เมื่อ 19 พ.ค. เอเอฟพีและซีเอ็นเอ็นรายงานว่า
ศาลในเรือนจำอินเส่ง นครย่างกุ้ง ประเทศพม่า เปิดพิจารณาคดีนางออง ซาน ซู จี วัย 63 ปี ผู้นำประชาธิปไตยและพรรคฝ่ายค้านพม่า ฐานละเมิดคำสั่งกักบริเวณ ปล่อยให้นายจอห์น ยีตทอว์ ชาวอเมริกัน ว่ายน้ำข้ามทะเลสาบอินยาเข้าไปในบ้าน ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้นอย่างชัดเจน
หลังจากสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีของนางซู จี ยังมาชุมนุมที่หน้าเรือนจำอินเส่งต่อเนื่อง และตั้งข้อสังเกตว่า ทหารพม่าเร่งกระบวนการไต่สวนที่อาจทำให้เสร็จในสัปดาห์หน้า โดยเรียกพยานที่เป็นตำรวจขึ้นให้การในวันที่ 2 อีกจำนวน 5 นาย จากพยานทั้งหมด 22 ราย ที่ล้วนเป็นตำรวจทั้งหมด
ด้านรัฐบาลไทยออกแถลงการณ์ในฐานะประธานอาเซียน เรียกร้องให้ปล่อยตัวนางซู จี โดยทันที โดยมีใจความว่า "พม่าในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน ย่อมต้องมีความรับผิดชอบที่จะปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนด้วย จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าดูแลทางการแพทย์ที่พอเพียงและอย่างทันท่วงทีแก่นางซู จี รวมทั้งปฏิบัติต่อนางอย่างมีมนุษยธรรมและมีศักดิ์ศรี โดยที่ประชาคมโลกกำลังจับตามองพม่าอยู่ในขณะนี้ เกียรติภูมิและความน่าเชื่อถือของรัฐบาลแห่งสหภาพพม่าเองจึงอาจได้รับผลกระทบ" ถ้อยแถลงอาเซียน ระบุ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หวังให้พม่าฟังเพื่อนๆ ในอาเซียน เพราะอาเซียนมีท่าทีในการดำเนินนโยบายกับพม่าเหมือนเดิม ไม่มีความคิดดำเนินการในลักษณะของประเทศที่อยู่ห่างไกล เรายังพร้อมที่จะมีความสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ แต่เมื่ออาเซียนมีกฎบัตร ก็อยากให้ทุกประเทศช่วยกันรักษาแนวทางนั้นไว้
วันเดียวกัน บุคคลผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเช่นเดียวกับนางซู จี จำนวน 9 คน นำโดยอาร์กบิช็อปเดสมอนตูตู และประธานาธิบดีออสการ์ เอเรียส แห่งคอสตาริกา ลงนามในหนังสือส่งถึงนายบัน คี-มุน
เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า เลขาฯ ยูเอ็นควรเข้าแทรกแซงการดำเนินคดีกับนางซู จี ซึ่งเห็นชัดว่าเป็นการจัดฉาก เพราะพม่าในปัจจุบันไม่มีกระบวนการยุติธรรม และรัฐบาลพม่าใช้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคุมขังนางซู จี ทั้งที่คำสั่งกักบริเวณครั้งล่าสุดจะหมดอายุ 27 พ.ค. นี้