มิลเพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่งเมื่อ 5 เดือนก่อน
ตระเวนสมัครงานฝ่ายบัญชีตามบริษัทต่างๆ หลายแห่ง แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับ สุดท้ายเมื่อเริ่มไม่มีเงินและได้รับคำแนะนำจากเพื่อน ให้ลองมาทำอาชีพเด็กนั่งดริงก์ในร้านคาราโอเกะ จึงตัดสินใจลองไปสมัครที่ร้านคาราโอเกะย่านลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยเลือกทำเฉพาะวันศุกร์-เสาร์ ช่วยให้มีรายได้เลี้ยงชีวิตระหว่างตกงาน
"ตลอด 5 เดือนหนูไปสมัครงานมาหลายแห่งนะ แต่ก็ยังไม่มีที่ไหนติดต่อกลับมาเลย ทุกวันนี้ก็เลยอยู่ได้ด้วยอาชีพนี้ ในมุมมองของหนูไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะจำกัดไม่ให้มีอาชีพนี้ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ดูแลเราเลย ดูอย่างหนูสิ มีวุฒิปริญญาตรีแท้ๆ ยังหางานทำไม่ได้เลย นับประสาอะไรกับเพื่อนๆ น้องๆ ในร้านอีกหลายคน ที่เขาไม่มีวุฒิแล้วจำเป็นต้องทำอาชีพนี้"
"พวกเราไม่ได้ขายตัวนะ" โอ๋ เด็กนั่งดริงก์วัยเพิ่งจะผ่าน 20 มาหมาดๆ ทะลุขึ้นกลางปล้อง
โอ๋กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และมาทำงานนั่งดริงก์หารายได้เลี้ยงตัวเองได้นาน 6 เดือนแล้ว ก่อนหน้าที่มิลจะมาทำงานได้ 1 เดือน เธอบอกว่าพื้นฐานของเด็กนั่งดริงก์ส่วนใหญ่มีปัญหาด้านการเงินเลยเลือกทำอาชีพนี้ ตัวเธอเองฐานะทางบ้านก็ไม่ค่อยดี เมื่อมีโอกาสเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ เลยพยายามหาเงินค่าเล่าเรียนแบ่งเบาภาระครอบครัว
"มันไม่ได้เสียหายอะไร ทางร้านจะสอนวิธีป้องกันตัวจากลูกค้า เพราะฉะนั้นเรื่องความปลอดภัยหายห่วง ถ้าจะกำหนดขอบเขต หรือจัดระเบียบให้มันถูกต้องก็เห็นด้วย แต่ไม่ใช่มาปิดกั้นไม่ให้มีอาชีพนี้เลย เรามาทำงานเป็นคนชงเหล้า เป็นเพื่อนคุย เพื่อนเล่นกับลูกค้า ที่สำคัญคือเราไม่ได้ขายตัว"
บรรยากาศในร้านยังอบอวลไปด้วยเสียงเพลง สีสันจากแสงไฟ และรสสัมผัสของเด็กสาวที่คอยพะเน้าพะนอเอาอกเอาใจอยู่ไม่ห่างกาย
แม้ในความรู้สึกของแต่ละคนที่ได้รับรู้เรื่องราวอันน่าหดหู่แตกต่างกันไป หากทางการห้ามประกอบอาชีพนี้พวกเธอจะไปทำอะไรต่อ เมื่อหันไปสะกิดไถ่ถามชายหนุ่มโต๊ะถัดไปถึงความรู้สึกหากขาดผีเสื้อราตรีสร้างสีสันเช่นนี้ยังจะมาเที่ยวอีกหรือไม่ เขาเลี่ยงคำถามตอบแบบกลางๆ ว่าอยากให้รัฐบาลทำอะไรที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้ เพราะสิ่งที่กำลังทำเป็นการบีบให้คนที่มีทางเลือกน้อยอยู่แล้วพยายามหาทางออกในสิ่งผิดๆ
"อีกไม่นานเด็กนั่งดริงก์คงไปประกาศขายตัวทางเน็ตแทน"
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าจะมีข่าวเช่นนี้ออกมา มีตำรวจท้องที่เข้าไปพูดคุยกับ "เจ๊น้อง" ผู้จัดการร้านคาราโอเกะย่านถนนศรีนครินทร์ ทำนองว่า
ตำรวจจะเข้มงวดกวดขันไม่ให้มีเด็กนั่งดริงก์มานั่งเรียกลูกค้าหน้าร้านเหมือนอย่างเคย ส่วนหนึ่งเพราะเป็นภาพไม่น่าดูสำหรับสังคมไทย เมื่อกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ออกมากำชับว่าจะปฏิบัติอย่างจริงจัง กระทรวงวัฒนธรรมก็มีประกาศร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ออกมา ถึงตอนนี้ข่าวก็ยังคลุมเครืออยู่ว่าข้อบังคับนี้จะครอบคลุมไปถึงไหนและอย่างไร
"ถ้าจะไม่ให้มีเด็กนั่งดริงก์เลยคงลำบาก ผู้ประกอบการและพนักงานคงออกมาประท้วงกันแน่นอน แต่ถ้าเป็นการกำหนดขอบเขตให้ชัดเจนว่า อย่างนี้ทำได้นะ อย่างนั้นทำไม่ได้นะ เออ ค่อยยังชั่วหน่อย เช่น มีเด็กสาวแต่งตัววาบหวิวมานั่งเรียกลูกค้าหน้าร้าน โบกไม้โบกมือเรียกรถที่ผ่านไปมาบนถนน อย่างนี้เป็นภาพที่ไม่ดีเรายอมรับได้ ตอนแรกเขาก็มาบอกว่าไม่ให้มีอย่างนี้ ไม่ใช่ห้ามไม่ให้มีเด็กนั่งดริงก์เลย"
เช่นเดียวกับ "กรวิทย์" ผู้ประกอบการร้านคาราโอเกะย่านลาดพร้าว ที่ยืนกรานว่า
ไม่เห็นด้วยหากรัฐจะไม่ให้มีเด็กนั่งดริงก์ เพราะนั่นหมายถึงจะมีพนักงานอีกหลายพันหลายหมื่นชีวิตต้องตกงาน เขายกตัวอย่างว่าร้านคาราโอเกะขนาดเล็กมีเด็กนั่งดริงก์ราวๆ 10-20 คน ถ้าใหญ่ขึ้นมาหน่อยอาจมีมากถึง 50-100 คน เฉพาะถนนลาดพร้าวเส้นเดียวมีเกือบ 20 ร้าน ไม่รวมอยู่ในตรอกซอกซอยอีกไม่รู้กี่สิบแห่ง ไหนจะต่างจังหวัดอีก ถ้าห้ามกันจริงๆ คงต้องปิดตัวกันหมด ยิ่งสภาพเศรษฐกิจก็ย่ำแย่อยู่แล้ว รัฐบาลยังมาซ้ำเติมคนทำมาหากินอีกอย่างนี้ก็แย่
"ถึงเราจะขายเครื่องดื่มมึนเมาเราก็เสียภาษีให้รัฐนะ ทำตามกฎหมายทุกอย่าง คนที่มาเที่ยวแบบนี้ได้ต้องมีเงิน เด็กสาวๆ ที่คอยชงเหล้าก็ไม่ได้ขายตัว แค่มาชงเหล้าแล้วก็นั่งคุยเฉยๆ ถ้าจะออกกฎแบบนี้ต้องครอบคลุมไปถึงเลานจ์ด้วย เพราะที่นั่นก็มีเด็กนั่งดริงก์เหมือนกัน ทีร้านอาหารที่เอาเด็กมานั่งล่อลูกค้า รอขายบริการมีให้เห็นแทบทุกจังหวัด ให้เด็กมาดูตัวจ่ายเงินพาขึ้นห้อง ไม่เห็นอยากแก้ไขกัน สงสัยร้านคาราโอเกะคงต้องทำแบบนั้นบ้าง" กรวิทย์ ประชดอย่างมีอารมณ์
การเด็ดปีกผีเสื้อราตรีมีการหยิบยกขึ้นมาพูดในวงกว้าง ไม่เฉพาะในร้านคาราโอเกะที่พวกเธอทำงานอยู่ แม้แต่ตามเว็บบอร์ดต่างๆ ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้าง มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ก่อนที่ความเข้าใจผิดจะขยายวงออกไปไกลกว่านี้ วันที่ 30 กรกฎาคม รมว.วัฒนธรรม "ธีระ สลักเพชร" ก็ออกมาชี้แจงทำความเข้าใจ พร้อมกับยืนยันว่าสถานบริการทุกแห่งยังคงมีสาวนั่งดริงก์ได้
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ต้องการเปิดสถานบริการจำพวกร้านคาราโอเกะ คาเฟ่ สวนอาหาร และร้านอาหารที่มีการเต้น รวมทั้งจำหน่ายเหล้าบุหรี่และมีสาวนั่งดริงก์ ต้องไปขออนุญาตประกอบกิจการประเภท 3(4) กับกระทรวงมหาดไทยตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ. 2509
ปัจจุบันคาราโอเกะที่มีสาวนั่งดริงก์ทั่วประเทศมีทั้งสิ้น 4,246 แห่ง
ส่วนกฎกระทรวงวัฒนธรรม มีอำนาจออกใบอนุญาตเฉพาะร้านคาราโอเกะตามห้างสรรพสินค้า และตู้คาราโอเกะหยอดเหรียญ ต้องไม่มีสาวนั่งดริงก์และห้ามจำหน่ายเหล้า-บุหรี่โดยเด็ดขาด ที่ผ่านมามีร้านคาราโอเกะข้างต้นมาขอใบอนุญาตต่อสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2552 ในเขตกรุงเทพฯ มี 3,000 แห่ง ส่วนภูมิภาคมีทั้งสิ้น 15,000 แห่ง
ด้วยเหตุนี้ผีเสื้อราตรีจึงยังมีชีวิตโบยบินสร้างสีสันแห่งค่ำคืนต่อไปได้อีกนานเท่าที่พวกเธออยากจะอยู่ทำอาชีพนี้ !?!