นักวิชาการไทยพบ ปลาพันธุ์ใหม่ 4 ชนิดของโลก ในคลองชมพู จ.พิษณุโลก

นายกฤษฎา ดีอินทร์ นักวิชาการชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพิษณุโลก กล่าวเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนว่า ค้นพบปลาสายพันธุ์ใหม่ 4 ชนิด บริเวณลำคลองชมพู

หมู่ที่ 3 ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ได้แก่ ปลาขยุยคลองชมพู เป็นปลาหน้าดินขนาดเล็ก กินสัตว์หน้าดินขนาดเล็กเป็นอาหาร มีขนาดตัวเต็มวัยยาว 2-3 เซนติเมตร ปลาขยุยคลองชมพูนี้ แบ่งเป็น 3 ชนิดที่ค้นพบใหม่ โดยจำแนกตามจุดเริ่มต้นของครีบท้องอยู่ตรงตำแหน่งสิ้นสุดของโคนครีบหลัง ได้แก่ 1.ขยุยสั้นคลองชมพู เป็นปลาแบบตัวสั้น ครีบไขมันยาว 2.ขยุยยาวคลองชมพู เป็นปลาแบบตัวยาว ครีบไขมันสั้น และจำแนกตามจุดเริ่มต้นของครีบท้องอยู่เหลื่อมจากตำแหน่งสิ้นสุดของโคนครีบหลังทางท้ายคือ 3.ขยุยปล้องคลองชมพู และชนิดที่ 4. ปลารากกล้วยแคระคลองชมพู เป็นปลาหน้าดินขนาดเล็ก กินสัตว์หน้าดินขนาดเล็กเป็นอาหาร ขนาดตัวเต็มวัยยาวประมาณ 3 เซนติเมตร


นายกฤษฎา กล่าวว่า  การค้นพบปลาใหม่ทั้ง 4 ชนิดนี้ ถือเป็นสัตว์ที่มีแหล่งอาศัยเฉพาะที่ และยังคงค้นพบในลำคลองชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก แห่งเดียวเท่านั้น

จากการตรวจสอบเบื้องต้นในการส่งปลาให้ผู้เชี่ยวชาญพันธุ์ปลาระดับโลกตรวจสอบในหมู่นักอนุกรมวิทาน แล้ว ได้รับคำตอบยืนยันกลับมาว่าเป็นปลาชนิดใหม่ของโลก ที่ยังไม่พบที่ใด  และยังไม่เคยจดตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์  สำหรับขั้นตอนต่อไป ทางศูนย์ฯกำลังดำเนินการตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ โดยการเขียนรายงานและตีพิมพ์ในสารสารวิทยาศาสตร์ทางอนุกรมวิธาน ให้ผู้เชี่ยวชาญปลาจากทั่วโลกในวงการจะตรวจสอบว่ามีการค้นพบที่ใดในโลกหรือไม่ เมื่อไม่มีผู้คัดค้านก็ตั้งชื่อเป็นปลาสายพันธุ์ใหม่ใช้เวลา 6-12 เดือน


สำหรับการค้นพบปลาสายพันธุ์ใหม่ 4 ชนิดครั้งนี้เนื่องจาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพิษณุโลก เข้าไปเป็นการดำเนินการสำรวจสายพันธุ์ปลาในสายน้ำสำคัญของจังหวัดพิษณุโลก

ทั้งแม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำยม แม่น้ำเข็ก ลำน้ำภาค และคลองชมพู ตามแผนปฏิบัติการติดตามตรวจสอบระบบนิเวศในน้ำและ การประมง เขื่อนแควน้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก เพื่อสอบทานชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาในจังหวัดพิษณุโลกตั้งแต่เมษายน 2546ถึงตุลาคม 2549 จัดทำเป็นฐานข้อมูลความหลากหลายของปลาในระบบแม่น้ำของจังหวัดพิษณุโลกช่วงก่อนที่เขื่อนแควน้อยจะปิดกั้นแม่น้ำแควน้อย ตลอดจนผลกระทบ ผลการสำรวจที่ผ่านมาพบปลาในจังหวัดพิษณุโลกเหลือเพียง 169 ชนิด จาก 252 ชนิด  และจากการสำรวจตามโครงการนี้ได้พบหอยน้ำจืดสายพันธุ์ใหม่ของโลกมาแล้ว คือ หอยเสียม บริเวณแม่น้ำแควน้อย ต.ท่างาม อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก


นายกฤษฏา กล่าวว่า การค้นพบปลาสายพันธุ์ใหม่ได้แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ประเทศไทยมีอยู่สูงมาก การค้นพบสัตว์พันธุ์ใหม่ ไม่ใช่แค่เพียงปัจจัยสี่

เราได้ประโยชน์จากความหลากหลายของสัตว์ต่าง ๆ มาก อาทิ ชุดว่ายน้ำของนักกีฬาโอลิมปิค ที่ทำลายสถิติ ก็ถอดแบบมาจากการเรียงตัวของเกล็ดปลาฉลาม ขณะที่การต้องการลิขสิทธิ์ของความหลากหลายมีมากมาย เช่น ข้าวหอมมะลิ หญ้าปล้องน้อย แม้ขณะนี้เรายังไม่ทราบว่าจะใช้ประโยชน์อะไรจากความหลากหลายของปลาสายพันธุ์ใหม่ที่พบ  แต่ก็มีความสำคัญมากเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ที่เราต้องเก็บไว้ให้คนไทยได้ศึกษาและใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีในประเทศไทยให้มากที่สุด


"ปลาหลายชนิดกำลังใกล้สูญพันธุ์ไปจากแหล่งน้ำ ศูนย์วิจัยและประมงน้ำจืดพิษณุโลกพยายามจะอนุรักษ์ไว้ อาทิ ปลาสร้อยขาว ปลาหนวดพราหมณ์ 7 เส้น ปลากหนวดพราหมณ์ 14 เส้น  ปลาหางบ่วง   ล่าสุดกำลังศึกษาวิจัยในการเพาะพันธุ์ปลาหางบ่วง เป็นปลาที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ อยู่ในกลุ่มปลาตะเพียน จัดเป็นปลาขนาดกลาง โตเต็มที่ยาว 1 ฟุต เป็นปลาประจำถิ่นลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ( ปิง วัง ยม น่าน )  ในอดีตพบมากแถวปากน้ำสะแกกรัง จากข้อมูลที่พบล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 ในแม่น้ำยม จ.สุโขทัย พบเพียง 2 ตัวเท่านั้น จึงถือว่าอยู่ในอัตราเสี่ยงสูญพันธุ์ สาเหตุมาจากการใช้อุปกรณ์ดักจับปลาประเภทโพงพาง ที่พบมากในเขต จ.สุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร" นายกฤษฏา กล่าว

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์