เผย รพ.เอกชนกำไรปีละ 1พันล้าน

"ไม่ได้มาตรฐานต้องลงโทษ"


เผยผลประกอบการปี 2548 รพ.เอกชน 13 แห่ง ฟันกำไรกว่า 2.8 หมื่นล้าน คาดปี 2549 พุ่งเฉียด 5 หมื่นล้าน ด้านกก.สมาคม รพ.เอกชน ชี้มีการตรวจสอบการรักษาของแพทย์ หากไม่ได้มาตรฐานต้องลงโทษ ส่วนค่ารักษาสูงหรือไม่ ผู้บริโภคจะเป็นผู้ตัดสิน

ธุรกิจกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลกำไรของโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ ที่เน้นบริการเครื่องมือแพทย์ราคาแพง ล่าสุดฝ่ายวิจัยธุรกิจ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ได้เสนอบทวิเคราะห์เรื่อง "โรงพยาบาลเอกชน การขยายตัวยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง" โดยกล่าวถึงธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ที่รายได้มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง และคาดว่ามูลค่าการตลาดในปี 2549 จะสูงถึง 4.9 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มร้อยละ 11.4 จากปี 2548


"13 รายรวมกันกว่า 2หมื่นล้าน"


บทวิเคราะห์ข้างต้นระบุว่า ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเอกชน 354 แห่ง รวม 36,323 เตียง ร้อยละ 63 อยู่ในภาคกลาง โดยโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ 13 รายนั้น ในปี 2548 ทำรายได้รวมกัน 28,170 ล้านบาท และเฉพาะช่วง 3 เดือนแรกของปี 2549 มีรายได้รวมกันทั้งสิ้น 8,588 ล้านบาท สูงขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วถึงร้อยละ 30

นอกเหนือจากการขยายสาขาและเครือข่ายให้กว้างแล้ว ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนยังเปิดศูนย์บริการเฉพาะทาง เพื่อมุ่งทำตลาดแบบเจาะลึกเฉพาะกลุ่ม เช่น ศูนย์โรคหัวใจ ศูนย์โรคมะเร็ง ศูนย์โรคกระดูก ศูนย์ศัลยกรรม ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีการโฆษณาเพื่อสร้างภาพลักษณ์ว่า มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการและรักษาพยาบาลในด้านนั้นๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและความมั่นใจแก่ลูกค้า พร้อมขยายการให้บริการแก่ผู้ป่วยชาวต่างชาติ


"หากมีร้องเรียนต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและลงโทษ"


ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ในปี 2547 มีชาวต่างชาติเข้ารับบริการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนมากถึง 1.1 ล้านราย แบ่งเป็นชาวญี่ปุ่น 2.4 แสนราย หรือร้อยละ 22 สหรัฐอเมริกา 1.2 แสนราย คิดเป็นร้อยละ 11 อังกฤษ 9.5 หมื่นราย กลุ่มลูกค้าอาเซียน 9.3 หมื่นราย และตะวันออกกลางประมาณ 7 หมื่นราย สำหรับในปี 2549 คาดว่าจะมีชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการรักษาเพิ่มเป็น 1.2 ล้านราย สร้างรายได้ให้ประเทศราว 3.6 หมื่นล้านบาท

น.พ.ไพศาล จันทรพิทักษ์ รองผู้อำนวยการ รพ.กรุงเทพ กล่าวในฐานะกรรมการบริหารฝ่ายประชาสัมพันธ์สมาคมโรงพยาบาลเอกชนว่า โดยปกติแล้วโรงพยาบาลเอกชนจะมีการตรวจสอบการรักษาของแพทย์ว่าได้มาตรฐานตามวิชาชีพหรือไม่ เช่น ที่ รพ.กรุงเทพ หากมีคนไข้ร้องเรียน จะมีการสืบหาข้อเท็จจริง หากพบแพทย์มีความผิดจริงก็จะว่ากล่าวตักเตือน หรือบางครั้งต้องให้ลาออกจากโรงพยาบาล ส่วนเรื่องการสั่งให้ตรวจรักษาด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์โดยไม่จำเป็นนั้น น.พ.ไพศาล กล่าวว่า ทุกครั้งที่แพทย์ส่งคนไข้ไปตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ จะต้องมีการอธิบายระบุเหตุผลที่ใช้เครื่องมือดังกล่าวตลอด


"อยากให้โรงพยาบาลเป็นธุรกิจไม่หวังผลกำไร"


ส่วนปัญหาที่โรงพยาบาลเอกชนไม่ติดประกาศราคาค่ารักษานั้น น.พ.ไพศาล อธิบายว่า เนื่องจากการรักษาผู้ป่วยแต่ละรายนั้น มีรายละเอียดไม่เท่ากัน เช่น ผู้ที่เข้ามาผ่าตัดหมอนรองกระดูก ก็ต้องตรวจว่าคนไข้มีโรคแทรกซ้อนอะไรบ้าง เช่น บางรายเป็นเบาหวาน บางรายมีความดันสูง บางรายเป็นโรคหัวใจ ฯลฯ ทำให้อัตราค่ารักษาแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่ก็มีการรักษาบางชนิดที่สามารถทำเป็นแพ็กเกจได้ เช่น คลอดลูก ศัลยกรรมตบแต่งจมูก ฯลฯ

น.พ.ไพศาล กล่าวถึงข้อเสนอของนักวิชาการ ที่ต้องการให้โรงพยาบาลเป็นธุรกิจที่ไม่แสวงหาผลกำไรว่า การคำนึงถึงผลกำไรจะขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของธุรกิจนั้น โรงพยาบาลเอกชนที่ตั้งราคาสูงเกินไป คนไข้ก็จะปฏิเสธไม่มารักษา ปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนมีการแข่งขันกันสูงมาก ผู้บริโภคจะเป็นผู้ตัดสินเอง หากผู้บริโภคไม่พอใจ ไม่ใช้บริการ ธุรกิจนั้นก็จะไม่ประสบความสำเร็จ


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์