คมชัดลึก :หัวหน้าโครงการแพนด้าฯ เผยตรวจร่างกาย "แพนด้าน้อย" น้ำหนักกลับมาเท่าวันแรก 235 กรัมหลังร่างกายสูญเสียความชื้น ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจีนสอนวิธีเลี้ยงแพนด้า - เตรียมให้นม ระบุใช้เวลาเพียง 1 นาทีอุ้มลูกแพนด้าตรวจร่างกายหลัง 2 วันแรกใช้เวลานานกว่า 30 นาที ผู้ว่าฯรุดเยี่ยมระบุรออายุครบ 1 เดือนจัดประเพณีต้อนรับแบบล้านนา
เมื่อเวลา 15.20 น . วันที่ 29 พ.ค. นายเว่ย หมิง ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์เพาะพันธุ์แพนด้าหยาอัน ประเทศจีน นายประเสริฐศักดิ์ บุญตระกูลพูนทวี หัวหน้าโครงการวิจัยและจัดแสดงแพนด้าแห่งประเทศไทย ส . พญ . กรรณิการ์ นิ่มตระกูล สัตวแพทย์ประตัวหลินฮุ่ย พร้อมทีมงาน ได้นำตัวแพนด้าน้อยวัย 3 วัน ออกมาชั่งน้ำหนัก วัดอุณหภูมิ วัดความยาวและน้ำหนักเพื่อตรวจสอบพัฒนาการร่างกาย
นายประเสริฐศักดิ์ เปิดเผยว่า จากการตรวจสภาพร่างกายแพนด้าน้อยวานนี้ ( 28 พ.ค.) น้ำหนักตัวที่ลดลงไป 10 กรัม แต่วันนี้ ( 29 พ.ค.) เพิ่มขึ้นมาที่ 235 กรัม เท่ากับแรกเกิดแล้ว ส่วนความยาวยังเท่าเดิมคือ 17.5 เซนติเมตร ทั้งนี้ เรียกว่าอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ เพราะเติบโตได้ดีจากการกินนมแม่ได้เอง แม้ว่าก่อนหน้านี้จะสูญเสียน้ำหนัก เพราะสูญเสียความชื้น ขณะนำตัวออกมาตรวจสอบทำให้เราไม่จำเป็นต้องให้น้ำนมสำรองที่เตรียมไว้
สำหรับผู้เชี่ยวชาญจีนนายเว่ย หมิง ได้ให้คำแนะนำให้ทีมสัตวแพทย์เรียนรู้การจับ การทดสอบอุณหภูมิร่างกาย และการห่อผ้า เพื่อให้มีความกระชับแบบเดียวกับอ้อมกอดของแม่แพนด้า ส่วนการแยกตัวแพนด้าน้อยออกมาจากแม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่มีความคล่องแคล่วมากขึ้น และหลินฮุ่ยลดความหวาดระแวงลงไปเกือบหมด เพราะมีความไว้ใจพี่เลี้ยง จึงง่ายที่จะแยกลูกออกจากจากเดิมใช้เวลานานกว่า 30 นาที เป็นเพียง 1 นาทีเท่านั้น
นายประเสริฐศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า จากการทดสอบแพนด้าน้อยมีการทรงตัวได้ดี แต่ยังไม่รู้จักการยกมือหรือยกขาเพราะยังเด็กมาก แต่ไม่นานนี้คงทำได้ทั้งหมดและค่อยๆ แข็งแรงขึ้น
ผู้ว่าฯเยี่ยมเตรียมจัดประเพณีต้อนรับแบบล้านนา
นายอมรพันธุ์ นิมานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยหลังการเดินทางมาฟังการให้กำเนิดแพนด้าน้อยและเยี่ยมชมภายในคอกกักหลินฮุ่ยและแพนด้าน้อยเมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ ( 29 พ.ค.) ว่า จะนำขึ้นถวายรายงานแด่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาธินัตดามาตุ ซึ่งเสด็จเป็นองค์ประธานในการสมโภชพระวิหารวัดเจดีย์หลวงวรวิหารในเย็นวันนี้ ทั้งนี้ การจะเฉลิมฉลองจะต้องมีการหารือกันทุกฝ่ายเรื่องการเตรียมการเฉลิมฉลองให้กับแพนด้าน้อย
คาดว่าน่าจะจัดตามแบบประเพณีล้านนา ส่วนรูปแบบจะเป็นอย่างไรจะมีการกำหนดกันเพื่อให้เหมาะสมตามประเพณีสองฝ่ายอีกครั้ง ซึ่งในขณะนี้แพนด้าน้อยอายุได้เพียง 3 วัน น่าจะรอ 2-3 สัปดาห์ หรือให้ครบ 1 เดือน เพื่อให้แข็งแรงมากขึ้น และประชาชนจะได้ใกล้ชิดเต็มที่ ทั้งนี้ จากการที่เข้าไปดูหลินฮุ่ยอย่างใกล้ชิดพบว่าหวงลูกมาก และนอนกกแพนด้าน้อยตลอดเวลา ไม่ยอมให้เห็นลูกได้โดยง่าย
ทั้งนี้ ต้องเตรียมรับมือประชาชนที่จะเดินทางเยือนในไม่ช้านี้ และเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ได้มาก เพราะนี่ถือเป็นผลงานของทีมสัตวแพทย์ไทยที่ทำได้ สำเร็จเป็นครั้งแรกในปีนี้
เด็กอยากให้สื่อเล่นลูกแพนด้าต่อเนื่อง
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นจากเด็กประถมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 585 คน ระหว่างวันที่ 28-29 พฤษภาคมที่ผ่านมา เรื่อง "เด็กๆ คิดอย่างไร กับการเกิดลูกแพนด้าตัวแรกของเมืองไทย" พบว่า ร้อยละ 34.58 เด็กอยากให้สื่อนำเสนอการเจริญเติบโตของ "ลูกแพนด้า" การเลี้ยงดูมากที่สุด ร้อยละ 26.17 ระบุการเป็นอยู่ของลูกแพนด้าในสวนสัตว์เชียงใหม่ ร้อยละ 21.49 ระบุอาหารของลูกแพนด้า
ส่วนความรู้สึกของเด็กต่อการเกิดลูกแพนด้าตัวแรกของเมืองไทย พบว่าร้อยละ 57.08 อยากให้สื่อทุกชนิดนำเสนอข่าวของลูกแพนด้าอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 17.17 มีความสุขและภูมิใจที่ลูกแพนด้าเป็นตัวแรกที่เกิดในเมืองไทย ร้อยละ 14.16 อยากให้ลูกแพนด้าอยู่ที่เมืองไทยตลอดไป สำหรับชื่อลูกแพนด้า ร้อยละ 40.76 ให้ใช้ชื่อภาษาไทย เช่น คำเอ้ย ขนปุย คำงาม ชมพู่ ดอกปุย เป็นต้น ขณะที่ร้อยละ 34.78 ให้ใช้ภาษาจีน เช่น ช่วงหลิง หลิงช่วง หมิงหมิง หลิงหลิง เป็นต้น และร้อยละ 24.46 ระบุได้ทั้ง 2 แบบ