อ่านคำพิพากษาศาลแพ่ง(วันที่ 27 เมษายน 2552-หมายเลขแดงที่ ปช.1/2552)ที่ให้ยกคำร้องคดีที่ขอให้ทรัพย์สินของ นายนิพัทธ พุกกะณะสุต อดีตรองปลัดกระทรวงการคลังตกเป็นของแผ่นดินเนื่องจากถูกกล่าวหาว่า
ร่ำรวยผิดปกติ 49 ล้านบาทแล้ว รู้สึกเป็นห่วงว่า
คดีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐว่า ร่ำรวยผิดปกติและอยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)อาจจะมีปัญหาทำให้คดีต้องตกไปทั้งหมด
เพราะคำพิพากษาให้เหตุผลในการยกคำร้องว่า
ขาดอายุความที่กำหนดไว้ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เนื่องจากทรัพย์สินที่มีการกล่าวหาว่า นายนิพัทธได้มาโดยมิชอบนั้น ได้มาระหว่างกันยายน 2538-พฤศจิกายน 2539 ขณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยื่นสำนวนคดีดังกล่าวให้อัยการสูงสุดเมื่อพฤศจิกายน 2549 และยื่นคำร้องต่อศาลในปี 2550 ซึ่งเกินเวลา 10 ปี
".. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 น่าจะมิได้มีเจตนารฒณ์ในการให้การดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช.โดยให้การดำเนินการของคณะกรรมกรรคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ( ป.ป.ป.)ที่ทำมาแล้วเป็นอันใช้ได้โดยไม่มีการกำหนดเวลา เพียงแต่มิได้กำหนดไว้โดยชัดแจ้งเท่านั้น เมื่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความ การร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญยัติเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งฯซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับโดยมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งฯมาตรา 193/30"คำพิพากษาส่วนหนึ่งระบุ
คดีร่ำรวยผิดปกติมีอายุความหรือไม่
ด้วยความเคารพในคำพิพากษา มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า การที่ศาลแพ่งนำเอาบทบัญญัติเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งฯซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปมาบังคับใช้ ขณะที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ฯซึ่งเป็นกฎหมายที่มีความมุ่งหมายเฉพาะ(เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต)ไม่มีการกำหนดเรื่องอายุความ เป็นการใช้และตีความกฎหมายที่ถูกต้องหรือไม่
นอกจากนั้น ยังมีบทบัญญัติที่กำหนดให้การกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐว่า ร่ำรวยผิดปกติต้องกระทำในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือ"พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐไม่เกินสองปี"(มาตรา 75 วรรคสอง)
ดังนั้น ถ้า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ฯต้องการกำหนดระยะเวลาในเรื่องการร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินไว้ก็ควรจะกำหนดอายุความไว้ด้วย เช่นเดียวกับกรณีที่ เมื่อ ป.ป.ช.มีมติยึดหรืออายัดทรัพย์สินผู้ถูกกล่าวหาไว้ชั่วคราว แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปี(มาตรา 78 วรรคสอง)
เหตุผลที่ไม่มีการกำหนดอายุความในเรื่องการร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯนั้น น่าจะเป็นเพราะในกระบวนการที่จะไต่สวนเพื่อให้ได้พยานหลักฐานว่า เจ้าหน้าที่รัฐรายใดร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องง่าย เอกสารหลักฐานอาจมีความซับซ้อน มีการซุกซ่อนทรัพย์สิน จึงต้องใช้เวลานานในการไต่สวน
ขณะเดียวกันกว่าจะมีการร้องเรียนกล่าวหาว่า ใครร่ำรวยผิดปกติ เวลาอาจผ่านไปหลายปี นับแต่เจ้าหน้าที่รัฐรายนั้นได้รับทรัพย์สินมาโดยมิชอบ ทำให้กฎหมายฉบับนี้ยังเปิดช่องให้มีการกล่าวหาได้ แม้จะพ้นจากความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐมาแล้วถึง 2 ปี
คดีนายนิพัทธนั้นเริ่มขึ้น เมื่อต้นปี 2541โดยมีการกล่าวหาว่า รับสินบน 30 ล้านบาทจากบริษัท ซันเอสเตทในโครงการพัฒนาที่ดินราชพัสดุตลาดหมอชิต ขณะเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์(แต่นายนิพัทธอ้างว่า ขายเหรียญ ร.5 ) ทำให้กระทรวงการคลังส่งเรื่องให้ ป.ป.ป.สอบสวน
เมื่อ ป.ป.ป.ชี้มูลว่า นายนิพัทธทุจริตต่อหน้าที่จึงส่งเรื่องกระทรวงการคลังลงโทษทางวินัยไล่ออกจากราชการ และส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญาซึ่งมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง
แม้นายนิพัทธ์จะอุทธรณ์ต่อ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ. )แต่ อ.ก.พ.อุทธรณ์และร้องทุกข์มีมติให้ยกอุทธรณ์
ต่อมา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจสั่งให้ ก.พ.ทบทวนมติของ อ.ก.พ.อุทธรณ์ฯ ซึ่งมีมติว่า นายนิพัทธมีความผิดวินัยไม่ร้ายแรง มีโทษเพียงลดขั้นเงินเดือนและให้กลับเข้ารับราชการ
ขณะที่ป.ป.ป.ยังคงสอบสวนนายนิพัทธในคดีร่ำรวยผิดปกติต่อไป จนมีการจัดตั้งป.ป.ช. ขึ้นในปี 2542 จึงโอนคดีมาอยู่ในความรับผิดชอบของ ป.ป.ช.ซึ่งลงมติว่า นายนิพัทธร่ำรวยผิดปกติในที่สุดเมื่อปลายปี 2549(หลังจากเปลี่ยนแปลงกรรมการ ป.ป.ช.ไป2ชุด) แต่ศาลแพ่งเห็นว่า ขาดอายุความ จึงไม่มีการวินิจฉัยในประเด็นว่า นายนิพัทธร่ำรวยผิดปกติหรือไม่
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังไม่ถึงบทสรุป เพราะนายปรีชา เลิศกมลมาศ เลขาธิการ ป.ป.ช.ยืนยันว่า ได้ประสานกับอัยการสูงสุดให้อุทธรณ์คดีต่อศาลอุทธรณ์แล้ว คงกินเวลานานหลายปี
เมื่อถึงเวลานั้นจะได้รู้กันว่า กรรมมีจริงหรือไม่