ห่างจาก มรภ.สวนสุนันทาประมาณ 500 เมตร มีร้านเหล้า 6 ร้าน นก (นามสมมติ) เจ้าของร้านเหล้าแห่งหนึ่ง เล่าว่า
ใช้กลยุทธ์ดึงดูดลูกค้าด้วยตู้เพลง ลูกค้าที่แวะเวียนเข้ามาใช้บริการมีทั้งนักศึกษาและคนทำงาน นักศึกษาจะมีเสื้อเปลี่ยนสวมทับชุดนักศึกษา การจัดโซนนิ่งร้านเหล้ารอบสถานศึกษาอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของร้าน และจำนวนผู้ใช้มาบริการบ้าง แต่ก็เกิดขึ้นเพียงไม่นาน เมื่อกฎหมายไม่เข้มงวด นักศึกษาก็หันกลับมาดื่มเหมือนเดิม ที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาชกต่อย เพราะลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการต่างเป็นเพื่อนร่วมสถาบันเดียวกัน คุ้นเคยกัน จึงไม่เกิดปัญหา
"สุภนัฐ" หรือ บิว นักศึกษาปี 4 คณะวิทยาการจัดการ มรภ.สวนสุนันทา บอกว่า
พฤติกรรมวัยรุ่นส่วนใหญ่ จะมีร้านประจำนัดเจอกัน ร้านเหล้า อยู่ใกล้สถานศึกษาจึงเป็นจุดที่สะดวกไม่ต้องเดินทางไกล และเป็นบันไดขั้นแรกที่หัดดื่ม เมื่อแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกาย ทำให้กล้าแสดงออก บางครั้งนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ที่เกิดจากการยินยอมทั้งสองฝ่าย การจัดระเบียบร้านเหล้าใกล้สถานศึกษาคงช่วยอะไรไม่ได้มาก เมื่อนักศึกษานั่งดื่มเหล้าใกล้มหาวิทยาลัยไม่ได้ ก็จะหาแหล่งนั่งเที่ยว ดื่ม กิน ที่ไกลออกไปแทน
เช่นเดียวกับ "ขนิษฐา" หรือ ก้อย นักศึกษาปี 3 คณะเทคโนโลยีการสื่อสารมวลชน ม.รามคำแหง บอกว่า
การดื่มเหล้าของนักศึกษาเกิดขึ้นเพราะต้องการได้รับการยอมรับในกลุ่มเพื่อน การที่นักศึกษาดื่มเหล้ากันมากขึ้น ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่อยู่ใกล้สถานศึกษา แต่มาจากพฤติกรรมสนองความต้องการส่วนตัวของนักศึกษาเอง หากจะสกัดนักดื่มหน้าใหม่ ควรรณรงค์สร้างจิตสำนึกละเลิกดื่มควบคู่กันไปด้วย ที่สำคัญการดื่มเหล้ามีส่วนดึงให้เข้าหาบุหรี่ นักศึกษาที่ดื่มเหล้าจะกลายเป็นคนที่ติดบุหรี่ไปพร้อมๆ กันในที่สุด
นอกจากนี้ “ร้านหมูกระทะ’’ ยังเป็นแชมป์ขายเหล้าปั่นเช่นกัน เห็นได้จากการจัด "เหล้าปั่น" เป็นเมนูเสริมของร้าน โน้มน้าวใจด้วยโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ให้เกิดการดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้นว่า บริการเสริมพิเศษ เช่น เปิดรายการถ่ายทอดสดฟุตบอล การเล่นดนตรีสด เครื่องดื่มและอาหาร ตู้คาราโอเกะหยอดเหรียญ บวกกับสถานที่บรรยากาศและการบริการดึงดูดเชิญชวนลูกค้าไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษาหรือคนทำงานให้แวะเวียนมานั่งในร้านกันไม่ขาดสาย
กวาง (นามสมมติ) นักเรียนชั้น ม.ปลาย ย่านเขตพระนคร เป็นอีกคนที่ทดลองดื่มแอลกอฮอล์ครั้งแรก ตามคำแนะนำของพนักงานในร้านและคำท้าทายจากเพื่อนๆ เพื่อแสดงถึงมิตรภาพด้วย “เหล้าปั่น” ที่ลักษณะภายนอกมองดูแล้วคล้ายกับคอกเทล (cocktail) หรือน้ำผลไม้ปั่น รสชาติออกขมเล็กน้อย หลังเพื่อนร่วมกลุ่มได้ลิ้มลองติดใจรสชาติผลก็คือเมา ผู้ปกครองมารับกลับบ้าน ไม่แน่นักว่าตอนนี้เธอกลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่ ที่กล้าสั่งเหล้า เบียร์ เองได้โดยไม่เขินอายไปแล้วหรือไม่
รศ.ดร.เดวิท เออร์นิแกน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการตลาดแอลกอฮอล์และเยาวชน ม.จอร์จทาวน์ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า
การดื่มในวัยรุ่นจะทำให้ความจำลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับคนไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้ความสามารถในการเรียนรู้ลดลง สมองทึบ ไม่ฉลาด เรียนไม่ทันเพื่อน หากเริ่มดื่มตั้งแต่ก่อนอายุครบ 15 ปีมีโอกาสติดเหล้า เบียร์ในระยะยาวมากขึ้น 4 เท่า มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 7 เท่า และเกิดปัญหาความรุนแรงเพิ่มขึ้น 11 เท่า แต่หากเริ่มดื่มหลังอายุครบ 25 ปีไปแล้วมีโอกาสติดเหล้า เบียร์ได้น้อย ทำให้มีปัญหาต่างๆ ลดน้อยลงตามไปด้วย
ในสหรัฐ มีกฎหมายควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ซื้อและผู้ดื่มต้องมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ มีร้านค้าที่มีใบอนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพียง 5.5 แสนแห่งทั่วประเทศ 18 รัฐใน 52 รัฐของสหรัฐ ไม่อนุญาตให้เอกชน ร้านค้าปลีกจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่มีมาตรการควบคุมทางภาษี จึงทำให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีราคาถูกมากกว่านม 1 ลิตรเสียอีก
แล้วในเมืองไทย จะทำอย่างไรถึงจะสกัดเด็กๆ เยาวชนไม่ให้กลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่ได้
0 กิตติยา ธนกาลมารวย 0