5 ทศวรรษ คาดว่าจะได้ราว 84-131 ที่นั่ง ส่วนสถานีโทรทัศน์อาซาฮีคาดว่าพรรคดีพีเจจะได้ 315 ที่นั่ง และแอลดีพีได้เพียง 100 ที่นั่ง จากเดิมที่ทั้งสองพรรคมีจำนวน ส.ส. ในรัฐสภาก่อนการเลือกตั้ง 115 ที่นั่ง และ 300 ที่นั่งตามลำดับ
หลังปิดหีบหย่อนบัตรลงคะแนน และมีการประกาศผลการสำรวจหน้าคูหาเลือกตั้ง นายยูคิโอะ ฮาโตยามะ
เปิดแถลงข่าว ณ ที่ทำการพรรคในกรุงโตเกียว โดยได้กล่าวขอบคุณประชาชน ที่ออกไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียง และคะแนนเสียงสนับสนุนที่มีต่อพรรคดีพีเจ และว่าผลการ เลือกตั้งแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมศรัทธาอย่างหนักของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลของพรรคแอล ดีพี ส่วนนายกรัฐมนตรีทาโร อาโสะ ในฐานะผู้นำ พรรคแอลดีพี ประกาศว่า จะลาออกจากตำแหน่งผู้นำพรรค เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความพ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้
ด้านปฏิกิริยาเบื้องต้นจากนักวิเคราะห์ นายมาซาชิ โอกาโมโตะ จากบริษัทหลักทรัพย์จูจิยะ ให้ความเห็นว่า นักลงทุนต่างชาติอยากได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ
และอาจวิตกที่พรรคดีพีเจครองเสียงข้างมากเด็ดขาดในรัฐสภา ส่วนกระแสตอบรับของตลาดหุ้นที่ขึ้นเร็วในวันนี้ อาจจะจางหายไปในเช้าวันพรุ่งนี้ก็เป็นได้ ดังนั้น หากพรรคดีพีเจทำให้ประชาชนผิดหวังหลังได้เป็นรัฐบาล พรรคแอลดีพีอาจได้กลับมาอีกครั้ง ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ที่จะมีขึ้นในช่วงฤดูร้อนปีหน้า
ขณะที่นายลี มยอง-วู ผู้เชี่ยวชาญการเมืองญี่ปุ่น แห่งสถาบันแจซองในกรุงโซลเกาหลีใต้ ชี้ว่า ถือเป็นการปฏิวัติญี่ปุ่นอย่างสมบูรณ์ผ่านการเลือกตั้ง
แต่ก็ยากจะระบุได้ว่ารัฐบาลใหม่ญี่ปุ่น ภายใต้การนำของนายฮาโตยามะวัย 62 ปี จะมีเสถียรภาพหรือไม่ เนื่องจากสมาชิกพรรคประกอบด้วยคนหลากหลายแนวคิด ส่วนนายเจอร์รี่ เคอร์ติส อาจารย์มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในสหรัฐ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่พรรคแอลดีพีแพ้เลือกตั้ง แต่อยู่ที่การสิ้นสุดระบอบการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในญี่ปุ่น เพราะเป็นครั้งแรกที่พรรคการเมืองอื่นที่ไม่ใช่ พรรคแอลดีพีได้ครองเสียงข้างมากในสภาไดเอ็ท หรือสภาผู้แทนราษฎร เป็นการสิ้นสุดยุคอันยาวนานของแอลดีพี และเริ่มต้นยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน.