ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจง่อนแง่น การขอสินเชื่อจากธนาคารต้องคิดให้รอบคอบ นิตยสาร "SME Thailand" ฉบับมิ.ย.รวบรวมคำแนะนำจากนายแบงก์ช่วยประกอบการตัดสินใจ จะได้ไม่ติด "กับดัก" ดอกเบี้ยถูก
1.กู้เพื่ออะไรและจำเป็นแค่ไหน
ในภาวะเช่นนี้การตรวจสอบจากธนาคารสูงขึ้น เพิ่มเจ้าหน้าที่ติดตามลูกค้ามากขึ้น การขอสินเชื่อใหม่ในเวลานี้จึงเป็นเรื่อง "ไม่ปกติ" ผู้ประกอบการต้องระบุเหตุผลชัดเจน และควรมีหลักฐานยืนยัน เช่น เอกสารสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้า หรือกู้เพื่อซื้อเครื่อง จักรอุปกรณ์ในการผลิตใหม่ ควรจะระบุระยะเวลาการคืนทุน กำลังการผลิต ออร์เดอร์ในอนาคตที่ชัดเจน
2.จะขอสินเชื่อประเภทอะไร
ปัจจุบันธนาคารมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่หลากหลายให้ผู้ประกอบการเลือกใช้ให้ตรงกับจุดประสงค์มากที่สุด ในสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การขอสินเชื่อเพื่อขยายธุรกิจใหม่อาจลำบาก รวมทั้งไม่ได้วงเงินเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ เคยมีพฤติกรรมลูกหนี้บางราย ขอสินเชื่อหมุนเวียนในธุรกิจมาใช้ผิดประเภทโดยนำมาใช้ลงทุนในธุรกิจ เนื่องจากเห็นว่าโอกาสผ่านได้มากกว่า กรณีนี้ถ้าธนาคารรู้ก็อาจเสียเครดิต
3.จะนำอะไรเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน
ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์เริ่มมีโครงการประกันสินเชื่อด้วยแผนธุรกิจมากขึ้น จากเดิมที่เน้นเพียงหลักทรัพย์ที่จับต้องได้ เช่น อาคารที่ดิน อุปกรณ์ โดยเน้นโครงการธุรกิจที่มีนวัตกรรมหรือมีนโยบายประหยัดพลังงาน เป็นต้น
4.อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงหรือไม่
กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในข่ายมีความเสี่ยง ได้แก่ ภาคการส่งออกโดยเฉพาะธุรกิจที่มีคู่ค้าหลักอยู่ในสหรัฐ หรือยุโรป กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว เช่น โรงแรม สปา รีสอร์ต และอาจรวมถึงธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม เช่น ร้านอาหาร สถานบันเทิง ฯลฯ
5.ภาระหนี้สินที่มีอยู่
แม้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะปรับลดลงมาก แต่ในสภาวะที่สภาพคล่องด้านสินเชื่อตึงตัว ผู้ที่ถือเงินสดอยู่กับตัวย่อมมีโอกาสมากกว่าผู้ที่แบกภาระ "หนี้" ทั้งนี้หลักเกณฑ์ของธนาคารพาณิชย์จะไม่แนะนำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีหนี้สินต่อทุนมากกว่า 2 เท่า นอกจากนี้ผู้ประกอบการที่มีหนี้สินระยะยาวอาจจะมีโอกาสถูกปฏิเสธสินเชื่อมากขึ้น