สืบคดีบินไทยตก นักบินให้การแฉ แจ้งแล้วไม่ซ่อม

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 30 ส.ค.


ที่ศาลแพ่ง ศาลนัดสืบพยานโจทก์ในคดีที่นาวาอากาศโทหญิง รัชนีวรรณ เวชศิลป์ ภรรยา พร้อมครอบครัวของเรืออากาศเอกพินิจ เวชศิลป์ อดีตกัปตันบริษัทการบินไทย ซึ่งเป็นนักบินที่ 1 ผู้ควบคุมเครื่องแอร์บัส เอ 310-204 ไปประสบอุบัติเหตุตกถึงแก่ความตาย ที่ จ.สุราษฎร์ธานี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 41 ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) นายกนก อภิรดี กก.ผอ.ใหญ่บริษัทการบินไทย นายธรรมนูญ หวั่งหลี อดีต กก.ผอ.ใหญ่ บริษัทการบินไทย เรืออากาศโท ชูศักดิ์ พาชัยยุทธ นาวาอากาศโท ศุภชัย ลิมปิสวัสดิ์ พันจ่าอากาศเอก กอบชัย ศรีวิลาศ และนายพิสิฐ กุศลาไสยานนท์ อดีต กก.ผอ.ใหญ่ บริษัท การบินไทย ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-7 ตามลำดับ ในความผิดเรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหายจำนวน 130,550,137.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

โดยนัดนี้ทนายโจทก์ได้นำ เจมส์-เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์


นักร้องชื่อดัง กรรมการผู้จัดการค่าย ไอดี เรคคอร์ด ในเครือบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ที่รอดชีวิตจากการร่วมเดินทางไปกับเที่ยวบินดังกล่าว กับนักบินในฐานะผู้เชี่ยวชาญเครื่องบินขึ้นเบิกความถึงความขัดข้องเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าเครื่องบินขึ้นเบิกความเป็นพยานโจทก์ ด้วย โดยศาลไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวบันทึกคำให้การของพยานในห้องพิจารณาคดี หลังเสร็จสิ้นการเบิกความ เจมส์-เรืองศักดิ์ นักร้องคนดัง เปิดเผยว่า เดินทางมาตามหมายเรียกของศาลที่ให้ขึ้นเบิกความเป็นพยานในฐานะที่อยู่ ร่วมในเหตุการณ์เครื่องบินตก โดยเบิกความไปตามเหตุการณ์ ที่ประสบมา สำหรับในวันเกิดเหตุกัปตันไม่สามารถนำเครื่องลงที่สนามบิน จังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ เนื่องจากสภาพอากาศเลวร้าย โดยมีการแจ้งเตือนให้ผู้โดยสารทราบพร้อมให้รัดเข็มขัดนิรภัย ระหว่างนั้นเครื่องบินบินวนประมาณ 2 รอบ กัปตันแจ้งว่า หากไม่สามารถนำเครื่องลงได้จะต้องบินกลับไปที่กรุงเทพฯ ทำให้ผู้โดยสารในเครื่องใช้โทรศัพท์มือถือกันอย่างชุลมุน จนกระทั่งในการบินวนรอบที่ 3 เครื่องบินประสบอุบัติเหตุตกลง เจมส์-เรืองศักดิ์กล่าวด้วยว่า หลังจากรอดชีวิตมาได้ราวปาฏิหาริย์ ทางบริษัทการบินไทย ได้ช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลให้ ส่วนเรื่องตั๋วเครื่องบินฟรีตลอดชีวิตนั้นไม่ทราบเรื่อง แต่มีหลายคนถามเหมือนกันว่าได้รับหรือไม่ แต่ทั้งนี้ไม่ต้องการเรียกร้อง เพราะรอดชีวิตจากเครื่องบินตกมาได้ถือว่าเป็นเรื่องดีที่สุดแล้ว อย่างไรก็ตาม ขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่สูญเสียบุคคลผู้เป็นที่รักในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย และหวังว่าคดีความที่เกิดขึ้นจะจบลงด้วยดี

ด้านนักบิน (ขอสงวนนาม) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องบินเปิดเผยว่า


เบิกความเกี่ยวกับการซ่อมแซม เครื่องบิน แอร์บัส เอ 310-204 ลำเกิดเหตุว่า ก่อนเกิดเหตุประมาณ 4 เดือน มีการซ่อมบำรุงเครื่องบินลำดังกล่าวครั้งใหญ่ แต่หลังจากนั้นระบบไฟฟ้าส่วนหลักของเครื่องบินยังคงมีปัญหาและยังมีส่วนที่ขัดข้องอีกหลายจุด และมีการแจ้งซ่อมแซมแล้ว แต่กลับไม่ได้รับการซ่อมแซมปรับปรุงให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ตามปกติ จึงเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว ทั้งนี้ มีหลักฐานเป็นเอกสารใบแจ้งการซ่อมแซม เครื่องบินดังกล่าว ส่วนประเด็นที่ผู้โดยสารใช้โทรศัพท์ มือถือบนเครื่องบินนั้น อาจจะมีผลกระทบบ้างแต่คิดว่าคงไม่ถึงขั้นที่ทำให้เครื่องบินตก เนื่องจากปัญหาหลักจากระบบไฟฟ้าที่ไม่สมบูรณ์

ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องบินพยานโจทก์ยังกล่าวอีกว่า


สำหรับเครื่องบินรุ่นนี้ การบินไทยใช้งานมาแล้วราว 12 ปี นำเข้ามาใช้งานด้วยกัน 3 ลำ ลำแรกได้ประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกที่กาฐมานฑุ ประเทศเนปาล ต่อมาลำที่ 2 เกิดอุบัติเหตุที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากนั้นการ บินไทยจึงขายเครื่องบินลำที่ 3 ไป

สำหรับคดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งว่า


โจทก์ เป็นทายาทโดยชอบธรรมของเรืออากาศเอกพินิจ ซึ่งเป็นนักบินที่ 1 ผู้ควบคุมเครื่องบินโดยสาร แอร์บัส เอ 310-204 โดยเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.41 ประสบอุบัติเหตุเครื่องตกที่ จ.สุราษฎร์ธานี ทำให้มีผู้โดยสารเสียชีวิตจำนวนมากรวมทั้งนักบินด้วย ซึ่งเครื่องบินลำดังกล่าวมีอายุการใช้ งานมากว่า 10 ปี มีข้อบกพร่องทางเทคนิคมานาน ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องตรวจหาสาเหตุข้อบกพร่องตามขั้นตอนและวิธีทางเทคนิคที่กำหนดไว้ และหากตรวจพบข้อบกพร่องใดๆ ก็ไม่ควรให้เครื่องทำการ แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่ตรวจหาสาเหตุข้อบกพร่องตามขั้นตอนวิธีทางเทคนิคที่กำหนดไว้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเหตุให้เครื่องบินตก โดยจำเลยที่ 1 แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า สาเหตุที่เครื่องตกเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากความผิดพลาดของนักบิน จึงทำให้ ร.อ.พินิจ ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วจากเหตุการณ์ดังกล่าวต้องเสียชื่อเสียงในฐานะที่เป็นนักบินควบคุมเครื่อง

ภายหลังโจทก์ทั้ง 4 พบความจริงว่า


เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นเพราะความบกพร่องของเครื่องบิน ดังนั้น จึงนำคดีมายื่นฟ้อง เพื่อให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้ง 7 ต้องร่วมกันรับผิดกรณีละเมิดดังกล่าวโดยชดใช้เป็นเงินค่าเสียหาย ที่ ร.อ.พินิจถูกทำให้ตาย, ค่าเสียหายต่อชื่อเสียง, ค่าขาดไร้อุปการะ และค่าเสียหายทางจิตใจ รวมทั้งสิ้น 130,550,137.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

แหล่งที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์