ตำนานเมืองจันทบุรี
ตำนานเมืองจันทบุรีโบราณถูกเขียนเป็นเรื่องลงไว้ในสมุดข่อยโบราณ พระครูโสภณสมณวัตร อดีตเจ้าอาวาสวัดทองทั่วเคยบอกว่า สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยเสด็จมาทรงสำรวจที่ตั้งเมืองจันทบุรีโบราณแห่งนี้ และได้นำเอาหนังสือตำนานดังกล่าวไปพร้อมกับศิลาลวดลายโบราณ และแผ่นศิลาจารึกไปด้วยหลายชิ้น สำหรับสมุดข่อยที่ว่านั้นยังคงมีเหลืออยู่ตามบ้าน แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าอยู่ที่ไหน หรือบ้านใด
นานมาแล้ว มีกษัตริย์ผู้ครองนครโบราณ ที่เชิงเขาสระบาป ทรงพระนามว่า พระเจ้าพรหมทัต พระองค์ทรงสืบราชบัลลังก์มาจากใคร เมื่อไรไม่ทราบ แต่ว่าพระองค์มีอัครมเหสี และมีราชโอรสด้วยกันสองพระองค์ องค์ที่เป็นพระเชษฐา ทรงพระนามว่า เจ้าบริพงษ์ องค์พระอนุชาทรงพระนามว่าเจ้าวงษ์สุริยามาศ ต่อมาพระเอกอัครมเหสีสิ้นพระชนม์ ทิ้งพระราชโอรสทั้งสองไว้กับพระราชบิดา แต่ว่าพระเจ้าพรหมทัต ได้ทรงอภิเษกกับมเหสีองค์ใหม่ ทรงพระนามว่าพระนางกาไว ซึ่งทรงมีพระศิริโฉมงดงาม เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าพรหมทัตยิ่งนัก ต่อมาทั้งสองพระองค์มีพระโอรสด้วยกันอีก 1 พระองค์ ทรงพระนามว่าพระไวยทัต
พระนางกาไวเป็นผู้มีใจอิจฉาในราชโอรส ที่ประสูติจากเอกอัครมเหสีเดิม และมักใหญ่ใฝ่สูงหวังจะให้พระไวยทัตราชโอรสครองนคร ตนจะได้อำนาจต่อไปหากว่าพระเจ้าพรหมทัตเสด็จสวรรคตแล้ว จึงทรงวางแผนกำจัดเจ้าบริพงษ์ และเจ้าวงษ์สุริยามาศเพื่อไม่ให้กีดขวางแผนการของตน ซึ่งตามกฎมณเทียรบาลย่อมมีสิทธิในพระราชสมบัติมากกว่าพระโอรสของพระองค์
พระนางกาไวทรงมีความคิดเช่นนี้มาตั้งแต่แรกที่ได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าพรมทัติแล้ว ครั้นเมื่อตนมีพระราชโอรส ก็ทรงดำเนินงานเพื่อให้พระเจ้าพรหมทัตซึ่งทรงโปรดปรานตนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ลุ่มหลงตนยิ่งขึ้น ถึงกับมีการลอบทำเสน่ห์ยาแฝดให้ราชสวามีเสวย เพื่อให้หลงรักตนแต่เพียงองค์เดียว และเมื่อได้โอกาสคราวใดก็พยายามทูลให้พระเจ้าพรหมทัตกำจัดเจ้าบริพงษ์และเจ้าวงษ์สุริยามาศเสีย โดยหาเรื่องยุยงว่าเจ้าลูกเลี้ยงทั้งสองไม่ดีด้วยประการใดประการหนึ่งอยู่เสมอ พระเจ้าพรหมทัตแม้จะทรงพระเสน่หาในพระนางกาไวเพียงไร ก็ยังทรงมีพระสติอยู่ ไม่ทำอะไรรุนแรงแก่พระโอรส แต่ในที่สุดเพื่อทรงตัดความรำคาญ จึงทรงเรียกพระราชโอรสทั้งสองมาชี้แจงแสดงเหตุผล ให้หาไพร่พลมาอยู่เองใหม่ ทั้ง ๆ ที่ทรงอาลัยในราชโอรสอยู่ ฝ่ายเจ้าบริพงษ์ และเจ้าวงษ์สุริยามาศ แม้จะทรงทราบเบื้องหลังอยู่แต่ด้วยความเกรงพระทัยในพระราชบิดา ก็เสด็จพาไพร่พลไปหาทำเลสร้างเมืองอยู่ใหม่ทางเหนือ คือในเขตท้องที่อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรีเดี๋ยวนี้ ซึ่งอยู่ใกล้แดนขอม (เขมร) เรียกกันว่าเมืองสามสิบ
เมื่อพระนางกาไวดำเนินงานตามแผนบรรลุไปขั้นหนึ่งแล้ว ก็พยายามรวบอำนาจต่าง ๆ เข้าไว้ ในมือของตน ครั้นเมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสด็จสวรรคตแล้ว พระนางก็สถาปนาพระไวยทัต ราชโอรสขึ้นเป็นกษัตริย์ ได้สมประสงค์ของตน โดยไม่มีอุปสรรคอันใด และได้ทีก็ตั้งตนเป็นผู้สำเร็จราชการ อันนับได้ว่าได้เป็นใหญ่เป็นโตมีอำนาจสมใจ โดยอ้างว่าราชบุตรไวยทัตยังทรงพระเยาว์อยู่ เมื่อมีอำนาจใหญ่ยิ่งแล้วพระนางก็ทรงทำนุบำรุงไพร่พลให้เข้มแข็ง เตรียมไว้รับศึก ซึ่งทรงดำริว่าจะเกิดจากเจ้าบริพงษ์และเจ้าวงษ์สุริยามาศแห่งเมืองสามสิบต่อไป ด้วยสาเหตุข้างต้นเมืองจันทบุรีโบราณ จึงเป็นที่เรียกติดปากกันว่า “เมืองกาไว”
ฝ่ายเจ้าบริพงษ์ และเจ้าวงษ์สุริยามาศสองพี่น้องทางเมืองสามสิบ เมื่อรู้เรื่องว่าพระราชบิดาสวรรคต และพระนางกาไวขึ้นครองเมือง ก็ไม่พอพระทัยรีบกรีฑาทัพมาเพื่อจะชิงเมืองคืน เพราะถือว่าตนมีสิทธิ์ในพระราชสมบัติยิ่งกว่าใคร แต่เนื่องจากกองทัพที่ยกมามีกำลังน้อย ทั้งขาดการเตรียมพร้อมที่ดี เมื่อยกมาอย่างรีบด่วนไพร่พลจึงเหน็ดเหนื่อยอิดโรย และเมื่อยกมาถึงแล้วก็ยกกำลังเข้าตีเมืองทันที ทางฝ่ายในเมืองเตรียมพร้อมอยู่แล้ว จึงต่อสู้ได้ชัยชนะกองทัพเจ้าบริพงษ์และเจ้าวงษ์สุริยามาศ ทุกครั้ง ผลที่สุดทั้งกองทัพคน กองทัพช้าง และกองทัพม้า ของสองราชโอรส ก็ต้องแตกถอยหนีกลับเมืองสามสิบอย่างระส่ำระสาย
เมื่อแพ้ทัพกลับถึงเมืองสามสิบแล้ว ก็เกลี้ยกล่อมผู้คน ช้างม้าศึก ฝึกอาวุธ และทะนุบำรุงให้เข้มแข็ง และได้บอกขอกำลังไปยังกษัตริย์ขอมซึ่งประทับอยู่ที่เมืองนครธม อันเป็นเมืองหลวงมาช่วยแก้แค้น โดยมีสัญญาว่าถ้าได้เมืองคืนแล้วจะแบ่งเมืองให้ ซึ่งกษัตริย์ขอมก็ได้ส่งกำลังมาช่วยในที่สุด
สองราชโอรสจึงทรงยกทัพไปเมืองจันทบุรีใหม่ กองทัพที่ยกไปใหม่ในครั้งนี้ เดินทัพมาด้วยความระมัดระวัง ไม่ประมาทเหมือนคราวที่แล้ว เมื่อมาถึงเมืองก็สร้างค่ายประตูหอรบ และตั้งพลับพลาประทับเตรียมไว้ต่อสู้ ทัพในเมืองฝ่ายจันทบุรีประมาท เพราะเคยรบชนะมาครั้งหนึ่งแล้ว ฉะนั้นเมื่อเจ้าบริพงษ์และเจ้าวงษ์สุริยามาศ จะส่งทูตมาเจรจาข้อตกลงโดยดีเหมือนที่เคยยกมาครั้งแรก ก็หาได้ตกลงด้วยอย่างใดไม่ ราชโอรสทั้งสองจึงยกกองทัพเข้าโจมตี ฝ่ายทางในเมืองออกต่อสู้ เห็นเหลือกำลังเพราะฝ่ายข้าศึกโจมตีเข้าเมืองได้แล้ว พระนางกาไวจึงให้ขนพระราชทรัพย์ ขึ้นหลังช้างที่เพนียด เปิดประตูเมืองจะหนี ที่ขนไปไม่ทันก็ขนทิ้งลงส้วม (เว็จ) เป็นอันมาก ครั้นจวนตัวจะหนีไม่ทันจริงๆ ก็ให้เอาเครื่องทองออกหว่านท้ายขบวนของตน เพื่อล่อข้าศึกให้พะวงเก็บอัญมณีเหล่านั้น ตนจะได้ลงเรือหนีไปอย่างสะดวก หลังจากนั้นพระนางก็รีบหนีลงเรือไป สถานที่ซึ่งพระนางกาไวหว่านทองไว้เรียกว่า "ทองทั่ว" ซึ่งก็คือ วัดทองทั่ว ในปัจจุบัน
เนื้อหาที่ในตำนานที่ปรากฏ มิใช่ในเรื่องที่เกิดขึ้นในจันทบุรีแต่เป็นปรัมปราของลาวมาก่อน ภายหลังได้แพร่หลายเข้ามาในจันทบุรี เพราะมีชาวลาวเดินทางเข้ามาในรูปของการแสวงหา ลายแทง และพระธุดงค์ที่เดินทางมาจากประเทศลาว ได้นำเรื่องราวมาเล่าจนแพร่หลาย การวิเคราะห์ดังกล่าวได้ข้อมูลจากคำบอกเล่าของคนดั้งเดิมที่อยู่ในจันทบุรี
.+*เมืองไทยมีดี*+.
คุกขี้ไก่ แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดยชาวฝรั่งเศสเมื่อครั้งเข้ายึดครองจันทบุรีในปี พ.ศ.2436
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!