จากกรณีที่รัฐบาลกำหนดขายพันธบัตรไทยเข้มแข็ง 5 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 ล็อต โดยล็อตแรกวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาทขายให้ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
วันที่ 13-14 กรกฎาคม ล็อตที่ 2 วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาทเปิดขายให้ผู้สูงอายุและประชาชนทั่วไปวันที่ 15-16 กรกฎาคม โดยทั้งสองล็อตจะกำหนดให้ซื้อขั้นต่ำ 1 หมื่นบาท และไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนล็อตที่ 3 วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท เปิดให้ประชาชนทั่วไป วันที่ 17-21 กรกฎาคม โดยไม่กำหนดเพดานการซื้อ แต่ปรากฏว่าการเปิดขายวันแรก 1.5 หมื่นล้านบาทสำหรับผู้สูงอายุหมดเกลี้ยงอย่างรวดเร็ว จนต้องนำวงเงินในส่วนล็อตที่ 3 มาสมทบ 1.5 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งก็ขายหมดอย่างรวดเร็วเช่นกัน
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการเปิดจำหน่ายพันธบัตรไทยเข้มแข็งวันที่ 13 กรกฎาคมเป็นวันแรกว่า ได้รับความสนใจจากผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก
กระทรวงการคลังจึงตัดสินใจเพิ่มวงเงินอีกเท่าตัวคือ 1.5 หมื่นล้านบาท เป็น 3 หมื่นล้านบาท โดยโยกจากวงเงิน 2 หมื่นล้านบาทที่เตรียมขายให้กับประชาชนทั่วไปในวันที่ 17-21 กรกฎาคมนี้ และพบว่าจำหน่ายได้หมดทั้ง 3 หมื่นล้านบาทเช่นกัน โดยมีผู้สูงอายุทั่วประเทศ 4 หมื่นรายได้ซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ครั้งนี้ เฉลี่ยรายละ 6-7 แสนบาท
นายกรณ์กล่าวว่า ส่วนผู้สูงอายุที่ไม่สามารถซื้อได้ยังสามารถซื้อช่วงที่ 2 วันที่ 15-16 กรกฎาคม ที่จะขายให้ผู้สูงอายุและประชาชนทั่วไปอีก 1.5 หมื่นล้านบาท
หากพบว่ายังมีความต้องการซื้อจำนวนมากอีก ก็ยังเหลือวงเงินอีก 5 พันล้านบาทที่จะขายในช่วงที่ 3 (เดิมวงเงิน 2 หมื่นล้านบาทแต่ถูกโยกไปเพิ่มให้ผู้สูงอายุ 1.5 หมื่นล้านบาท) ที่สามารถโยกมาขายเพิ่มได้ และกระทรวงการคลังจะพิจารณาว่าจะเพิ่มวงเงินอีกเท่าใด จากวงเงินเดิมทั้งหมด 5 หมื่นล้านบาท
"การขายพันธบัตรวันแรกถือว่าสำเร็จเกินคาดหมาย ซึ่งกระทรวงการคลังคาดการณ์เตรียมที่จะเพิ่มวงเงิน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง แต่ยังไม่อยากประกาศ เพื่อลดความเสี่ยงที่ธนาคารพาณิชย์จะขายล่วงหน้าให้ลูกค้าตัวเอง แต่ขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับรายงานว่าธนาคารขายล่วงหน้าให้กับลูกค้าตัวเอง" นายกรณ์กล่าว
นายกรณ์กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ร้องเรียนว่าไม่สามารถจองซื้อพันธบัตรได้ทั้งที่ได้บัตรคิวเป็นคนแรก ว่า อาจเป็นไปได้ว่าเกิดจากปัญหาการป้อนข้อมูลคำสั่งซื้อของพนักงานแต่ละสาขาเข้าส่วนกลาง
ทำให้ใครที่ส่งได้เร็วสามารถรับได้ก่อน แต่บางสาขาที่ป้อนข้อมูลช้าจึงจองซื้อให้ลูกค้าไม่ทัน อย่างไรก็ตามมีธนาคารบางแห่งจัดสรรโควต้าวงเงินให้แต่ละสาขาไปเลย จึงต้องการธนาคารแห่งอื่นๆ กำหนดวงเงินแต่ละสาขาให้ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาในวันที่ 15 กรกฎาคม โดยอาจกำหนดตามฐานเงินฝากแต่ละสาขา เพื่อให้ประชาชนที่ไปรอเข้าคิวแรกสามารถจองซื้อได้แน่นอน
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
วันที่ 14 กรกฎาคม จะหารือว่าจะปรับแผนการขายพันธบัตรไทยเข้มแข็งอย่างไร เพราะเดิมจะเปิดขายเป็น 3 ล็อต แต่ในเมื่อมีความต้องการจากประชาชนมากจำเป็นต้องตอบสนอง ส่วนจะขยายโควต้าได้มากน้อยแค่ไหน นายกรณ์จะเสนอตัวเลขมา โดยจะดูพร้อมกันไปทั้งโควต้าของผู้สูงอายุและประชาชนทั่วไป หากผู้สูงอายุยังมีความต้องการอยู่ ก็ต้องไปดูว่าจะขยายโควต้าของประชาชนเท่าไร เพราะน่าจะแสดงให้เห็นว่าเรามีผู้ออมที่ต้องการหาทางเลือกที่ดีกว่าอยู่ และน่าจะเป็นทางเลือกที่เสนอให้ได้
"ในอดีตไม่เคยมีคนต้องการมากขนาดนี้ กระทรวงการคลังบอกว่าเวลาออกพันธบัตรอะไร จะมีคนเข้ามาซื้อไม่ถึงหมื่นคน แต่นี่วันเดียวคนมาซื้อหลายหมื่นคน ผมคิดว่านี่คือเครื่องยืนยันว่าเรากำลังทำถูกต้อง ในแง่ของการนำเงินออกมาจากเงื่อนไขที่ผู้ฝากก็ไม่พอใจ ผู้ให้กู้ก็ไม่พร้อมจะปล่อยกู้ได้ แต่เราเอาเงินตรงนี้มาลงทุน น่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพราะได้รับการตอบสนองอย่างดี" นายอภิสิทธิ์กล่าว
เมื่อถามว่า คิดว่าทำไมประชาชนจึงให้ความสนใจซื้อพันธบัตรไทยเข้มแข็งจำนวนมาก นายกฯกล่าวด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า "คงเพราะต้องการผลตอบแทนที่ดี และเขาก็ต้องมั่นใจที่จะได้เงินคืน ไม่เช่นนั้นก็คงไม่ซื้อ"
พันธบัตรไทยเข้มแข็งเกลี้ยงในพริบตา ผู้สูงอายุรอคิวแต่ไก่โห่
นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ได้รับรายงานจากธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งว่าจำหน่ายพันธบัตรได้ 90% ตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงแรกที่เปิดทำการ และไม่พบปัญหาอะไร
มีประชาชนร้องเรียนเพียง 2 รายเท่านั้น แต่เป็นความผิดพลาดของระบบในการคีย์ข้อมูล ทำให้ผู้ได้รับคิว 4 หรือ 5 ได้สิทธิจองซื้อก่อน ขณะที่คิว 2 หรือ 3 กลับไม่ได้ เพราะวงเงินเต็มก่อน ทราบว่าธนาคาร 5 แห่งให้คีย์ข้อมูลเข้าส่วนกลาง โดยไม่ได้กันวงเงินให้ตามสาขาเหมือนธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ที่จัดสรรไว้สาขาละ 5-8 ล้านบาท จึงเป็นไปได้ที่จะมีผู้จองซื้อแต่ละสาขาได้ไม่กี่คนหากซื้อคนละ 1 ล้านบาท
"ส่วนอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 4% ไม่ถือว่าสูงจนเกินไป ที่บวกเพิ่มให้ 0.50% นั้นคิดเป็นดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมาเพียง 150 ล้านบาท จากวงเงิน 3 หมื่นล้านบาทที่จำหน่ายไปเท่านั้น" นายจักรกฤษศฎิ์กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า การเปิดจองพันธบัตรไทยเข้มแข็งของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 7 แห่งนั้น ธนาคารทุกแห่งขายพันธบัตรในวงเงิน 3 หมื่นล้านบาทสำหรับผู้สูงอายุหมดภายในวันแรก ยกเว้นธนาคารไทยพาณิชย์
โดยธนาคารที่ขายหมดเร็วที่สุด คือ ธนาคารกรุงไทย ที่ขายในวงเงิน 6.1 พันล้านบาท หมดในเวลา 10 นาที ทั้งนี้ธนาคารส่วนใหญ่ใช้วิธีส่งคำสั่งซื้อเข้ามาส่วนกลาง ยกเว้นธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ที่จัดสรรให้ตามสาขา ส่วนบรรยากาศที่ธนาคารกรุงเทพสำนักงานใหญ่ สีลม ธนาคารแจกบัตรคิวก่อนเปิดทำการและเริ่มจำหน่ายตั้งแต่เวลา 08.30 น. ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ซื้อเต็มวงเงินคือ 1 ล้านบาท และขายหมดภายในเวลาประมาณ 09.30 น.
นางกุ่ยหยุ่น ประเสริฐสุข อายุ 76 ปี กล่าวว่า ตนเดินทางจากบ้านพักย่านจรัญสนิทวงศ์ มารอคิวซื้อพันธบัตรที่ธนาคารกรุงเทพ ตั้งแต่เวลา 05.30 น.
โดยซื้อพันธบัตรจำนวน 1 ล้านบาท ตนนำเงินเก็บจากการขายลอตเตอรี่ที่ทำมาตั้งแต่อายุ 20 ปี ตนลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลมาตลอดเพราะมั่นใจมากกว่าภาคเอกชนและเป็นการออมเงินไว้ใช้ในอนาคต อีกทั้งการซื้อพันธบัตรครั้งนี้ถือว่าเป็นการช่วยรัฐบาลด้วย
ส่วนบรรยากาศในจังหวัดต่างๆ ที่ธนาคารกรุงไทย สาขานราธิวาส ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เปิดทำการช่วงเช้า มีผู้สูงอายุในพื้นที่มารอเข้าคิวซื้อพันธบัตรกันอย่างคึกคัก
และใช้เวลาซื้อขายพันธบัตรเพียงแค่ 3 นาทีเท่านั้น เพราะหมดโควต้า โดยมีผู้ซื้อได้เพียง 14 ราย วงเงินรวม 12 ล้านบาท ที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาจอมสุรางค์ยาตร์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา หลังเปิดให้บริการเวลา 08.30 น. จนถึงเวลา 09.00 น. มีผู้สูงอายุซื้อพันธบัตรไปกว่า 30 ราย รวมกว่า 10 ล้านบาท ส่วนยอดรวมของธนาคารกรุงเทพ เขตเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งมีอยู่ 11 สาขา เฉพาะช่วงเวลา 09.30 น. มียอดซื้อพันธบัตรสูงกว่า 25 ล้านบาท
นางมะลิวัลย์ กมลวัฒน์ ชาวนครราชสีมา ซึ่งมาซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ให้มารดาที่ไม่สามารถเดินทางมาซื้อด้วยตนเองได้ เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ กล่าวว่า แนะนำให้มารดาซื้อพันธบัตรเพราะได้ผลตอบแทนดี อีกทั้งยังช่วยเหลือประเทศชาติที่จะนำเงินส่วนนี้ไปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งมารดาก็เห็นดีด้วย จึงให้เงิน 5 แสนบาท ซื้อพันธบัตรเก็บไว้
ส่วนที่ธนาคารกรุงไทย สาขาถนนมะลิวัลย์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น พบว่า มีผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งโวยวายว่ามาจองซื้อพันธบัตรไม่ได้
โดยระบุว่า มารอคิวตั้งแต่ 6 โมงเช้า แต่พอธนาคารเปิดทำการกลับขายให้ได้เพียง 3 คนเท่านั้น ทำให้ผู้ที่รอคิวตั้งแต่อันดับ 4 ขึ้นไปอด และกล่าวหาว่าธนาคารไม่โปร่งใส เอาแต่พรรคพวก ญาติพี่น้องของตนเอง โดยธนาคารอ้างว่าโควต้าหมดแล้ว และให้มาจองใหม่วันที่ 15 กรกฎาคม
นายวิจัย ศิริยานุรักษ์ อายุ 65 ปี ข้าราชการครูบำนาญ กล่าวว่า คิดว่าธนาคารไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรม จะกั๊กไว้ให้เฉพาะญาติและพวกพ้องตนท่านั้น ขนาดวันนี้ให้สิทธิเฉพาะคนชราอายุ 60 ปีขึ้นไป มาจองยังได้แค่ 3 คน เท่านั้น ถ้ามาอีกวันที่ 15 กรกฎาคม จะมีความหวังอะไร จึงอยากเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังรับทราบปัญหาด้วย
นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารจำหน่ายพันธบัตรหมดในช่วงบ่าย และคาดว่าการจำหน่ายในรอบที่เหลืออาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ
เพราะลูกค้าจะกระจายในหลายกลุ่มมากขึ้น ดังนั้น ต้องรอดูทางกระทรวงการคลังว่าจะมีนโยบายอย่างไรต่อไป ขณะที่นายนะเพ็งพาแสง กฤษณามระ รองผู้จัดการใหญ่ สายบริหารการขายและบริการ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในวันแรกธนาคารยังขายไม่หมด เนื่องจากใช้ระบบกระจายตามสาขา และอาศัยไกล่เกลี่ยตามสาขาจึงทำให้การจำหน่ายช้ากว่าแห่งอื่น โดยเหลือประมาณ 500 ล้านบาท คาดว่าจะจำหน่ายหมดภายในวันที่ 14 กรกฎาคม
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การออกพันธบัตรของรัฐบาลช่วงนี้อาจส่งผลให้ลูกค้าเงินฝากออมทรัพย์ที่ปัจจุบันมีลูกค้าเงินฝากออมทรัพย์ประมาณ 50% ของเงินฝากทั้งหมด
และลูกค้าที่มีเงินฝากประจำ ระยะเวลา 3-6 เดือน ย้ายเงินมาลงทุนในพันธบัตรนี้บางส่วน อย่างไรก็ตาม การออกพันธบัตรไทยเข้มแข็งครั้งนี้ไม่มีผลกระทบต่อสภาพคล่องของระบบ เพราะปัจจุบันมีสภาพคล่องส่วนเกินในตลาดประมาณ 1 ล้านล้านบาท การเปิดขายพันธบัตรในรอบต่อไป เชื่อว่าจะหมดภายในเวลาอันรวดเร็วเช่นกัน ส่วนรอบที่ 3 ที่มีการตัดวงเงินเหลือเพียง 5,000 ล้านบาท คาดว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการแน่