ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อที่สหรัฐฯผลิตมือถือรุ่น 'ใช้แล้วท้ิง' หากไม่ทิ้งนำมาแลกเป็นเงินคืนได้ ขณะที่เดนมาร์กออกแบบโทรศัพท์เมื่อพังเอาไป 'ปลูกต้นไม้' ได้ ส่วนไทยมีแนวคิด แต่ไม่ทำ เพราะไม่คุ้มทุน ...
การรณรงค์ลดโลกร้อนได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีทั้งในไทย และต่างประเทศ ซึ่งมีหลากหลายวิธี ทั้งใช้กระเป๋าผ้า และช่วยกันดับไฟฟ้า แต่ที่น่าสนใจคือ สินค้าไอทีที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้โลกร้อน ก็ลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเองเช่นกัน
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มีบริษัทโทรศัพท์มือถือชั้นนำหลายยี่ห้อ เปิดตัวโทรศัพท์มือถือเพื่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในแบบที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ไปจนถึงตัวเครื่องที่ทำมาจากขวดพลาสติกรีไซเคิล หรือแม้กระทั่งตัวเครื่องที่ทำจากไม้ไผ่ เมื่อใช้งานจนพังแล้ว จะกลายเป็นต้นไม้งอกออกมาได้ และโทรศัพท์มือถือชนิดใช้แล้วท้ิงก็มีด้วย แต่เพราะโทรศัพท์มือถือเหล่านี้มักมีราคาแพงกว่าโทรศัพท์มือถือทั่วไป จึงยังเป็นที่สงสัยกันอยู่ว่า ถ้ามีการวางขายอย่างจริงจัง โทรศัพท์มือถือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ซื้อหรือไม่
ที่สหรัฐอเมริกา ตัวแทนบริษัท ฮอบ-ออน (Hop-On) ในเคลิฟอร์เนีย เผยว่า ทางบริษัทได้รับอนุญาตจากคณะกรรมาธิการการสื่อสารแห่งสหรัฐอเมริกา (เอฟซีซี) (Federal Communication Commission-FCC) เพื่อวางจำหน่ายโทรศัพท์มือถือชนิดใช้แล้วทิ้งรุ่นแรก และมีแผนวางจำหน่ายอุปกรณ์ดังกล่าว ตามร้านสะดวกซื้อ, ร้านขายปลีก และปั๊มน้ำมันทั่วประเทศเร็วๆ นี้ โดยโทรศัพท์มือถือรุ่นนี้ทำจากพลาสติก และไม่ใช้จอภาพแอลซีดี รวมทั้งไม่มีคุณสมบัติรับส่งข้อมูลแบบล้ำหน้า เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ได้สูงสุด แต่จะมุ่งเน้นที่คุณสมบัติของการโทรเข้า-ออกเพียงอย่างเดียว โดยตัวเครื่องจะมีขนาดใกล้เคียงกับไพ่ และผู้ใช้จะสามารถสนทนาผ่านสายไมโครโฟน และหูฟัง ที่เชื่อมต่อกับตัวเครื่องได้
นายปีเตอร์ ไมเคิล หัวหน้าฝ่ายบริหาร และประธานบริษัทฯ เผยว่า โทรศัพท์มือถือดังกล่าวจะใช้เครือข่ายซีดีเอ็มเอ (CDMA) สามารถใช้โทรได้นาน 60 นาที โดยกำหนดค่าบริการทั้งหมด 40 ดอลลาร์ ผู้ใช้ยังสามารถซื้อบัตรเติมเงินเพิ่ม ซึ่งมีระยะเวลา 60, 90 และ 120 นาทีตามลำดับ และบริษัทฯ จะจ่ายเงินให้แก่ลูกค้าที่ต้องการขายเครื่องคืน ในราคา 5 ดอลลาร์ หรือราว 200 บาท เพื่อนำไปวางจำหน่ายแก่ลูกค้ารายอื่นต่อไป ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการผลิตได้ โดยวิธีการดังกล่าว เป็นกลยุทธ์หนึ่งของผู้ผลิตกล้องถ่ายรูปชนิดใช้แล้วทิ้งในปัจจุบัน ซึ่งจะนำกล้องตัวเดิมกลับมาวางขายใหม่ราว 4-5 ครั้ง
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนเปิดตัวโทรศัพท์มือถือชนิดใช้แล้วทิ้งรุ่นที่ 2 ซึ่งจะวางจำหน่ายในราคาเพียง 29 ดอลลาร์ หรือประมาณ 1,160 บาท หากองค์กรเอฟซีซีลงมติอนุมัติ โดยโทรศัพท์รุ่นนี้ จะใช้เครือข่ายจีเอสเอ็ม (GSM) และจะมุ่งเจาะตลาดทั้งในสหรัฐ และทวีปยุโรป ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับตัวแทนร้านขายปลีกขนาดใหญ่ราว 30 แห่ง รวมทั้งบริษัทอื่นๆ เพื่อให้เป็นตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์รุ่นดังกล่าวด้วย ขณะเดียวกันมีบริษัทผู้ผลิตสินค้าสำหรับผู้บริโภคหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่เจ้าหนึ่ง กำลังขอซื้อลิขสิทธิ์เพื่อนำไปวางจำหน่ายภายใต้ยี่ห้อของตนเอง เพื่อใช้เป็นของสมนาคุณลูกค้า
สำหรับโทรศัพท์มือถือใช้แล้วทิ้ง มีชื่อรุ่นว่า Hop 1800 คุณสมบัติของเครื่อง ใช้ระบบ 850/1900 MHz หรือ 900/1800 MHz คุยได้นานต่อเนื่อง 4 ชั่วโมง เปิดรอรับสายได้นาน 150 ชั่วโมง เสียงเรียกเข้าแบบ โพลีโฟนิก น้ำหนัก 77 กรัม ขนาด 96.6 x 41.6 x 14 มิลลิเมตร ไม่มีจอภาพเวลาจะโทรออกต้องกดเบอร์อย่างเดียว การใช้งานมีไว้โทรเข้ากับรับสายเท่านั้น และมีไว้ใช้แล้วท้ิง สนนราคาที่ 10 ดอลลาร์ หรือประมาณ 400 บาท (ไม่รวมค่าบริการ)
ส่วนประเทศเดนมาร์ก นายเกิร์ท แจน แวน บรูเจล นักออกแบบผลิตภัณฑ์ ผู้ออกแบบโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยตัวเครื่องทำจากไม้ไผ่ ย่อยสลายได้ง่าย และเมื่อใช้งานจนเสียแล้ว ยังคงเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม โดยกลายเป็นต้นไม้งอกขึ้นมาได้ด้วย เพื่อลดจำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้มีน้อยลง โดยโทรศัพท์มือถือรุ่นนี้ยังช่วยประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้า เพราะด้านหลังของเครื่องจะมีข้อต่อเอาไว้หมุนให้พลังงาน ถ้าหมุนข้อต่อครบ 3 นาที จะช่วยให้ตัวเครื่องมีพลังงานเพียงพอสำหรับการรับส่งข้อความสั้น หรือโทรเข้า-ออกได้ชั่วคราว ไม่จำเป็นต้องชาร์จไฟแบตเตอรี่ตลอดเวลา
ขณะเดียวกันมีผลการศึกษาของ Strategy Analytics พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในสหรัฐและยุโรป ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อมือถือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากนัก ส่วนกลุ่มที่ซื้อยังจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น ลูกเล่นในตัวเครื่องและรูปทรงการออกแบบ ถ้าเป็นมือถือในแบบที่เชยเกินไปหรือไม่มีลูกเล่นการใช้งาน แม้จะช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่คงไม่จูงใจให้ผู้บริโภคอยากซื้อมาใช้
ด้านประเทศไทยมีหนึ่งในผู้ผลิต และจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ เคยมีแนวคิดที่จะผลิตโทรศัพท์มือถือชนิดใช้แล้วท้ิง โดยจะเน้นจำหน่ายให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวระยะสั้น หรือกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ลืมโทรศัพท์มือถือไว้ที่บ้าน โดยนายศักดิ์ชัย เลิศเวชกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดโฟนวัน บริษัทไวร์เลส ดีไวซ์ ซัพพลาย จำกัด (ดับบลิวดีเอส) เผยว่า เคยมีแนวคิดเช่นนั้นจริง ในรูปแบบคล้่ายกับกล้องกระดาษใช้แล้วท้ิง แต่ปัจจุบันคงทำไม่ได้แล้ว เพราะตลาดมือถือทุกวันนี้ราคาเครื่องเริ่มกันที่หลักร้อยบาท ซึ่งการผลิตมือถือใช้แล้วทิ้งมีต้นทุนที่สูง และพฤติกรรมของผู้บริโภคไทยยังไม่ตอบรับเท่าที่ควร จึงไม่เหมาะหากจะผลิตและนำมาจำหน่าย เพราะจะได้ไม่คุ้มทุน
ผจก.ฝ่ายการตลาดโทรศัพท์โฟนวัน กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังอิงกระแสรักษ์โลก เพราะผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ทุกรุ่นนั้น ตัวเครื่องจะผลิตจากพลาสติกรีโซเคิล ใช้อะไหล่ระดับเกรดเอถึงบีบวก ส่วนแผงควบคุมการทำงานของระบบจะใช้สารเทียบเคียงตะกั่ว ซึ่งไม่มีส่วนผสมของตะกั่ว แต่มีคุณสมบัติเทียบเท่า เนื่องจากประเทศในยุโรปได้ออกกฎหมายเรียกร้องให้ผู้ผลิต เลิกใช้สารที่ก่อให้เกิดพิษในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ที่ทำงานด้วยแบตเตอร์รี่ ก่อนที่จะส่งสินค้าไปขาย ทำให้เหล่าผู้ผลิตสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตื่นตัวและคล้อยตาม
ส่วนนายปัญญา มโนมัยเสาวภาคย์ ผู้จัดการอาวุโสส่วนคุณภาพผลิตภัณฑ์ ไอ-โมบาย บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของโทรศัพท์มือถือใช้แล้วท้ิงนั้น ทางบริษัทฯ ยังไม่มีแนวคิดที่จะผลิต และจำหน่าย เนื่องจากยังไม่เหมาะกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ทุกวันนี้แค่เพียงการแยกขยะยังไม่สัมฤทธิ์ผลเลย อีกทั้งรูปแบบของโทรศัพท์ใช้แล้วท้ิงในต่างประเทศ แม้ว่าจะสามารถเอาไปขายคืนเป็นมือสองได้ ก็ยังไม่มีความแพร่หลาย
โทรมือถือฮิฟจริง ใช้แล้วทิ้ง แถมปลูกต้นไม้ได้
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ โทรมือถือฮิฟจริง ใช้แล้วทิ้ง แถมปลูกต้นไม้ได้
เครดิต : ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!