แพทย์จุฬาระบุหากป่วย 20 ล้านเกิดภูมิคุ้มกัน
หามด่วน"คุณหญิงหน่อย" สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เข้า รพ.บำรุงราษฎร์ สามียอมรับติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ครวญ ป้องกันอย่างดียังติดได้ หมอจุฬาฯ ระบุ หากคนไทยป่วยหวัดพันธุ์ใหม่ 20 ล้านคน จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เชื้อแพร่ระบาดไม่ได้ ด้านสำนักระบาดเผย ผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัดใหญ่ ไป รพ. 1.3-1.5 ล้านคนต่อวัน สธ.แถลง “หวัด 2009” ตายอีก 16 ยอดพุ่ง 81 ราย แฉ 4 รายไม่มีโรคประจำตัว “หมอไพจิตร์” เผย แรงงาน-เกษตรกร ป่วยเพิ่มขึ้น ด้านสามเณรเมืองปากน้ำโพ ป่วยเป็นไข้นอนสั่นเต็มศาลาเกือบ 100 รูป ยังไร้หน่วยงานดูแล สธ. ส่งทีมแพทย์ติดตามอาการใกล้ชิดเด็กสถานสงเคราะห์วัดสระแก้ว อ่างทอง ส่วนกรณี “กาฬโรคปอด” กรมควบคุมโรคสั่ง 64 ด่าน จับหนูตรวจหมัดป้องกันเชื้อเข้าประเทศ รอสัญญาณ “ฮู” ก่อนใช้มาตรการเข้มกักตัวชาวจีนมาจากพื้นที่ระบาด ยันกาฬโรคไม่มาไทย มั่นใจไม่ระบาดง่ายเหมือนหวัดสายพันธุ์ใหม่ ด้านกรมควบคุมโรค ส่งทีมสัตวแพทย์ดักจับหนูท่าเรือคลองเตย
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เมื่อเวลา 11.15 น. วันที่ 5 ส.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลกหยุดการรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด เอ (เอช 1 เอ็น 1) หรือโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 สะสมแล้ว เพราะไม่สะท้อนสภาพเป็นจริง โดยในส่วนประเทศไทย จากการคำนวณทางระบาดวิทยา คาดว่าขณะนี้มีผู้ป่วย 3.5-5 แสนคน ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลจะมีแค่ส่วนน้อย แต่เราไม่ประมาทเพราะอาจมีผู้ป่วยหนักเพิ่มมากขึ้นได้ ทั้งนี้จากแนวโน้มการระบาดใน กทม. ชะลอตัวลง ขณะที่ภูมิภาคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ในกลุ่มอายุ 6-10 ขวบ และ 11-20 ปี มีผู้ป่วยชะลอตัวลง แสดงให้เห็นว่ามาตรการของ กระทรวงศึกษาธิการ ในการคัดกรองเด็กนักเรียนป่วย เริ่มมีผลและมาถูกทาง
นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่าในกลุ่มแรงงานที่เป็นภาคธุรกิจย่อย และเกษตรกรมีแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งมาตรการรัฐบาลที่ขอให้ผู้ป่วยอยู่บ้านไม่ถือเป็นวันลา เป็นมาตรการที่ยังต้องดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค.-2 ส.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 16 ราย ชาย 9 ราย หญิง 7 ราย ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 5 ราย ในจำนวน ร้อยละ 75 คือ 12 ใน 16 ราย มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หอบหืด อ้วน สูบบุหรี่จัด และหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด และเป็นหญิงตั้งครรภ์ 1 ราย ทั้งนี้ที่เหลือ 4 ราย เป็นผู้ป่วยที่ไม่มีโรคประจำตัวมาก่อน สุขภาพร่างกายปกติ และหากดูสถานการณ์ทั่วโลก ผอ.องค์การอนามัยโลก ยืนยันว่าในผู้ที่มีสุขภาพดีก็เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้เช่นกัน ทั้งนี้เมื่อรวมกับผู้เสียชีวิตก่อนหน้านี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 81 ราย
ด้าน รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้เชี่ยวชาญกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการติดตามการใช้ยาโอเซลทามิเวียร์ พบว่าเชื้อ เอช 1 เอ็น 1 ที่เป็นเชื้อหวัด 2009 ยังไม่มีรายงานการดื้อยา ดังนั้นการให้ยาโอเซลทามิเวียร์ เดี่ยว ๆ ยังได้ผลดี แต่ในกลุ่มไข้หวัดตามฤดูกาลที่เป็นเชื้อเอช 1 เอ็น 1 เช่นกัน ขณะนี้ดื้อต่อยาโอเซลทามิเวียร์ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่ยาซานามิเวียร์ที่เป็นยาพ่นยังใช้ได้ผลอยู่ ซึ่งผู้ป่วยหวัด 2009 ในรายที่แพทย์สั่งให้ยาทั้งโอเซลทามิเวียร์ และซานามิเวียร์ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยภาวะวิกฤติเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายที่ต้องเร่งรักษา ไม่สามารถรอผลจากห้องปฏิบัติการว่าเป็นเชื้อเอช 1 เอ็น 1 ตัวใหม่หรือตัวเก่า จึงต้องให้ยาทั้ง 2 รายการควบคู่กัน แต่ยาซานามิเวียร์มีปัญหาตรงที่ใช้ยากเพราะเป็นยาพ่น ขณะที่ยาโอเซลทามิเวียร์ที่ใช้กันมากขณะนี้เริ่มเห็นผลข้างเคียงแล้ว ในประเทศอังกฤษพบเด็กเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยานี้ถึงร้อยละ 50 จากอาการคลื่นไส้ อาเจียน
หน่อย-สุดารัตน์ติดหวัด 09
นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์ การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ในวันที่ 5 ส.ค. นี้ ได้ประชุมกับโรงพยาบาลเหล่าทัพ ทั้งทหารเรือ บก อากาศ และตำรวจ เพื่อตรวจสอบการกระจายยาต้านไวรัส เพราะที่ผ่านมา มีการคำนวณแค่ในส่วนของพลเรือน จึงต้องพิจารณากระจายยาให้ทั่วถึง เราไม่ห่วงว่ายาจะไม่เพียงพอ เพราะที่กระจายไป 2 ล้านเม็ด ก่อนหน้านี้ เพิ่งจะเริ่มจ่ายจริงไม่มาก โดยเฉพาะในคลินิกเพิ่งจะได้ไม่ถึงสัปดาห์ ทั้งนี้ อภ.จะเร่งกำลังการผลิตยาต้านไวรัสสำหรับเด็กชนิดแคปซูล 1 ล้านแคปซูล 2 ขนาด คือ 30 และ 45 มิลลิกรัม คาดว่าสัปดาห์หน้าจะได้สินค้า และจะผลิตเป็นชนิดน้ำเชื่อมด้วย แม้ว่าคุณสมบัติของยาน้ำจะไม่คงที่ก็ตาม
ด้าน นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังเป็นช่วงขาขึ้นอยู่ แม้การระบาดในกรุงเทพฯ จำนวนผู้ป่วยจะลดลง แต่ต่างจังหวัดพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันจากที่ระบาดอยู่ในกลุ่มนักเรียน หรือในโรงเรียน ปรากฏว่า ขณะนี้การระบาดได้กระจายเข้าสู่ในครัวเรือน ทำให้พ่อแม่ลูก และพี่น้องในครอบครัว รวมไปถึงญาติผู้ป่วยติดโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 กันในครอบครัว สำหรับตัวเลขผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัดใหญ่ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลปัจจุบัน จะอยู่ที่ประมาณ 1.3-1.5 หมื่นคนต่อวัน ต่ำกว่าสัปดาห์ก่อนซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1.8 หมื่นคน ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมในรอบสัปดาห์นี้ 16 คน มีคนเป็นโรคอ้วน 5 คน หญิงตั้งครรภ์ 1 คน สำหรับตัวเลขผู้เสียชีวิตสะสม 81 รายนั้นมีหญิงตั้งครรภ์ทั้งสิ้น 4 ราย
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการพูดคุยของนักวิชาการคาดการณ์ว่า หากคนไทยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 1 ใน 3 ของ ประชากร หรือประมาณ 20 ล้านคน จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) คนที่ไม่ป่วยด้วยโรคนี้ก็จะได้รับภูมิคุ้มกันไปด้วย เนื่องจากคนที่ป่วยหรือติดเชื้อแล้ว ที่อยู่ ๆ รอบคนไม่ป่วยจะแพร่เชื้อไปสู่คนที่ยังไม่ป่วยไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีคนติดเชื้อจำนวนมาก หรือได้รับวัคซีน แต่ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และถ้าจะปล่อยให้คนไทยป่วยถึง 20 ล้านคนจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะโรงพยาบาล หรือระบบสาธารณสุขของประเทศไทยคงรับไม่ไหว เนื่องจากคนจะแห่ไปโรงพยาบาล สิ่งที่ทำได้คือชะลอการระบาดออกไปให้ได้มากที่สุด
ส่วนสถานการณ์ในต่างจังหวัด เริ่มที่ จ.เชียงใหม่ นายยงยุทธ อุ่ยประภัสสร รองปลัดเทศบาลนครเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 มีเจ้าหน้าที่ อสม.ชุมชนต่าง ๆ ในเขตเทศบาล นครเชียงใหม่ ร่วมงานกว่า 200 คน ภายในงานมีการอบรมให้ความรู้ แจกอุปกรณ์ป้องกันโรค มีหน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ที่ วัดคีรีวงศ์ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสามเณรที่บวชเรียนหนังสือในโรงเรียนคีรีวงศ์วิทยา สถานศึกษาในพุทธศาสนาที่ตั้งอยู่ในวัดคีรีวงศ์ รวม 73 รูป ได้ล้มป่วยเป็นไข้หวัดแทบจะยกวัด นอนห่มผ้าเหลืองเรียงรายอยู่บนศาลา จับไข้หนาวสั่นอย่างน่าเวทนา ด้านสามเณรสงกรานต์ แก้วอ่ำ หัวหน้าห้อง หรือสามเณรพี่เลี้ยง เปิดเผยว่า สามเณรทั้ง 73 รูป มีอาการป่วยไข้ตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา ทางโรงเรียนจึงสั่งปิดการเรียนการสอนชั่วคราว ให้ผู้ที่ไม่มีอาการป่วยออกจากวัดให้หมด ส่วนสามเณรที่ป่วยให้มานอนรวมกันที่ศาลาวัด รอแพทย์และพระผู้ใหญ่มาดูอาการต่อไป
ที่ จ.อ่างทอง นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้า การป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่สถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าและยากจน วัดสระแก้ว อ.ป่าโมก หลังมีเด็กป่วยพร้อมกันจำนวนมากเมื่อวันที่ 4 ส.ค. ว่า กระทรวงฯ ให้โรงพยาบาลป่าโมก และสำนักงานสาธารณสุข จ.อ่าง ทอง ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจคัดกรองเด็กนักเรียนทั้งหมด 1,200 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กกำพร้า และยากจนที่พักอยู่ในสถานสงเคราะห์ประมาณ 800 คน เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ผลการตรวจพบว่า มีเด็กนักเรียนป่วยเป็นไข้หวัดทั้งหมด 150 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กประถม มีอาการป่วยเล็กน้อย เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ ในจำนวนนี้แพทย์ให้กินยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ รวม 29 คน และรับตัวเด็กที่มีไข้สูงไว้รักษาในโรงพยาบาลป่าโมก 11 คน ที่เหลือให้กลับไปพัก
สังเกตอาการที่สถานสงเคราะห์ โดยแยกนอนไม่ปะปนกับเด็กอื่น ๆ มีพี่เลี้ยงดูแลใกล้ชิด
ด้าน นายชิดพงษ์ ฤทธิประศาสน์ ผวจ. ร้อยเอ็ด เป็นประธานปล่อยขบวนรถประชาสัม พันธ์ ออกรณรงค์ทำความสะอาดและป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ออกจากหน้าศาลากลาง จ.ร้อยเอ็ด ตระเวนไปตามแหล่งชุมชน ร้านเกม อินเทอร์เน็ต โรงแรม โรงเรียนกวดวิชา ห้างสรรพสินค้า ทั่วเมืองร้อยเอ็ด
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่า องค์การอนามัยโลก (ฮู) แถลงว่าจากข้อมูลล่าสุดที่องค์การอนามัยโลกได้รับถึงวันที่ 5 ส.ค. ยอดผู้เสียชีวิตจากผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เพิ่มขึ้นเป็นทั้งหมด 1,154 รายแล้ว นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานับถึงวันศุกร์ มีรายงานผู้เสียชีวิตมากถึง 338 ราย แยกเป็นผู้เสียชีวิต 300 ราย ในภูมิภาคอเมริกา ซึ่งหากนับเฉพาะภูมิภาคนี้มีผู้เสียชีวิตรวมกันแล้ว 1,008 ราย นอกจากนั้นองค์การอนามัยโลก ยังไม่พบการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสในรูปแบบที่เป็นอันตรายกว่านี้ แต่พบว่ามีผู้ป่วย 6 คน มีอาการดื้อยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ สำหรับผู้ติดเชื้อที่ได้รับการตรวจสอบแล้วมีจำนวน 162,380 คน ใน 168 ประเทศทั่วโลก
ส่วนการระบาดของกาฬโรคปอดในประเทศจีน ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นพ. ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.สมชัย นิจพานิช รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผอ.สำนักโรคติดต่อทั่วไป และ นพ.ภาสกร อัครเสวี ผอ.สำนักระบาดวิทยา ร่วมกันแถลงข่าว “กาฬโรคปอด” ที่มีการระบาดในประเทศจีน จนมีการสั่งปิดเมืองจื่อเคอถาน ในมณฑลชิงไห่ เพื่อป้องกัน กาฬโรคปอดแพร่ระบาด
นพ.ม.ล.สมชาย กล่าวว่า “กาฬโรคปอด” ที่ระบาดในจีน เป็น 1 ใน 5 โรคติดต่อร้ายแรง ที่เหลือคือ อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ ไข้เหลือง และโรคซาร์ส ที่ด่านควบคุมโรค 64 แห่งทั่วประเทศต้องควบคุมอย่างเข้มงวด จึงสั่งการให้ด่านทั้ง 64 แห่งทั่วประเทศ จับหนูบริเวณด่านที่อาจติดมาจากจีน โดยเฉพาะทางเรือ และเก็บตัวอย่างหนูมาตรวจหาหมัด เรียกว่า “ดัชนีหมัด” เนื่องจากหมัดหนูจะเป็นพาหะแพร่เชื้อ เริ่มที่สนามบินสุวรรณภูมิ ที่มีคนผ่านเข้าออกจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังรอสัญญาณจากองค์การอนามัยโลก ว่าจะประกาศ ให้โรคดังกล่าวเป็นโรคติดต่อร้ายแรงระหว่างประเทศหรือไม่ หากประกาศทางกระทรวงสาธารณสุขไทย จะออกประกาศตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2523 เพื่อกักตัวคนที่เดินทางมาจากเมืองที่มีการระบาดได้
นพ.ม.ล.สมชาย กล่าวต่อว่า กาฬโรคจะมาประเทศไทยได้ 2 ทาง คือมากับคน และมากับหนูที่มาทางเรือ แต่หนูต้องมีหมัดด้วย ดังนั้นถ้ามีคนป่วยจากจีนเดินทางเข้าไทย โดยเฉพาะมาจากเมืองที่มีการระบาดคงเป็นไปได้ยาก เพราะผู้ป่วยจะแสดงอาการ ขณะเดียวกันทางการจีนคงไม่อนุญาตให้คนที่มีบ้านอยู่ในพื้นที่ระบาดเดินทาง และหากมาประเทศไทยก็จะมีการเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด สำหรับเนื้อหนูนั้น แม้จะไม่มีรายงานว่ามีการรับประทานเนื้อหนูแล้วติดโรค ต่าง ๆ แต่ส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรรับประทาน และ ไม่ควรเลี้ยงสัตว์ฟันแทะที่เป็นพาหะแพร่เชื้อ
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวด้วยว่าทีมสัตวแพทย์กรมควบคุมโรค จะเริ่มจับหนูในด่านควบคุมโรคคลองเตย เป็นการทำพร้อมกับอีกหลายด่านตรวจทั่วประเทศ 64 ด่าน แต่ให้เน้น ย้ำท่าเรือคลองเตย ท่าเรือเชียงแสน และท่าเรือ จ.สงขลา ซึ่งมีการขนส่งสินค้าจากจีนเข้ามาบ่อยครั้ง ส่วนการไล่จับหนูของประชาชน มีข้อควรระวังว่าการจับต้องใส่ถุงมือถุงเท้ามิดชิด เพราะหมัดหนูอาจจะกระโดดใส่ได้หากหนูตาย ตามธรรมชาติเมื่อหนูตายหมัดจะกระโดดหนี โดยหนู 1 ตัว จะออกลูกทุก 20 วัน และหลังออกลูก 2 วัน ก็ท้องใหม่ได้อีก หนูแต่ละชนิดมีชีวิตได้นานถึง 2 ปี อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ใช้ยาเบื่อหนู เพราะซากหนูจะไปตายในที่แคบ ทำให้เหม็น ก่อความรำคาญแก่ผู้อยู่อาศัย จึงควรใช้กรงดักจะดีที่สุด เมื่อได้หนูมาแล้วควรฝังหรือเผาทำลาย อย่าปล่อยวางไว้
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาการแพร่ระบาดของโรคกาฬโรคในประเทศจีน ว่า ตนมอบให้กรมควบคุมโรคเฝ้าระวัง และติดตามการกระจายตัวในประเทศจีนอยู่ตลอดเวลา และให้รายงานให้ประชาชนทราบเป็นระยะ เบื้องต้น ทราบว่าโรคดังกล่าวค่อนข้างแพร่ไปได้ยาก เพราะ ผู้ป่วยจะมีอาการเด่นชัด แต่หากไม่เข้าสู่ระบบการรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยก็จะเสียชีวิตเร็วมาก ดังนั้นโอกาสที่จะแพร่กระจายไปสู่คนอื่นจากการเดินทางแบบโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 จึงเป็นไปได้ยาก เพราะแสดงอาการให้เห็นทันทีเหมือนโรคซาร์ส และไข้หวัดนก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางการจีนเริ่มสกัดการเดินทาง และควบคุมตัวผู้ป่วยแล้ว แต่ขณะนี้มีผู้ป่วยอยู่ในจีนเพียง 5 รายเท่านั้น ระบาดอยู่เฉพาะในมณฑลที่เป็นชนบทมาก ยังไม่ได้แพร่ เข้ามาในเมือง แต่อาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว
ส่วนความคืบหน้าของการแพร่ระบาดในพื้นที่ ที่เมืองจื่อเคอถาน มณฑลชิงไห่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน ซึ่งมีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ศพ รัฐบาลจีนจึงสั่งปิดเมืองตั้งเป็นเขตควบคุมการแพร่ระบาดในเมืองซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ 10,000 คน โดยตำรวจตั้งด่านตรวจห้ามเข้าออกนอกเมืองอย่างเด็ดขาด เพราะยังมีผู้ติดเชื้ออีกประมาณ 10 คน โดยโรคนี้จะทำให้ปอดติดเชื้ออักเสบและเสียชีวิตได้ภายใน 24 ชั่วโมง หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้สื่อข่าวเอพีรายงานว่า มีชาวบ้านบางคนพยายามเดินเท้าหลบหนีออกจากเมืองตั้งแต่ค่ำวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา หนึ่งในนั้นกล่าวว่า พวกตนทำงานก่อสร้าง หลบหนีไปได้แล้วประมาณ 50 คน ตนพยายามฝ่าด่านตรวจของตำรวจไปได้ เพราะตำรวจตั้งด่านโดยรอบเมืองในรัศมี 28 กิโลเมตร
ล่าสุด เมื่อเวลา 19.00 น. นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข กล่าวว่ากระทรวงสาธารณสุข จะปรับปรุงศูนย์ปฏิบัติการ (วอร์รูม) โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 เพราะที่ผ่านมา ผู้รับผิดชอบศูนย์มีภารกิจมาก การประชุมของศูนย์ปฏิบัติการบางครั้งประชุมกัน 3-4 วันครั้ง ทั้ง ๆ ที่สถานการณ์การระบาดในขณะนี้น่าจะมีการประชุมทุกวัน ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน ก็เรียกประชุมได้ตลอด 24 ชม. จึงมอบหมายให้ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงฯ ไปยกร่างรายละเอียดศูนย์ฯ ขึ้นมา ส่วนผู้ที่จะมาคุมศูนย์นี้น่าจะเป็น นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงฯ ที่มีประสบการณ์เรื่องนี้แล้ว
ต่อมาเวลา 21.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมยศ ลีลาปัญญาเลิศ สามีของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และอดีต รมว.สาธารณสุข กล่าวยอมรับว่า คุณหญิงสุดารัตน์ ได้ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จริง ขณะนี้พักรักษาตัวอยู่ที่ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ แพทย์ให้นอนดูอาการ และให้ยาต้านไวรัสเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้เมื่อสัปดาห์ ที่ผ่านมา คุณหญิงสุดารัตน์มีอาการป่วยเป็นไข้เลยมาพบแพทย์ แต่ไม่เป็นอะไรมาก จนวันต่อมามีไข้ขึ้นสูงถึง 38 องศาเซลเซียส และไอเป็นเลือด จึงรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล และแพทย์ยืนยันว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ 2009 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ไข้ลดลง และอาการปลอดภัยแล้ว “ทั้งที่บ้านเราดูแลรักษาความสะอาดอย่างดี มีเจลล้างมือทุกจุดในบ้านแต่ก็ยังติดได้ แสดงว่าโรคนี้ระบาดรุนแรงจริง ๆ”.