นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบให้ทำลายลำไยที่รับจำนำไว้ในรุ่นปี 46 และ 47 ทั้งหมด
เนื่องจากเป็นลำไยที่ไม่ได้มาตรฐานที่จะนำไปแปรรูปเพื่อทำอะไรได้ แม้กระทั่งปุ๋ย และยังเป็นปัญหาในการกดดันตลาดและราคาในตลาด จึงต้องทำ ลายทิ้งอย่างรวดเร็ว โดยใช้งบประมาณไม่เกิน 90 ล้านบาท แต่ที่สำคัญกว่าคือบทเรียนของการจำนำและแทรกแซงสินค้าเกษตร ที่บริหารกันแล้วเกิดความเสียหายกว่า 3,000 ล้านบาท จากที่รัฐบาลได้รับจำนำไว้ในช่วงนั้นเป็นเงิน 4,700-4,800 ล้านบาท
และมีการทุจริตเกิดขึ้นกันจำนวนมาก และอยู่ระหว่างการดำเนินคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นอกจากนี้ยังทำให้ชาวบ้านถูกดำเนินคดีจำนวนมาก เนื่องจากเป็นผู้ไปเซ็นเอกสารการรับจำนำ ทั้งที่ชาวบ้านไม่ใช่ตัวการหลัก ซึ่งถือเป็นอุทาหรณ์ เรื่องการแทรกแซงที่ต้องไม่ให้เกิดขึ้นอีก
นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ลำไยปี 46 และ 47 แยกเป็น อยู่ในความดูแลขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) จำนวน 46,233 ตัน และอยู่ในความดูแลของ อคส. จำนวน 606.61 ตัน โดยปัจจุบันมีเงินที่เหลืออยู่แล้วจำนวน 55.26 ล้านบาท เท่ากับว่าต้องใช้เงินเพิ่มอีก 34.74 ล้านบาท และในที่ประชุมนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการเพิ่มเติมว่าโครงการนี้มีปัญหามากในเรื่องของคดี และการฟ้องร้อง ดังนั้นก่อนบดทำลายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะทำงานในการทำลายที่มีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานเร่งหารือและตรวจเช็กกับกระทรวงยุติธรรมให้ชัดเจนว่าลำไยในแต่ละงวดนั้นสามารถทำลายได้หรือไม่ รวมทั้งในการทำลายให้จัดทำเป็นวิดีโอเทปหรือภาพนิ่งไว้ทุกครั้งเพื่อเป็นหลักฐานด้วย
นายธีระ วงษ์สมุทร รมว.กระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า อ.ต.ก. รายงาน ข้อมูลให้ทราบว่าลำไย 46,000 ตัน คิดเป็นความเสียหายแก่รัฐเป็นเงิน 3,400 ล้านบาท โดยปัญหาเรื่องคดีความที่มีการฟ้องร้องอยู่ในขณะนี้ แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่มีการเปิดให้เอกชนมารับซื้อลำไยอบแห้ง ในราคา กก.ละ 5 บาท แต่มีการบอกเลิกสัญญาไป เนื่องจากเอกชนผิดสัญญา ไม่มารับซื้อ และกรณีการจ้างบริษัทปอเฮง อินเตอร์เทรดเข้ามารับอบแห้งลำไย แต่ส่งของได้เพียงส่วนเดียว และลำไยบางส่วนก็หายไป
อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในปี 47 ที่ฟ้องร้องกันมาก โดยมีเกษตรกรและพ่อค้าถูกแจ้งความดำเนินคดีกว่า 2,000 รายและอยู่ ระหว่างการฟ้องร้องทางคดีอยู่ ส่วนใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ คงไม่สามารถบอกได้ เพราะตนเองมีหน้าที่แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้ขยายระยะเวลารับจำนำมันสำปะหลัง ในจังหวัดระยอง ออกไปจนถึงวันที่ 31 ส.ค. 52 จากเดิมที่หมดเวลาในวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้เดิม เนื่องจากยังมีโควตาจำนำเหลืออยู่อีกกว่า 50,000 ตัน เพราะปัจจุบันเกษตรกรได้นำหัวมันสดมาจำนำไว้เพียง 5,799 ตัน จากเกษตรกร จำนวน 576 ราย จากที่ได้รับการจัดสรรปริมาณรับจำนำ 59,254 ตัน
นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า สั่งการให้กรมการค้าภายในและองค์การคลังสินค้า (อคส.) ตรวจสอบการรับจำนำข้าว หลังจากพบว่ามีปัญหาโครงการรับจำนำเต็มเร็ว ทั้ง ๆ ที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เพิ่งมีมติให้เพิ่มโควตาจำนำข้าวนาปรังปีการผลิต 2552 อีก 2 ล้านตัน เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา
“ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่าทำไมโควตารับจำนำเต็มเร็ว เพราะเพิ่งประชุม กขช. เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ตอนเย็น และมีหนังสือไปยังจังหวัด วันที่ 8 มิ.ย. ผ่านมาแค่วันสองวัน เกษตรกรมาบอกว่าโครงการรับจำนำเต็มแล้วมันน่าสงสัย”.