นายทรงวุฒิ จันทร์ดา เกษตรอำเภอลับแล จ.อุตรดิตถ์ กล่าวเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ว่า นายธวัชชัย ฟักอังกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์
และนายวิษณุ สว่างทรัพย์ นายอำเภอลับแล มีนโยบายต้องการให้สำรวจต้นไม้ที่มีอายุยืนยาวนานรวมถึงไม้ผล จึงออกสำรวจพร้อมด้วยนายฤทัย แก้วทิ นายก อบต.แม่พูล และนายประจวบ สืบจ้อน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ต.แม่พูล พบทุเรียนยักษ์พันธุ์พื้นเมืองอายุกว่า 150 ปี วัดโดยรอบได้ประมาณ 230- 233 เซนติเมตร ขนาด 2 คนโอบ สูงประมาณ 15-20 เมตร จำนวน 3 ต้น ตั้งเด่นสง่าห่างจากลำน้ำแม่พูลประมาณ 300 เมตร ตั้งอยู่ในพื้นที่สวนของนางปิ่น ทองอินทร์ อายุ 83 ปี เป็นทุเรียนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานให้เกษตรกร
ทั้งนี้ นายขุนพล แก้วพูลปกรณ์ อดีตกำนันตำบลแม่พูล ซึ่งมีศักดิ์เป็นทวด ได้รับพระราชทานพันธุ์ทุเรียนพื้นเมืองและนำมาปลูกในพื้นที่จำนวนหลายต้น
ช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมดินถล่มเมื่อเดือนพฤษภาคม 2549 ถูกดินโคลนถล่มพัดพังทลายไปเป็นจำนวนมากคงเหลือให้เราได้เห็นต้นทุเรียนที่มีอายุยืนมากและมีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือให้เราเห็นเพียงแค่ 3 ต้นเท่านั้น ทั้งนี้ทางจังหวัดได้ขออนุรักษ์รักษาเอาไว้ให้กับคนรุ่นหลังได้ชมดูกัน มีความสมบูรณ์ของต้น 100% ไม่หักปลาย ยอดไม่ด้วน ลำต้นตรงและมีสวยงาม เหมาะที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม
นางปิ่น กล่าวว่า ต้นทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองนี้ มีอายุถึง 4-5 ชั่วคน ท่านฯขุนพลหรือปู่ทวด ได้เดินทางเข้าไปยังกรุงเทพเพื่อรับพระราชทานพันธุ์ทุเรียนพื้นเมืองมาปลูก
คนในครอบครัวต่างปลื้มปิติยินดีเป็นอย่างมากที่ได้รับพระราชทานพันธุ์ทุเรียนมา และนำมาปลูกไว้ในสวนบนเนื้อที่กว่า 10 ไร่ ก่อนที่ปู่ทวดจะเสียชีวิตได้สั่งให้ดูแลและบำรุงรักษาอย่างดีอย่าให้ต้นทุเรียนนี้ตาย สั่งให้อนุรักษ์รักษาเอาไว้ให้คนรุ่นหลังดูกันนอกเหนือจากผลผลิตที่นำออกขายแล้ว ห้ามนำพันธุ์ทุเรียนอื่นมาต่อยอด ต่อกิ่ง ทาบกิ่ง เสียบกิ่ง ต่อตาหรือทำลายตัดทิ้ง ให้คงสภาพพันธุ์ทุเรียนพื้นเมืองเดิมเอาไว้ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัวและอยู่คงทนเป็นสัญลักษณ์คู่กับเมืองลับแล
" ช่วงที่ต้นทุเรียนนี้เคยให้ผลผลิตต้นหนึ่งมีจำนวนกว่า 200-250 ผลต่อปี สามารถนำผลทุเรียนส่งขายและส่งเสียให้ลูกทั้ง 7 คนได้ร่ำเรียนจนจบและมีงานทำกันทุกคน ถึงแม้นว่าปัจจุบันให้ผลผลิตอยู่ประมาณ 20-30 ลูกต่อต้นก็ตาม ได้สั่งเสียและปลูกฝังให้กับลูกหลานทุกคนที่ได้รับมรดกตกทอด อย่าได้ทำลายต้นทุเรียนนี้รวมถึงการตัดต่อ ต่อกิ่ง ต่อตา เสียบยอดกับทุเรียนทั้ง 3 ต้นนี้ ให้คงอนุรักษ์บำรุงรักษาสืบต่อเอาไว้จนกว่าต้นจะตายไปเอง เห็นดีด้วยที่ทางจังหวัดจะเปิดให้คนทั่วไปได้เข้ามาชมต้นทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองที่มีอายุมากและใหญ่สุดในภาคเหนือ ยายไม่หวงแหนที่จะให้คนภายนอกเข้ามาชมกัน แต่อย่าเข้ามาเพื่อทำลาย " นางปิ่น กล่าว
พบทุเรียนยักษ์150ปีผลดกกว่า200ลูกพระราชทานจากร.5
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ พบทุเรียนยักษ์150ปีผลดกกว่า200ลูกพระราชทานจากร.5