สศช.ประเมินขีดแข่งขันของไทยดีที่สุดติดอันดับ 18 ชี้จุดอ่อนอยู่ที่เสถียรภาพทางการเมือง ส่วนจุดแข่งเป็นเรื่องความได้เปรียบแรงงาน สอดคล้องหอการค้าฯ ระบุความขัดแย้งทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในการสัมมนา เรื่อง "Thailand Vision : Ascending the Value Chan" ว่า สศช.ได้ประเมินการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยภายในปี 2563 ไว้ 3 ระดับ 1.กรณีดีที่สุดอันดับอยู่ที่ 18 แต่ต้องพัฒนาปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กฎระเบียบภาครัฐและมีผลิตภาพการผลิตที่ดีขึ้น 2.กรณีปานกลางอันดับอยู่ที่ 24 ต้องพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปรับปรุงกฎระเบียบภาครัฐดีขึ้น 3.กรณีแย่ที่สุดอยู่อันดับที่ 28 เป็นกรณีที่ไทยยังมีความได้เปรียบด้านแรงงาน ส่วนปัจจัยการเมืองแย่ลง
"จุดอ่อนของการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของไทยอยู่ที่เสถียรภาพทางการเมือง การลงทุนวิจัยและพัฒนา ความสามารถด้านภาษา การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาและการพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศ ส่วนจุดแข็งของไทยคือความได้เปรียบด้านแรงงาน ต้นทุนการสื่อสารและค่าครองชีพต่ำ มีวัฒนธรรมและทัศนคติที่เปิดรับการเปลี่ยนแปลงของโลกและมีความโปร่งใสทางการเงิน" นายอาคมกล่าว
นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เป็นปัจจัยสำคัญส่งผลให้การประเมินขีดความสามารถของไทยต่ำลง ระยะต่อไปสภาหอการค้าฯ เห็นว่าภาครัฐควรจะปรับบทบาทจากการเป็นผู้กำกับ มาเป็นผู้ส่งเสริมการทำธุรกิจของเอกชน และภาครัฐควรยกเลิกออกกฎหมายที่อาศัยการตีความ เพราะเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน
"ขณะนี้มีปัญหาแรงงานไทยไม่ต้องการทำงานแบบไร้ฝีมือ แต่แรงงานไทยไม่สามารถยกระดับความสามารถขึ้นมาได้ ซึ่งสภาหอการค้าฯ จะร่วมกับภาครัฐ โดยเชื่อมแผนการพัฒนาขีดความสามารถให้แก่หอการค้าจังหวัด เพื่อให้เกิดการทำงานที่เป็นระบบ คาดจะช่วยผลักดันให้อันดับขึ้นไปอยู่ที่ 16-18 ได้" นายดุสิตกล่าว
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เป็นห่วงว่าอันดับของไทยจะลดต่ำกว่าที่ 26 เพราะไม่ใช่ไทยประเทศเดียวที่พัฒนาขึ้นมาแต่ประเทศที่อันดับต่ำกว่าไทยปีนี้ ต้องการยกระดับขึ้นเหมือนกัน การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ต้องเข้ามาดูทั้งโครงสร้างการค้าและโครงสร้างอุตสาหกรรม ส.อ.ท.เห็นว่าต้องพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้มากเป็นภาคที่น่าเป็นห่วงที่สุดอีก 10-20 ปีจากนี้ โดยเฉพาะแรงงานในเอสเอ็มอี เพราะมีถึง 90% ของผู้ประกอบการทั่วประเทศ