อภิสิทธิ์ วอนทุกฝ่ายผนึกกำลังรักษาภาษาไทยไว้เป็นมรดกชาติ


นายกฯ มอบรางวัล "ราชบัณฑิตยสถานสรรเสริญ" ปี 2551 ให้ มนตรี-ป๊อก-ซี-บุ๋ม 4 นักแสดงผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ชี้เด็กรุ่นใหม่ใช้ภาษาไทยผิดเพี้ยน ต้นเหตุรับวัฒนธรรมต่างชาติโดยไม่กลั่นกรอง แนะทุกฝ่ายสนองพระราชดำริภาคภูมิใจในภาษาไทย ช่วยกันใช้ให้ถูกต้อง รักษาไว้เป็นมรดกของชาติ

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2552 เวลา 09.30 น. ที่ราชบัณฑิตยสถาน สนามเสือป่า กรุงเทพฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบรางวัล ”ราชบัณฑิตยสถานสรรเสริญ“ ประจำปี 2551 โดยในพิธีดังกล่าว นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ บิดานายกรัฐมนตรี ในฐานะราชบัณฑิต เข้าร่วมในพิธีด้วย


ทั้งนี้ปีนี้มีนักแสดง 4 คน ซึ่งราชบัณฑิตยสถานศึกษาคัดเลือกให้เป็นผู้ที่ใช้ภาษาไทยดีเด่น ได้แก่  น.ส.ปิยธิดา วรมุสิก หรือป๊อก นักแสดงนำหญิงที่ใช้ภาษาดีเด่นจากเรื่องนางทาส บริษัท ดาราวิดีโอ จำกัด เป็นผู้ส่งเข้ารับการคัดเลือก นายศิวัฒน์ โชติชัยชรินทร์ หรือซี นักแสดงนำชายดีเด่นจากเรื่อง เรไรลูกสาวป่า สถานนีกองทัพบกช่อง 7 เป็นผู้ส่ง น.ส.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี หรือบุ๋ม นักแสดงประกอบหญิงดีเด่นจากละครเรื่อง ดั่งดวงตะวัน บริษัทบรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด เป็นผู้ส่ง และนายมนตรี เจนอักษร นักแสดงประกอบชายดีเด่น จากละครเรื่อง เทวดา...สาธุ บริษัทบรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด เป็นผู้ส่ง 
 
นายกฯ ยังได้มอบรางวัล ”ราชบัณฑิตยสถานสรรเสริญ“ พร้อมทุนการศึกษา 1 หมื่นบาท แก่ ด.ญ.ฐิตารีย์ ตันประเสริฐ ร.ร.อนุบาลสามเสน ซึ่งชนะการประกวดทักษะการใช้ภาษาไทยของเยาวชน ด.ญ.ธันยพร บุญพันธ์ จากโรงเรียนอนุบาลสุธีธร ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 พร้อมทุนการศึกษา 8,000 บาท ด.ญ.ภิชญาดา จุ้ยเจริญ จากโรงเรียนอนุบาลสุธีธร ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 พร้อมทุนการศึกษา 6,000 บาท และรางวัลชมเชยอีก 9 รางวัลรางวัลละ 2,000 บาท


นายอภิสิทธิ์ กล่าวหลังจากมอบรางวัลว่า ขอตั้งข้อสังเกตว่านักเรียนที่ได้รับรางวัลครั้งนี้ไม่มีเด็กผู้ชายแม้แต่คนเดียว คณะกรรมการคงจะต้องแยกประเภท เพื่อให้เด็กผู้ชายมีโอกาสและมีกำลังใจในการใส่ใจกับการใช้ภาษา ภาษาไทยถือเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ นอกจากจะใช้ติดต่อกันแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางยึดเหนี่ยวที่สำคัญของคนในชาติ ดังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า "ภาษาเป็นเครื่องผูกพันมนุษย์ และไม่มีสิ่งใดที่ทำให้คนรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน เท่ากับพูดภาษาเดียวกัน"


นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า คนไทยเป็นชาติที่มีภาษาและตัวอักษรเป็นของตัวเองตั้งแต่โบราณ แสดงว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมสูงส่งและยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นคนไทยจึงควรภาคภูมิใจที่ชาติไทยมีภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ และจะยั่งยืนต่อไปหากทุกคนตระหนักถึงความสำคัญในการใช้ภาษาไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ตระหนักถึงการใช้ภาษาไทย และมีพระราชดำริให้คนไทยช่วยกันรักษาภาษาไทย


"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงแสดงความห่วงใยการใช้ภาษาไทย เมื่อครั้งที่เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานและทรงร่วมอภิปรายปัญหาการใช้ภาษาไทย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 ว่า มีการใช้คำฟุ่มเฟือยและไม่ตรงกับความหมายจริง ออกเสียงไม่ถูกต้องตามอักขระวิธี ถ้าปล่อยไว้อย่างนี้ภาษาไทยคงจะทรุดโทรม ภาษาไทยเป็นมรดกที่ตกทอดที่มีค่า จึงทรงขอให้บรรดานิสิตและทุกคนมีหน้าที่รักษาและส่งเสริมภาษาไทย"  นายอภิสิทธิ์ กล่าว


นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้พบว่าเด็กจำนวนมากให้ความสำคัญต่อภาษาแม่ หรือการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องน้อยลง จนบางคนไม่สามารถอ่านหรือเขียนภาษาไทยที่ถูกต้องได้ สาเหตุหนึ่งคือโลกเรามีการเชื่อมโยง ติดต่อสื่อสารมากขึ้น และรับวัฒนธรรมโดยไม่มีการกลั่นกรอง หากไม่เรียนรู้ความละเอียดอ่อนในความแตกต่างของวัฒนธรรม จะทำให้มีการใช้ภาษาต่างประเทศอื่นๆ มากขึ้นโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ และมาผสมกับภาษาไทย ทำให้การใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้อง   


นอกจากนี้ ยังมีการสื่อสารผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การใช้ภาษาไทยได้รับผลกระทบ ทำให้เกิดภาษาที่เปลี่ยนแปลงไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะราชบัณฑิตยสถาน จึงต้องเผชิญความท้าทายในการแก้ปัญหานี้ แต่ก็ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงหรือพลวัตทางภาษาเช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงในเรื่องอื่น อย่างไรก็ตาม การสอนภาษาไทยถือเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้คนในชาติติดต่อสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ภาษาไทยในการพัฒนาความรู้ ความสามารถของตนเอง และสามารถสืบทอดมรดกทางภาษาที่มีการใช้อย่างถูกต้อง 
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า จากประสบการณ์ของตัวเองที่ไปใช้ชีวิตในต่างประเทศกว่า 10 ปี และจำได้ว่าก่อนไปต่างประเทศ พ่อได้ย้ำตลอดว่าจะต้องไม่ลืมภาษาไทย และการเรียนรู้ภาษาไทย ที่สำคัญคือ การอ่าน ดังนั้นการสนับสนุนการอ่านและสนับสนุนสื่อที่มีคุณภาพให้เหมาะสมกับคนแต่ละวัยจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในการรักษามรดกของชาติ รัฐบาลกำลังผลักดันให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ และมีโครงการที่จะสนับสนุนส่งเสริมตั้งแต่เด็กเล็ก โดยเป็นการทำงานร่วมกันของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ส่งเสริมการอ่านตั้งแต่เด็กเล็ก และจัดหาสื่อที่เหมาะสมกับทุกวัย เพื่อส่งเสริมการอ่าน 
 
คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ ราชบัณฑิต ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินงานคัดเลือกผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ประจำปีการศึกษา 2551 กล่าวว่า ราชบัณฑิตยสถานได้ริเริ่มมอบรางวัลราชบัณฑิตยสถานสรรเสริญให้แก่นักแสดงที่ใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง เป็นตัวอย่างแก่เยาวชนและประชาชนมาตั้งแต่ปี 2550 โดยบริษัทผู้จัดละคร 10 บริษัท ได้ส่งนักแสดง 22 คน เข้าคัดเลือก 
 
"คณะกรรมการได้คัดเลือกผู้ที่เหมาะสม โดยพิจารณาจากการออกเสียงที่สะกดคำที่ถูกต้อง เช่นการออกเสียงตัว ร รวมทั้งการเปล่งเสียงได้เหมาะสมกับบทบาทที่ได้รับ สามารถดึงคนดูให้คล้อยตามไปกับบทบาทได้ เช่น "ป๊อก" ปิยธิดา รับบทคุณหญิงในเรื่องนางทาส การพูดจาต้องดูเป็นผู้ดี ก็สามารถเปล่งเสียงไปตามบทบาทได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้นายกฯ ฝากว่า นอกจากแจกรางวัลให้นักแสดงแล้ว ควรจะแจกรางวัลประเภทพิธีกรและนักร้องด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ราชบัณฑิตตั้งใจจะดำเนินการอยู่แล้ว แต่คงไม่พร้อมแจกในปีหน้า" คุณหญิงกุลทรัพย์ กล่าว 
 
น.ส.ปิยธิดา กล่าวว่า อยากให้เยาวชนใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง เรามีภาษาของตัวเอง ขณะที่หลายประเทศอยากมีภาษาของตัวเองแต่กลับไม่มี เพราะฉะนั้นต้องภาคภูมิใจและใช้ภาษาให้ถูกต้อง โดยส่วนตัวจะเข้มงวดกับการพูดให้ถูกต้องอย่างมาก เมื่อต้องแสดงจะทำการบ้านก่อนทุกครั้ง


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์