"เอ็มไอที" สถาบันพัฒนาเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดตัวนวัตกรรม "ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ" รุ่น "อายสต๊อป" (เตะตา) หวังสร้างประสบการณ์ใหม่ด้านการเดินทางในเมืองใหญ่ หรือมหานครต่างๆ ช่วยให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น และใช้เป็นระบบตรวจวัดมลพิษไปในตัว มีแผนเริ่มทดลองใช้ในนครฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เร็วๆ นี้
"อายสต๊อป" พัฒนาโดยห้องปฏิบัติการ "เซนเซเบิล ซิตี้ แล็บ" ของสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเส็ตต์ หรือ "เอ็มไอที"
เป้าหมายโครงการนี้เพื่อทดสอบ "วัสดุอัจฉริยะ" ซึ่งเชื่อว่าจะมีบทบาทมากขึ้นในสังคมเมืองในอนาคต โดยเฉพาะระบบอินเตอร์แอ๊กทีฟ เชื่อมต่อข้อมูลข่าวสารและความบันเทิงอย่างรวดเร็วผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
โครงสร้างหลัก "อายสต๊อป" สร้างขึ้นมาจากเทคโนโลยี "อี-อิงก์" (หมึกอิเล็กทรอนิกส์) และจอภาพขนาดบางเฉียบ ผสมผสานกับกระจกและเหล็ก
เมื่อผู้โดยสารเข้ามายืนรอรถประจำทาง จอภาพระบบสัมผัสของ "อายสต๊อป" จะให้ข้อมูลหลายประการ อาทิ
1. แผนที่เส้นทางเดินรถ
2. แผนที่เมือง
3. เวลาที่รถโดยสารจะวิ่งเข้าป้าย
4. ข้อมูล-ข่าวสารความเคลื่อนไหวในชุมชนรอบๆ ป้ายอัจฉริยะแต่ละป้าย
5. ตรวจวัด-เก็บข้อมูลระดับมลพิษในพื้นที่ สำหรับวางแผนแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศต่อไปในอนาคต
6. แจ้งข่าวพยากรณ์อากาศ
นอกจากนั้น "อายสต๊อป" ทุกจุดยังมีบริการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ช่วยให้ผู้โดยสารสืบค้นข้อมูลที่ต้องการได้อย่างสะดวกสบาย
"เราเชื่อว่า "อายสต๊อป" จะเปลี่ยนแปลงประสบการณ์เดินทางในตัวเมืองครั้งใหญ่
"เพียงแค่ผู้โดยสารใช้นิ้วกดลงบนหน้าจอดิจิตอล ก็จะพบข้อมูลเส้นทางการเดินรถทุกสายไปยังจุดหมายที่ใกล้และประหยัดเวลามากที่สุด
"ตัวป้าย "อายสต๊อป" ยังสามารถเปลี่ยน "สี" เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์แจ้งให้ผู้โดยสารทราบว่า รถสายที่ต้องการใช้บริการใกล้มาถึงหรือยัง โดยถ้าใกล้แล้วก็จะเปลี่ยนสีเป็นสีเข้มขึ้น" คาร์โล แร็ตติ หัวหน้าห้องปฏิบัติการเซนเซเบิล ซิตี้ แล็บ กล่าว
จุดเด่นสำคัญอีกข้อของ "อายสต๊อป" ก็คือ ไม่ต้องพึ่งพากระแสไฟฟ้า
เพราะได้รับการติดตั้งแผง "โซลาร์เซลล์" และ แบตเตอรี่ เพื่อแปลงพลังงานแสงอาทิตย์ให้กลายเป็นไฟฟ้าเอาไว้เรียบร้อย
ทีมผู้พัฒนา "อายสต๊อป" มั่นใจว่า นวัตกรรมไฮเทคของตน จะมีประ โยชน์อย่างมากสำหรับคนในชุมชน
เนื่องจากป้ายอัจฉริยะรุ่นนี้มีระบบเปิดช่องให้ประชาชนมาเขียนประกาศข่าวสาร รวมถึงกิจกรรมความเคลื่อนไหวในชุมชน
และยังใช้เป็นสื่อลงประกาศ "โฆษณา" ได้ด้วยเช่นกัน
"อายสต๊อปทำหน้าที่เหมือนกับแหล่งข้อมูลข่าวสารที่ไหลเลื้อยเชื่อมต่อกันไปเรื่อยๆ ทั่วทั้งเมือง พร้อมกันนั้นก็ช่วยให้ประชาชนรู้ว่าสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวเป็นอย่างไร" จิโอวานนี่ เดอ เนเดอร์เฮาเซิร์น หัวหน้าโครงการอายสต๊อป ระบุ
ล่าสุด ห้องปฏิบัติการเซนเซเบิล ซิตี้ แล็บ กำลังจับมือกับทางการนครฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เพื่อนำ "อายสต๊อป" ไปทดลองใช้เป็นแห่งแรกในโลก
ป้ายรถอัจฉริยะอายสต๊อป เชื่อมโลกไซเบอร์-ตรวจมลพิษ
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ ป้ายรถอัจฉริยะอายสต๊อป เชื่อมโลกไซเบอร์-ตรวจมลพิษ