ต้านการค้าสตรี-เด็ก ไทย-พม่าผนึกทีมปราบ


ปลายเดือนที่แล้ว นายอิสสระ สมชัย รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยในการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะเด็กและสตรี (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่า เพื่อใช้เป็นกรอบการดำเนินงานป้องกัน คุ้มครอง ช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ของ 2 ประเทศ

บันทึกความเข้าใจเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์นี้ ไทยเคยทำในระดับทวิภาคีกับกัมพูชา ลาว เวียดนาม มาแล้ว โดยตั้งคณะทำงานร่วมกัน ส่วนกับพม่า มีขึ้นหลังจากสถานการณ์วิกฤตไปทั่วโลก เราต่างก็เห็นว่าสถานการณ์ล่อแหลมให้ขบวนการค้ามนุษย์ฉกฉวยโอกาสสร้างปัญหารุนแรงมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2547 ไทยร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจระดับพหุภาคีว่าด้วยความร่วมมือในการต่อต้านการค้ามนุษย์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม และจีน (ยูนนาน) ภายใต้โครงการความร่วมมือสหประชาชาติเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (UN Inter-Agency Project on Human Trafficking in the Greater Mekong Sub-Region : UNIAP) เพื่อให้เกิดกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศและการริเริ่มความร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาค

การทำความเข้าใจระหว่างไทย-พม่าล่าสุด จะทำให้เกิดความเข้มแข็งในการแก้ปัญหา เพราะเราพบว่ามีเด็กและสตรีพม่าถูกล่อลวงมาเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในไทยจำนวนมาก ทั้งถูกค้าประเวณี ใช้แรงงาน และขอทาน โดยเหยื่อยังอยู่ในสถานสงเคราะห์ของไทยเกือบ 200 ราย เราได้เตรียมดูแล ฝึกอาชีพเพื่อส่งกลับภูมิลำเนาประเทศพม่าต่อไป



"ภายหลังทำเอ็มโอยู ทั้ง 2 ประเทศจะมีการทำแผนปฏิบัติการร่วมกันว่า ทั้ง 2 ฝ่ายต้องทำอะไรบ้างจะทำให้ปัญหาค้ามนุษย์ลดน้อยลง ส่วนการตั้งจุดประสานงานชายแดนไทยพม่าเพิ่มที่จ.กาญจนบุรี ผมจะรับไปเสนอรัฐบาลไทยเพื่อดำเนินการให้เหมาะสม ส่วนปัญหาโรฮิงยาเป็นปัญหาระหว่าง 2 ประเทศ เราเสียใจที่มีการนำไปขยายให้ใหญ่ระดับโลก เชื่อว่ารัฐบาลพม่าก็เสียใจ ซึ่งรัฐบาลพม่าก็บอกว่าโรฮิงยาเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีปัญหามาก ดังนั้น ในอนาคตเราจะแก้ปัญหานี้รวมทั้งปัญหายาเสพติดให้หมดไปให้ได้" รมว.การพัฒนาสังคมฯ กล่าว

พล.ต.หม่อง อู รมว.มหาดไทยพม่า ผู้รับผิดชอบดูแลปัญหาการค้ามนุษย์โดยตรง กล่าวว่า พม่ามีชายแดนติดกับไทยยาว 2,096 กิโลเมตร ทำให้มีคนฉวยโอกาสทำผิดกฎหมายค้ามนุษย์และค้ายาเสพติดมาก ไทยและประเทศในอาเซียนพยายามช่วยกันแก้ปัญหา พม่าเองก็พยายามต่อต้านการค้ามนุษย์ตั้งแต่ปี 2540 และปี 2548 ได้ออกกฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ เราเองก็พยายามแก้ปัญหา แต่พม่ามีปัญหาการค้ามนุษย์ทั้งของประชากรพม่าและจีนด้วย โดยพื้นที่ที่พบปัญหาค้ามนุษย์มากในพม่า เช่น รัฐคะฉิ่น รัฐฉาน เกาะสอง ท่าขี้เหล็ก

ร่างแผนปฏิบัติการร่วมไทย-พม่าเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะเด็กและสตรี ที่จัดทำเบื้องต้นด้านการป้องกัน อาทิ การประชุมร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลประสบการณ์ การวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยง หามาตรการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ร่วมกัน ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือเยียวยา ฟื้นฟู อาทิ การส่งเสริมความรู้ด้านสังคมสงเคราะห์แก่ผู้ปฏิบัติงาน ฝึกอาชีพให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ การฝึกอบรมล่ามภาษาไทย พม่า และชนเผ่า เพื่อการคุ้มครองเหยื่อ



ด้านกฎหมายและการปราบปราม อาทิ ประชุมแลกเปลี่ยนความรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง จัดทำคู่มือใช้ในการสืบสวนสอบสวนเพื่อดำเนินคดี ด้านการส่งกลับและคืนสู่สังคม อาทิ การประชุมศึกษาข้อมูลจัดทำแนวทางในการส่งกลับและคืนสู่สังคมต้องครอบคลุมถึงการคัดแยกเหยื่อ การพิสูจน์สัญชาติ แนวทางช่วยเหลือผู้เสียหายที่เป็นเด็กโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก พัฒนาการจัดเก็บข้อมูลผู้เสียหาย เป็นต้น

นางญาณี เลิศไกร ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าหญิงและเด็ก กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวว่า ภายหลังการทำเอ็มโอยูของไทยและพม่า ผู้ปฏิบัติงานของ 2 ประเทศจะมีการปฏิบัติงานร่วมกัน โดยตั้งคณะทำงานร่วม จัดประชุมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ จัดทำแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ แนวทางการทำงานและกรอบการดำเนินงานต่างๆ ร่วมกันเพื่อใช้ดำเนินการในเวลา 3 ปีต่อจากนี้ โดยไทยมีความพร้อมในการทำงาน เช่น กระทรวงพม.มีสถานที่รองรับผู้เสียหาย สถานคุ้มครอง บ้านพักเด็กและครอบครัว 7 แห่ง และบ้านพักชั่วคราว (Temporary Shelters) กว่า 100 แห่งทั่วประเทศ เพื่อดูแลและส่งกลับผู้เสียหาย

ขณะเดียวกัน ต้องทบทวนการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ตลอดเวลา เหมือนที่เคยทำกับ 3 ประเทศเพื่อนบ้านก่อนหน้านี้ คือ ลาว กัมพูชา เวียดนาม เช่น สถานการณ์ของลาว ที่มีการเปิดเส้นทางเข้าออกประเทศใหม่ๆ หลายจุด มีการเปิดเส้นทางรถไฟ สะพานข้ามระหว่างประเทศ เป็นการเพิ่มจุดเสี่ยงวิกฤตในการค้ามนุษย์ ขณะที่เรามีจุดส่งต่อผู้เสียหายจุดเดียว การนำแรงงานเด็กที่อายุน้อยลงไปเรื่อยๆ มาค้ามนุษย์จึงต้องมีการทบทวนเนื้อหาในเอ็มโอยูต้องปรับให้ทันสถานการณ์ นำกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นมาบังคับใช้

ขณะที่พม่ามีปัญหาติดขัดเรื่องการสื่อสาร เพราะมีชนหลายกลุ่มอยู่ใประเทศ จำเป็นต้องใช้ล่ามภาษาไทย พม่า และภาษาชนเผ่าในการสัมภาษณ์ ฟื้นฟูเด็ก การประชุมเฉพาะกรณี เพราะต้องเดินทางไปมาระหว่าง 2ประเทศ เพื่อติดตามเหยื่อที่ตกค้างและง่ายในการแก้ปัญหา จึงให้ความสำคัญในการกำหนดการฝึกอบรมล่ามเพิ่มขึ้นในแผนปฏิบัติงานด้วย อย่างไรก็ตาม การทำงานระดับทวิภาคีกับทุกประเทศจะต้องรายงานในการประชุมพหุภาคีในโครงการความร่วมมือสหประชาชาติเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อให้เห็นความคืบหน้าผลงานของแต่ละประเทศ


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์