เจ้าของโต้วุ่น-จิ้งจกแดงเริ่มซีด

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านของนายบริบูรณ์ ธูปแก้ว เลขที่ 7/1 ม.9 ต.สามตุ่ม อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา

ยังพบว่าตลอดทั้งวันตั้งแต่เช้าถึงเย็นยังมีคนเดินทางมาชม "จิ้งจกสีแดง" กันไม่ขาดสาย ส่วนมากผู้ที่มาชมต่างยกมือไหว้ พร้อมทั้งวางดอกไม้และพวงมาลัยไว้ข้างตู้จิ้งจกสีแดง ขอให้มีโชคมีลาภ นางเกษร ธูปแก้ว ภรรยานายบริบูรณ์ กล่าวว่า ยิ่งใกล้วันหวยออกคนเริ่มมามากขึ้น บางคนมาไกลจากกรุงเทพฯ และ จ.นครราชสีมา วันละร่วมร้อยคน ขณะนี้เจ้าจิ้งจกสีแดงเริ่มเปลี่ยนสี จากเดิมที่เป็นสีแดงจัด เริ่มจางลงคล้ายสีชมพูอ่อน ตนสอบถามจากคนเฒ่าคนแก่ บอกว่าจิ้งจกสีแดงตั้งท้องแล้ว กำลังจะออกไข่ สีมันจะเปลี่ยนไปเพราะจิ้งจกจะพรางตัว ไม่อยากให้คนเห็น ตนจึงเอาผ้าขนหนูใส่ไว้ในตู้ ให้มันซุกอยู่ในผ้า เพราะเป็นธรรมชาติของจิ้งจก ดูด้วยสายตาจะเห็นว่ามีไข่สีขาวอยู่ 2 ฟอง การคลานไปไหนมาไหนเริ่มเชื่องช้า นอกจากนี้ที่ปลายนิ้วยังมีเรื่องแปลก คือมีเล็บเริ่มงอกยาวขึ้นเรื่อยๆ

นางเกษรกล่าวถึงการที่เริ่มมีคนพูดว่าครอบครัวของตนเอาจิ้งจกมาหลอก ยืนยันว่าไม่รู้จะหลอกไปทำไม

เพราะไม่ได้หวังประโยชน์จากจิ้งจกสีแดง ไม่ได้ตั้งตู้รับเงินรับทองใคร อยากมาดูตนก็ให้ดู มีแต่คนมากราบไหว้ ทางครอบครัวไม่ขัดสน ตั้งแต่ได้จิ้งจกสีแดงมาอยู่ตนมีความสุขมาก คนที่เคยหยิบยืมเงินไปใช้ก็นำมาใช้คืน ตนเป็นโรคความดันต้องกินยาตลอดเวลา ช่วงนี้หายเครียด ไม่ต้องกินยานอนหลับ โรคความดันหายไป ถึงขณะนี้ยังไม่มีนักวิชาการเข้ามาดูเลย อยากให้เข้ามาศึกษาเหมือนกัน

นายสำเริง การเสถียร อายุ 40 ปี ชาวบ้าน กล่าวว่า รู้สึกแปลกใจมาก ว่าจิ้งจกมีสีแดง แต่หลังจากนั้นอีก 2 วันได้เข้าไปดูอีกปรากฏว่าสีเริ่มเปลี่ยนไป

ตนถามเพื่อนซึ่งเป็นสัตวแพทย์ จิ้งจกมักจะเปลี่ยนสีไปเรื่อยๆ ปรับตัวตามสภาพของธรรมชาติตามที่อยู่อาศัยใหม่ เชื่อว่าสีของมันจะกลับมาเป็นสีเดิมอีก เท่าที่เห็นในขณะนี้สีมันเริ่มจางเป็นสีชมพูปนทอง เพราะมันใกล้จะวางไข่ ตนรู้จักกับครอบครัวนี้ดี เป็นครอบครัวที่มีฐานะพอสมควร เรื่องที่จะมาหลอกลวงคงไม่มี และนายบริบูรณ์เจ้าของบ้านยังเป็นผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านเคารพนับถือ เรื่องที่จะมาสร้างเรื่องหลอกลวงชาวบ้านนั้นเป็นไปไม่ได้แน่นอน เจ้าจิ้งจกตัวนี้ต้องมาปรากฏตัวเพื่อให้โชคลาภกับชาวบ้านแน่นอน

ด้านน.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ สัตวแพทย์สำนักพระราชวัง กล่าวว่า จิ้งจกเป็นสัตว์จัดอยู่ในประเภทสัตว์เลื้อยคลาน มีลักษณะพิเศษคือผิวหนังจะลอกคราบเพื่อให้ร่างกายเจริญเติบโตขึ้น

เมื่อผิวหนังเดิมหลุดผิวหนังใหม่จะขึ้นมาแทนที่ ผิวหนังที่ลอกคราบเป็นผิวหนังกำพร้าที่มีขนาดเล็กมากและมีสารรงควัตถุ หรือเม็ดสีบนผิวหนัง และเม็ดสีของสัตว์เลื้อยคลาน จะสามารถเปลี่ยนสีให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ ถือเป็นความสามารถเฉพาะตัว หากจิ้งจกอยู่ในห้องที่สีขาวหรือสีอ่อน ผิวหนังจะออกสีน้ำตาลอ่อน ถ้าสิ่งแวดล้อมสีดำ ผิวหนังจะเป็นสีดำ ส่วนกรณีจิ้งจกสีแดงนั้น ในสัตว์เลื้อยคลานยังไม่เคยพบมาก่อน

น.สพ.อลงกรณ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการจะฉีดสีหรือหรือการทาสีลงบนตัวของสัตว์เลื้อยคลานนั้น เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งสัตว์ก็จะลอกคราบ

เอาสารแปลกปลอมบนผิวหนังออกจนหมด หากเป็นจิ้งจกก็จะอยู่ได้ไม่เกิน 10-15 วัน จะเริ่มลอกคราบ หากเป็นสิ่งผิดปกติต่อร่างกายการลอกคราบจะใช้ระยะเวลาสั้นขึ้น และเมื่อผิวหนังหลุดลอกออก สีจะค่อยๆ กลับมาเป็นสีปกติ อย่างไรก็ตามเท่าที่เคยศึกษามา ยังไม่เคยพบจิ้งจกที่มีสีแดงหรือชมพู ยกเว้นสัตว์ประเภทสะเทินน้ำสะเทินบก เช่น กบ โดยเฉพาะกบในทวีปแอฟริกาซึ่งเป็นสัตว์มีพิษจะมีสีแดง เขียวและเหลือง เพื่อขู่ไม่ให้ศัตรูเข้ามาใกล้

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์