จังหวัดเลยเป็นเมืองท่องเที่ยวซึ่งในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมตามสถานที่ต่างๆ นับแสนคน ดังนั้น จึงหนีไม่พ้นความเสี่ยงที่อาจจะเกิดเหตุร้าย
เป็นหน้าที่ของตำรวจที่ต้องรับมือแก้ไข
พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.ภ.4 เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงมอบหมายให้พล.ต.ต.อรรถกฤษณ์ ธารีฉัตร ผบก.ภ.จว.เลย จัดฝึกอบรมตำรวจในสังกัด เพื่อรับมือกับปัญหาอาชญากรรมที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่
จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษ "กองร้อยผีตาโขน" ขึ้นมาเพื่องานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมโดยเฉพาะ เพื่อให้หน่วยปฏิบัติการพิเศษหน่วยนี้ ทำงานตามหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รับมือกับปัญหาทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอาชญากรรมและปัญหายาเสพติดที่กำลังแพร่ระบาดในพื้นที่
ฝึกให้เป็นหน่วยสวาทประจำจังหวัดเลย!!
กองร้อยผีตาโขนถูกตั้งขึ้นตามชื่อที่เป็นเอกลักษณ์ของจ.เลย ซึ่งการใช้ชื่อ "ผีตาโขน" ก็เพื่อเป็นการข่มขวัญผู้กระทำผิดกฎหมายให้เกิดความหวาดกลัว เป็นไปตามตำนานที่เล่าขานกัน ว่าเมื่อครั้งที่พระเวสสันดรพร้อมด้วยพระนางมัทรีจะเดินทางออกจากป่ากลับสู่เมือง บรรดาผีป่าหลายตนและสัตว์นานาชนิดอาลัยรัก จึงพาแห่แหนแฝงตัวแฝงตนมากับชาวบ้านเพื่อมาส่งทั้งสองพระองค์กลับเมือง ชาวบ้านเรียกกันว่า "ผีตามคน" หรือ "ผีตาขน" และกลายมาเป็น "ผีตาโขน" จนถึงปัจจุบัน
กล่าวถึงการฝึกอบรมกองร้อยผีตาโขน เป็นการนำเอากองร้อยควบคุมฝูงชนที่มีอยู่แล้วในจังหวัดเลย จำนวน 400 คน มาฝึกทบทวนยุทธวิธีตำรวจ ฝึกการใช้อาวุธ ฝึกการตรวจค้นจับกุมตามยุทธวิธีที่ถูกต้อง รวมไปถึงการเข้าควบคุมฝูงชนในการชุมนุมของม็อบต่างๆ อย่างถูกวิธี โดยมีวิทยากรจากส่วนกลางมาทำหน้าที่อบรมให้ความรู้
ตามปกติแล้วภารกิจของกองร้อยควบคุมฝูงชน จะมีภารกิจควบคุมฝูงชนเพียงภารกิจเดียว ซึ่งหากไม่เกิดเหตุการณ์วุ่นวายหน่วยนี้ก็จะกลับไปประจำการอยู่ตามโรงพักต่างๆ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน ผู้การฯ อรรถกฤษณ์ จึงมีคำสั่งให้กองร้อยควบคุมฝูงชนเหล่านี้ มาฝึกเป็นกองร้อยผีตาโขนเพื่อพร้อมในการทำงาน เป็นการติดอาวุธความรู้และความพร้อมในการทำงานป้องกันและปราบปราม
ตารางการฝึกอัดแน่นไปทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ซึ่งครูฝึกได้รับการสนับสนุนจากครูฝึกค่ายนเรศวร 261 และจากกองบัญชาการตำรวจสันติบาลเข้าร่วมฝึกอบรม
ตำรวจที่ได้รับการฝึกในกองร้อยผีตาโขน จะถูกป้อนความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหลักคือตำรวจเพียง 1 นายจะต้องปฏิบัติภารกิจได้ถึง 3 ภารกิจด้วยกัน คือ การควบคุมฝูงชน การอารักขาดูแลผู้นำ อารักขาพยาน และการจู่โจมตรวจค้นอย่างถูกหลักไม่ละเมิดสิทธิประชาชน
ตำรวจเลยฝึกเข้ม กองร้อยผีตาโขน หน่วยสวาทปราบโจร
การฝึกอันเข้มข้นจะเริ่มจากการอบรมปรับพื้นฐาน ไล่ไปตั้งแต่ฝึกระเบียบแถว ไปจนถึงการเรียนทฤษฎีในห้องเรียน จากนั้นจะเริ่มสู่ภาคสนาม วิชาการต่อสู้ป้องกันตัว การต่อสู้มือเปล่าและการฝึกการใช้อาวุธประจำกาย การยิงปืนในรูปแบบต่างๆ เพื่อทดสอบความแม่นยำหากมีการปะทะกับคนร้าย
จากนั้นเป็นการฝึกการเข้าจู่โจมตรวจค้นเป้าหมายตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในบ้านและทางสาธารณะ การตั้งด่านตรวจและจุดสกัดที่ถูกวิธี โดยเน้นใช้ความละมุนละม่อมและสุภาพกับประชาชน ก่อนที่จะตามด้วยการฝึกยุทธวิธีการออกลาดตระเวนทั้งระยะใกล้ ระยะไกล ไปจนถึงหลักการใช้จิตวิทยาในการเจรจาต่อรอง เจรจาเพื่อช่วยเหลือตัวประกัน และการเข้าชาร์จช่วยเหลือตัวประกันให้ถูกต้องเพื่อลดการสูญเสียจากการปฏิบัติหน้าที่
สำหรับการฝึกยุทธวิธีควบคุมฝูงชนนั้น กองร้อยผีตาโขนจะได้รับการฝึกการควบคุมฝูงชนขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงการใช้โล่และกระบองอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ยังมีการฝึกการสนับสนุนกำลังทางอากาศอีกด้วย เนื่องจากพื้นที่จ.เลยเป็นป่าเขาต้องพร้อมรับทุกสถานการณ์ การฝึกยุทธวิธีจะแบ่งผู้เข้ารับการฝึกเป็นรุ่นๆ รุ่นละ 80 นาย อบรมรุ่นละ 3 วัน
และที่สำคัญ หลังจากผ่านการอบรมแล้วตำรวจทุกนายจะต้องเป็นครูฝึกนำวิชาความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้ตำรวจในโรงพักของตนเองเพื่อให้ได้รับความรู้ต่อๆ กันไปด้วย
เพื่อเป็นการต่อยอดทักษะความรู้ให้มากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันกองร้อยผีตาโขนฝึกอบรมครบแล้วทุกรุ่น ทำให้ตำรวจภูธรจังหวัดเลยมีบุคลากรเพิ่มขึ้นหลายคนหลายหน่วย
ซึ่งในวันที่ 26 มิ.ย. พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.ภ.4 จะทำพิธีส่งมอบกองร้อยผีตาโขนให้กับนายมานิตย์ มกรพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เพื่อรองรับภารกิจต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัด ซึ่งนอกจากทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์แล้ว ยังต้องสนองรับงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอีกด้วย
นับจากนี้จังหวัดเลยจะมี "กองร้อยผีตาโขน" ที่พร้อมออกปฏิบัติงานในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันเหตุร้าย การปราบปรามอาชญากรรม ไปจนถึงการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาเที่ยวจ.เลย
มีเหตุด่วนเหตุร้ายสามารถแจ้งมาได้ที่หมายเลข 191 หรือเบอร์โทรศัพท์ของโรงพักทุกโรงพักในจ.เลย