โตเกียว 20 ส.ค. - ทีมนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นค้นพบยีนที่ทำให้ข้าวสามารถเจริญเติบโตได้ในน้ำลึก ก่อให้เกิดความหวังว่าจะทำให้ข้าวในพื้นที่ลุ่มซึ่งมักได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมีปริมาณผลผลิตมากขึ้น
ทีมนักวิทยาศาสตร์ซึ่งส่วนใหญ่มาจากมหาวิทยาลัยนาโงยารายงานการค้นพบในนิตยสารวิทยาศาสตร์เนเจอร์ฉบับวันนี้
โดยระบุว่าพบยีนที่เรียกว่า สนอร์เกิล ซึ่งช่วยให้ข้าวมีลำต้นยาวขึ้นเพื่อให้อยู่รอดในระดับน้ำสูง และแม้ข้าวที่เติบโตได้ในน้ำลึกมักจะให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ แต่คณะนักวิจัยรายงานว่า ประสบความสำเร็จในการใช้ยีนดังกล่าวในข้าวต่างสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ซึ่งช่วยให้ลำต้นของข้าวชนิดนี้โตเร็วขึ้น และอยู่รอดได้ในน้ำท่วม
นายโมโตยูกิ อาชิการิ หัวหน้าคณะวิจัย กล่าวว่า คณะวิจัยหวังว่าจะใช้ยีนสนอร์เกิลกับข้าวเมล็ดยาว
ซึ่งปลูกกันมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อช่วยให้ปริมาณผลผลิตข้าวในพื้นที่น้ำท่วมมีความคงที่ นอกจากนี้ทีมวิจัยยังประสบความสำเร็จในการทดลองยีนตัวนี้กับข้าวญี่ปุ่น และทีมมีแผนจะผลิตข้าวเมล็ดยาวที่ทนต่อน้ำท่วมภายในเวลา 3-4 ปี สำหรับปลูกในประเทศเวียดนาม ไทย พม่า บังกลาเทศ และกัมพูชา
ข้าวเป็นอาหารหลักของคนหลายพันล้านคนทั่วโลก โดยกว่าร้อยละ 30 ของข้าวในเอเชีย
และร้อยละ 40 ของข้าวในแอฟริกา เป็นข้าวที่เพาะปลูกในนาที่ลุ่มน้ำท่วมถึง หรือน้ำลึก นักวิชาการแห่งสถาบันชีววิทยาสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยอูเทรกท์ในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งไม่ได้อยู่ในคณะวิจัย กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากข้าวที่ให้ปริมาณผลผลิตต่อไร่สูงนั้นมักไม่สามารถอยู่รอดจากน้ำท่วมรุนแรงได้. -สำนักข่าวไทย