ทีมสัตวแพทย์สำนักพระราชวัง สัตวแพทย์มหา"ลัย มูลนิธิ สถาบันเกี่ยวกับช้างรวม 8 แห่ง ร่วมประชุมวางแผนวิธีรักษา "พังกำไล"
หมอเผยอาการดีขึ้นกว่าวันแรก แต่ยังกินอาหารได้น้อย ต้องให้น้ำเกลือแทนวันละ 20 ขวด ประชาชนแห่ให้กำลังใจ ขนผลไม้ของโปรดช้างทั้งกล้วย อ้อย สับปะรด แตงโม มาเยี่ยมไข้เพียบ ประกาศขอบริจาคสายดับเพลิงทำเป็นเปลพยุงตัว แค่วันเดียวบริจาคมากันพรึบ ทหารยังส่งกำลังมาช่วยเป็นลูก มือหมอ เจ้าของซาบซึ้งพระมหากรุณาธิ คุณสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ยืน ยันจะอยู่เฝ้าพังกำไลจนกว่าอาการจะดีขึ้น เพราะถือเป็นช้างมรดกตกทอดมาจากรุ่นปู่ย่า ผูกพันกันมากว่า 10 ปี
เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากสถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติ จ.สุรินทร์ สถานที่รักษา "พังกำไล" ช้างเพศเมียที่ประสบอุบัติเหตุรถยนต์พลิกคว่ำบาดเจ็บสาหัสที่ขาหน้าทั้ง 2 ข้าง
โดยมีนายสมศักดิ์ ศาลางาม ควาญช้างและเจ้าของพังกำไลนั่งเฝ้าอาการอยู่ไม่ยอมห่าง ทั้งนี้ ช่วงเช้าวันเดียวกัน พล.ต.ต่อศักดิ์ เหลืองตระกูล ผบก.จว.ทหารบกสุรินทร์ นำกำลังทหารจังหวัดทหารบกสุรินทร์ จำนวน 20 นาย มาที่สถาบันวิจัยฯ เพื่อช่วยเหลือคณะสัตว แพทย์ในการบำบัดรักษาพังกำไล เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ใหญ่ ต้องใช้กำลังคนจำนวน มากในการดูแลอาการบาดเจ็บ นอกจากนี้ ทางสถาบันวิจัยฯ ยังประสานขอรับบริจาคสายดับเพลิง เพื่อนำมาสานเป็นเปลใช้ ในการพยุงตัวพังกำไลขึ้นมาเพื่อให้อาหาร เนื่องจากช้างที่อยู่ในท่านอนจะกินอาหาร ได้น้อย
เวลา 08.00 น. น.สพ.เชาวลิต นาคทอง รองคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์มหิดล พร้อมคณะเดินทางมาพบส.พญ.ภัทร เชื้อพลายเวช ผอ.สถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติ จ.สุรินทร์ และชุดคณะสัตวแพทย์
ได้ร่วมประชุมกันประมาณ 15 นาที ส.พญ.ภัทรเผยว่า ตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา พังกำไลต้องนอนตะแคงท่าเดียว จึงกินอาหารได้น้อย อย่างไรก็ตาม จากการเฝ้าดูอาการแล้วแข็งแรงกว่าวันแรก สามารถให้อาหารอ่อนๆ ประเภทกล้วย ส่วนอ้อยนั้นยังกินไม่ได้ และหากจะให้อาหารพังกำไลต้องใช้รถเครนยกขึ้น เมื่อช้างกินอาหารได้น้อยต้องให้น้ำเกลือวันละ 20 ขวด การถ่ายต้องใช้มือล้วงควักออกมา ส่วนอาการบาดเจ็บนั้น จากการดูแผ่นฟิล์มเอกซเรย์แล้ว บริเวณขาข้างซ้ายยังเห็นไม่ชัด ต้องเอกซเรย์ใหม่ ส่วนขาขวานั้นกระดูกท่อนบนหัก
ด้าน น.สพ.เชาวลิต กล่าวว่า จากการมาเห็นอาการของพังกำไลแล้วไม่น่าห่วง เพราะ จากการรายงานของส.พญ.ภัทร ทราบว่ามีสุขภาพดีขึ้น สำหรับขั้นตอนการรักษาต้องรอคณะสัตวแพทย์พระราชทาน และต้องประชุมวินิจฉัยร่วมกันเป็นทีม
ต่อมาเวลา 12.00 น. ส.พญ.ภัทร พร้อมด้วยน.สพ.เชาวลิต ได้เฝ้าสังเกตอาการของช้างพังกำไล พบว่าเริ่มมีอาการอิดโรยอย่างเห็นได้ชัด ชูงวงกวัดแกว่งไปมาและพยายามจะทรงตัวลุกขึ้น ขณะที่ทางโรงพยาบาลช้างสุรินทร์ได้ประสานกับผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสุรินทร์ ขอกำลังทหารมาช่วยยกตัว พังกำไลเพื่อเอกซเรย์ดูกระดูกขาว่ามีส่วนใดที่หัก และจะมีวิธีการรักษาอย่างไร โดยจะรอแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก 6 มหาวิทยาลัยที่ลงมาช่วยตรวจอาการ ซึ่งก่อนรักษาจะต้องพยุงตัวให้พังกำไลลุกขึ้นให้ได้ อย่างไรก็ตาม มีประชาชนจำนวนมากมารอดูและให้กำลังใจช้างพังกำไลจำนวนมาก พร้อมกับมีสื่อมวล ชน ทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และวิทยุ เฝ้าติดตามทำข่าวอย่างใกล้ชิด
สัตวแพทย์วัง-ตรวจอาการพังกำไล
นายสมศักดิ์ ศาลางาม อายุ 30 ปี เจ้า ของพังกำไล กล่าวว่า พังกำไลเป็นมรดกตก ทอดจากรุ่นปู่ย่า อยู่มาด้วยกันกว่า 10 ปี เป็น ความผูกพันที่มีต่อกันมาก
สงสารที่ต้องมารับเคราะห์ครั้งนี้ กว่าจะนำมาส่งที่สุรินทร์ได้อาการก็เกือบสิ้นหวัง ต้องขอบคุณทีมแพทย์จากหลายแห่งที่พยายามหาวิธีรักษา และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณองค์สมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตนเองนอนเฝ้าพังกำไลทั้งคืนสังเกตอาการว่ามันคงเจ็บปวดมาก พยายามเปลี่ยนท่าทางตลอด แต่ทำไม่ได้ ตนจะดูแลพังกำไลจนกว่าจะหมดหนทางเพราะผูกพันกับมันมาก ร่วมทุกข์สุขมาด้วยกัน หากการรักษาจะใช้เวลานานเท่าไหร่ ก็จะเฝ้าดูแลรักษาจนกว่าจะ ดีขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกัน ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สุรินทร์ ได้จัดส่งรถเครนมาช่วยเหลือในการยกตัวช้างพังกำไลด้วย
ทั้งยังมีหน่วยงานราชการหลายแห่งต่างหยิบยื่นความช่วยเหลือเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย รวมทั้งมีผู้บริจาคสายดับเพลิงเพื่อนำมาพยุงตัวพังกำไลจำนวนมาก ทั้งจากเทศบาลตำบลจอมพระ อ.จอมพระ 4 เส้น เทศบาลตำบลระแงง อ.ศีขรภูมิ 7 เส้น เทศ บาลตำบลลำดวนสุรพินท์ อ.ลำดวน 11 เส้น เทศบาลตำบลกังแอน อ.ปราสาท 8 เส้น หจก.ทวีกิจก่อสร้างสุรินทร์ 2 เส้น พร้อมน้ำดื่ม 3 โหล เงิน 500 บาท อบจ.สุรินทร์ 2 เส้น พร้อมอาหารวันละ 100 กล่อง นอก จากนี้มีชาวบ้านที่มาให้กำลังใจพังกำไล ได้นำกล้วย สับปะรด แตงโม อ้อย มาให้เป็นอาหารสำหรับพังกำไลด้วย
เมื่อเวลา 14.00 น. น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ นายสัตวแพทย์ช่วยราชการสำนักพระราชวัง เดินทางมาถึงสถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติ จ.สุรินทร์
เข้าดูอาการของพังกำไล และเตรียมร่วมหารือกับคณะแพทย์จาก 6 มหาวิทยาลัย ที่กำลังจะเดินทางมาถึง เกี่ยวกับการวางแผนรักษาพังกำไล ทั้งนี้ ได้มีการเชิญชวนประชาชนทั่วไป ร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือพังกำไล ผ่านบัญชีกองทุนสนับสนุนโครงการสัตวแพทย์พระ ราชทาน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาราช เทวี กรุงเทพมหานคร เลขที่บัญชี 044-1-34174-6
เวลา 16.30 น. ทีมคณะสัตวแพทย์รักษาช้างพังกำไล ประกอบด้วย น.สพ.ม.ล.พิพัฒน ฉัตร ดิศกุล นายสัตวแพทย์ประจำสำนักพระ ราชวัง น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ นายสัตว แพทย์ช่วยราชการสำนักพระราชวัง จากสำนักพระราชวัง สพ.ญ.ไพวิภา กมลรัตน์ น.สพ.ศิริพงษ์ เกียรติมหากุล น.สพ.ศุวิชา จุทาเทพ น.สพ.นิวัตร จันทร์ศิริพรชัย จากคณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ น.สพ.นฤพนธ์ คำภา น.สพ.สุชาติ วัฒนชัย น.สพ.สุวลักษณ์ ศรี สุภา น.สพ.ธนพล หนองบัว จากมหาวิทยา ลัยขอนแก่น
น.สพ.เชาวลิต นาคทอง ทีมจากโรงพยา บาลปศุสัตว์และสัตว์ป่า คณะสัตวแพทย ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล น.สพ.พรชัย สันติเสวี คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์ น.สพ.ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ จากสถาบันคชบาลแห่งชาติ จ.ลำปาง น.สพ.เอก สิทธิ์ ติยานันท์ มูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย น.สพ.ปรีชา พวงคำ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลช้างลำปางของมูลนิธิเพื่อนช้าง ส.พญ.ภัทร เชื้อพลายเวช น.สพ. วีระศักดิ์ ปิ่นตาวงศ์ ส.พญ.มนัสวี ไทยภิรมย์ ส.พญ.เบญจมาส บุญศาสตร์ และว่าที่ร.ต.น.สพ.ทศพล ต่อศรี จากสถาบัน วิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติ จ.สุรินทร์
พร้อมด้วยนายวิรัตน์ ลิ้มสุวัฒน์ รองผวจ.สุรินทร์ พล.ต.ต่อศักดิ์ เหลืองตระกูล ผบ.จังหวัดทหารบกสุรินทร์ นายธงชัย มุ่งเจริญพร นายกอบจ.สุรินทร์ นายประเสริญ สรรเพชุดาญาณ ปศุสัตว์ จ.สุรินทร์ ร่วมประชุมกับคณะแพทย์ที่จะทำการรักษาพังกำไล โดยใช้เครื่องเอกซเรย์ ดิจิตอล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อดูลักษณะการหักของกระดูกขาหน้า 2 ข้าง โดยในส่วนขาหน้าซ้ายที่นอนตะแคงทับอยู่ ต้องใช้รถเครนยกตัวพังกำไลให้ยืนขึ้นเพื่อให้ทีมสัตว แพทย์เข้าเอกซเรย์ได้สะดวก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ทีมสัตว แพทย์เอกซเรย์พังกำไล ต้องใช้กำลังทหารจากค่ายวีรวัฒน์โยธิน จังหวัดทหารบกสุรินทร์ ช่วยกันดึงโซ่ที่ผูกขาพังกำไล
และช่วยกันร้อยสายฉีดน้ำดับเพลิงให้เป็นเหมือนเปลช่วยพยุงยกพังกำไลให้ลุกยืน ท่ามกลางประชาชนมามุ่งดูคอยให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก โดยทีมงานสัตวแพทย์เผยว่าจากสภาพของพังกำไลในขณะนี้ ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ซึ่งทางทีมแพทย์จะนำผลเอกซเรย์ไปวินิจฉัยเพื่อหาทางรักษาต่อไป