นักวิชาการประมงชี้สัตว์จิ๋วใน"แควใหญ่"เป็นสัตว์ตระกูลปลิง คนละกลุ่มกับที่ดูดเลือด อาศัยในน้ำนิ่ง ไม่ทำอันตรายมนุษย์ถึงชีวิต แต่ยังไม่ยืนยันจะปลอดภัย 100% รอผลตรวจสอบอีกครั้ง ประปายันน้ำสะอาด ไร้สิ่งแปลกปลอมเจือปน พ่อเมืองกาญจน์สั่งท้องถิ่นสำรวจ หาทางควบคุมให้อยู่ในวงจำกัด
นายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี พร้อมคณะเข้าตรวจสอบสัตว์ที่มีรูปร่างคล้ายปลิงเข็มในแม่น้ำแควใหญ่
ซึ่งชาวบ้าน ต.ท่ามะขาม อ.เมืองกาญจนบุรี หวาดกลัวเรื่องของความปลอดภัยของผู้ที่ลงเล่นน้ำ และการใช้น้ำจากแม่น้ำแควใหญ่เพื่อการอุปโภค บริโภค รวมทั้งผู้ใช้น้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัดกาญจนบุรี โดยนักวิชาการประมงยืนยันว่า เป็นสัตว์ที่อยู่ในตระกูลปลิง แต่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มปลิงดูดเลือด ส่วนจะเป็นปลิงชนิดใดนั้น ขอตรวจสอบอีกครั้ง
ทั้งนี้ เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 พฤษภาคม นายเริงศักดิ์ พร้อมคณะ
ประกอบด้วย สาธารณสุข ประมง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประปา รวมทั้งเทศบาลเมืองกาญจนบุรี เข้าตรวจสอบบริเวณริมน้ำของชุมชนบ้านชุกกุม ซึ่งเป็นจุดที่พบสัตว์ที่มีรูปร่างคล้ายปลิงอาศัยอยู่ชุกชุม พร้อเก็บตัวอย่างของสัตว์ชนิดนี้นำไปตรวจสอบ
ชาวแควใหญ่ตื่นปลิงประหลาด นักวิชาการยันไม่ดูดเลือด การประปายืนยันน้ำสะอาดไร้สิ่งแปลกปลอม
ดร.วชิระ กิตติมศักดิ์ นักวิชาการประมงชำนาญการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรี กล่าวว่า สัตว์ชนิดนี้เป็นสัตว์ที่อยู่ในกลุ่มปลิง แต่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มปลิงดูดเลือด
โดยกลุ่มปลิงที่ดูดเลือดจะมีลักษณะลำตัวกลม และว่ายน้ำได้ ส่วนปลิงชนิดนี้มีลักษณะลำตัวแบน ไม่ว่ายน้ำ แต่คืบคลานไปตามพื้นของท้องน้ำ และไม่ดูดเลือด เพียงแต่จะสร้างความรำคาญเท่านั้น และมีขนาดเท่าลูกน้ำเท่านั้น จะไม่ตัวใหญ่ไปกว่านี้แล้ว จากการสำรวจและพบว่ามีปลิงชนิดนี้จำนวนมาก จึงสันนิษฐานได้ว่าบริเวณดังกล่าวจะต้องเป็นถิ่นที่อยู่อาศัย ซึ่งมีอาหารของมันอยู่ในบริเวณนั้นๆ ด้วย และจะอาศัยอยู่บริเวณที่มีน้ำนิ่ง ดังนั้นในบริเวณที่มีกระแสน้ำไหลปลิงชนิดดังกล่าวก็ไม่สามารถเกาะยึดอาศัยได้
"ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า แหล่งกำเนิดของมันอยู่ตรงจุดใด และไม่สามารถยืนยันได้ว่าสัตว์ชนิดนี้จะปลอดภัยกับมนุษย์ 100% อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายในวันอังคารที่ 12 พฤษภาคมนี้ จะสามารถทราบผลและชี้ชัดได้ว่า ปลิงชนิดนี้เป็นปลิงอะไร และสามารถควบคุมจำนวนของมันหรือกำจัดมันได้อย่างไร โดยจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้น้ำเป็นหลัก เช่น ใช้วิธีชีวควบคุม หรือให้ธรรมชาติควบคุมกันเอง โดยทดลองว่าปลาหรือสัตว์ชนิดใดที่กินปลิงชนิดนี้ จากนั้นก็ปล่อยสัตว์ชนิดนั้นๆ ลงไปในบริเวณที่มีปลิงอาศัยอยู่ อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันในเบื้องต้นว่าปลิงชนิดนี้ไม่ทำอันตรายต่อมนุษย์ถึงชีวิต และจะไม่ดูดเกาะหากไม่นำเท้าแตะถึงพื้นน้ำ" ดร.วชิระกล่าว
ด้านนายเริงศักดิ์ เปิดเผยว่า ปลิงชนิดนี้จะพบในบางจุดของลำน้ำเท่านั้น โดยยังไม่พบปลิงชนิดนี้ตามสถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำโดยตรง
เช่น หาดทรายท่าล้อ อ.ท่าม่วง แต่จะพบบริเวณที่เป็นแหล่งชุมชน และบริเวณที่มีน้ำนิ่ง โดยอาจใช้วิธีจำกัดห่วงโซ่อาหาร เพื่อไม่ให้มันระบาดและแพร่ขยายพันธุ์มากขึ้น และจากการสอบถามเด็กๆ ที่เล่นน้ำอยู่เป็นประจำ ระบุว่าเพิ่งพบปลิงชนิดนี้มาประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา และก็ไม่ได้ทำให้ผิวหนังเป็นแผล และเกิดอาการเจ็บป่วยกับร่างกายแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม จะต้องรอผลพิสูจน์ว่าปลิงชนิดนี้เป็นปลิงอะไร มีคุณมีโทษอย่างไร เพื่อหาวิธีการควบคุมให้อยู่ในวงจำกัด หรือหาวิธีกำจัดตามหลักวิชาการต่อไป
"ขอให้นักท่องเที่ยวมั่นใจในความปลอดภัยในการลงเล่นน้ำ หรือท่องเที่ยวทางน้ำ เพราะมันไม่ทำอันตรายต่อมนุษย์ ส่วนผู้ใช้น้ำประปาก็ขอให้มั่นใจในความสะอาดปลอดภัย เพราะการผลิตน้ำประปามีการผ่านกระบวนการกรองหลายขั้นตอน ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ยังไม่เคยพบปลิงชนิดนี้อยู่ในน้ำประปาตามบ้านเรือนของราษฎรแต่อย่างใด นอกจากนี้จะได้ประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ที่มีพื้นที่ติดริมแม่น้ำแควใหญ่ตลอดสาย ตั้งแต่ อ.ศรีสวัสดิ์ เรื่อยมาจนถึง อ.เมือง รวมทั้งอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ด้วย เพื่อให้ตรวจสอบว่ามีปลิงชนิดนี้อาศัยอยู่หรือไม่ จะได้หาวิธีดำเนินการกำจัดต่อไป" นายเริงศักดิ์กล่าว
นายประสาน เลื่อนพฤกษ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า ในรายงานของผู้ป่วยยังไม่พบว่า มีผู้ป่วยที่เกิดจากปลิงชนิดนี้
แต่อย่างไรก็ตามให้ระวังในเรื่องของการลงเล่นน้ำ โดยควรหลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำในบริเวณที่เป็นแหล่งชุมชน และมีน้ำนิ่งในระยะนี้ก่อน เพื่อความปลอดภัยจนกว่าทางวิชาการจะยืนยันว่าปลิงชนิดนี้เป็นสายพันธุ์อะไร มีวงจรชีวิตอย่างไร โดยในเบื้องต้นพบว่าเป็นปลิงที่ดูดเกาะอยู่ตามร่างกาย แต่ยังไม่พบว่ามันเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ทางหู ตา จมูก รวมทั้งทางทวารต่างๆ หรือไม่ และจากการที่เด็กลงเล่นน้ำมาตลอดระยะเวลา 2 เดือน ก็ยังไม่พบความผิดปกติของร่างกายแต่อย่างใด
ขณะที่ นายกำธร คุ้มเสาร์ หัวหน้างานผลิต สำนักงานการประปากาญจนบุรี เปิดเผยว่า การประปาเฝ้าระวังในเรื่องของกระบวนการผลิตน้ำประปาเต็มที่อยู่แล้ว
ที่ผ่านมาก็เคยมีข่าวลือว่ามีสิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่งเข้าไปปะปนอยู่ในน้ำประปาที่แจกจ่ายไปตามบ้าน จึงได้เฝ้าระวังอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด โดยเริ่มจากนำน้ำดิบมาผ่านการใส่คลอรีน ซึ่งสัตว์มีชีวิตจะไม่สามารถที่จะมีชีวิตอยู่ได้ จากนั้นมาผ่านขั้นตอนของการตกตะกอนแล้วผ่านไปยังการกรองชั้นทราย และถึงแม้ว่าปลิงจะมีขนาดเล็กแต่ก็จะไม่สามารถเล็ดลอดผ่านขั้นตอนนี้ไปได้อย่างแน่นอน จากนั้นก็ทำการฆ่าเชื้อโรคอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะปล่อยส่งผ่านท่อไปยังบ้านเรือนของประชาชน จึงขอรับรองในความสะอาดปลอดภัยของน้ำประปาที่ผลิต