คณะกรรมการแก้รธน. ส่อวุ่น พรรคเพื่อไทยขู่บอยคอต ไม่ส่งตัวแทนส.ส.เข้าร่วมเป็นกรรมการ ยื่นเงื่อนไขรัฐบาลต้องผลักดันตั้งกรรมการสอบเหตุการณ์สลายม็อบเสื้อแดงด้วย ด้านพรรคร่วมรัฐบาลคึกคัก เตรียมส่งรายชื่อกรรมการตัวแทนให้"ปู่ชัย" แต่งตั้งวันนี้ เผยเบื้องหลัง"เนวิน"หลบกระแสต้าน สั่งพรรคภูมิใจไทยอย่าแตะประเด็นนิรโทษกรรม ปล่อยให้"พรรคเติ้ง"ไปเคลื่อนไหวเอาเอง ปชป.สกัด"เหนาะ"นั่งประธานกก.แก้รัฐธรรมนูญ ส.ว.โวยวิปวุฒิฯรวบ รัดเสนอชื่อ 7 ตัวแทน "ประสพสุข"ตัดบทสั่งเรียกประชุมคัดเลือกใหม่ ส่วนชื่อเดิมให้ถือเป็นโมฆะ
รบ.ไม่ขัดข้อเสนอ"ยุบสภา"
เวลา 09.00 น. วันที่ 28 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเพื่อความปรองดองและสมานฉันท์และแก้รัฐธรรมนูญ ว่า ความจริงเป็นข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี ต้องการให้สมาชิกรัฐสภาคัดเลือกคณะกรรมการที่จะมาประมวลเหตุการณ์การชุมนุมตั้งแต่วันที่ 8-15 เม.ย. ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะทำให้ทุกอย่างชัดเจนขึ้น ใครสงสัยตรงไหนจะได้เอาหลักฐานไปบอกกรรมการเพื่อตรวจสอบ จะได้มีความเห็นตรงกันในเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญ นายกฯ เสนอว่าให้รัฐสภาโดยประธานรัฐสภาและวิป 3 ฝ่ายไปหารือเพื่อกำหนดประเด็นที่เห็นสมควรว่าจะต้องแก้ไข วิธีการที่จะนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ จากนั้นให้นำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งจะเห็นว่ารัฐบาลเปิดกว้างมาก ฉะนั้นถ้าดำเนินการในแนวนั้นก็ได้ข้อสรุปที่ตรงกับที่หลายฝ่ายเรียกร้อง
เมื่อถามว่าการนำปัญหาเข้าสู่สภา คิดว่าเป็นทางออกที่ดีกว่าการเคลื่อนไหวนอกสภาหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ขณะนี้เรามีระบบ เราควรเดินตามแนวทางที่เป็นระบบ เพราะเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การยอมรับของทุกฝ่ายได้ หากผลสรุปของสภาออกมาอย่างไร รัฐบาลพร้อมทำตามข้อเสนอของสภา ผู้สื่อข่าวถามว่ารวมถึงข้อเสนอของการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่โดยเร็วด้วยหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ถูกต้อง รัฐบาลเคารพเสียงส่วนใหญ่ในสภาอยู่แล้ว และนายกฯ ได้เรียนต่อสภาชัดเจน
ตั้งสเป๊กประธานกก.แก้รธน.
ที่รัฐสภา นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธาน วิปรัฐบาล กล่าวว่า ทุกพรรคการเมืองและส.ว. จะเสนอรายชื่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเพื่อความปรองดองสมานฉันท์และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา คาดว่านายชัยจะแต่งตั้งวันที่ 29 เม.ย. เพื่อให้คณะกรรมการนัดประชุมวางกรอบและเลือกตำแหน่งประธาน รองประธาน และโฆษก สัดส่วนสมาชิกพรรคการเมืองประกอบด้วย เพื่อไทย 9 คน ประชาธิปัตย์ 8 คน ภูมิใจไทย 2 คน เพื่อแผ่นดิน 1 คน ชาติไทยพัฒนา 1 คน พรรคประชาราชกับราษฎรรวมกัน 1 คน กิจสังคมกับรวมใจไทยชาติพัฒนารวมกัน 1 คน คณะกรรมการมีหน้าที่รวบรวมประเด็นศึกษาและแนวทางการแก้ปัญหารวมถึงการแก้รัฐธรรมนูญ กำหนดเวลา 15 วัน ทั้งนี้ กำหนดเวลาดังกล่าวจะไม่สามารถรวบรวมประเด็นต่างๆ ได้ทัน เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการจะพิจารณาเรื่องกรอบเวลาอีกครั้ง
ส่วนที่นายชัยเสนอให้นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราชเป็นประธานคณะกรรมการ นายชินวรณ์กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน ประธานต้องมีความน่าเชื่อถือ เป็นกลางและเป็นที่ยอมรับของสังคม สามารถขับเคลื่อนกระบวนการสร้างความสมานฉันท์ได้ การตั้งคณะกรรมการชุดนี้ไม่ใช่เพื่อซื้อเวลาให้รัฐบาล เชื่อว่าจะไม่ล้มเหลวเพราะทุกพรรคตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน เมื่อถามว่านายจักรภพ เพ็ญแข และนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช.พยายามเรียกร้องให้นายกฯ ยุบสภา นายชินวรณ์กล่าวว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นเพียงแนวคิดส่วนตัวของแต่ละคน ไม่สามารถแก้ปัญหาการเมืองได้ นายจักรภพไม่มีเจตนาพัฒนาประชาธิปไตยที่แท้จริง
ปชป.ลงตัวรายชื่อกรรมการ
ต่อมาที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชินวรณ์ เผยว่า รายชื่อคณะกรรมการในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ 8 คนที่พรรคมอบหมายให้นายบัญญัติ บรรทัดฐาน รองประธานสภาที่ปรึกษาพรรคเป็นผู้รวบรวมนั้น ได้ครบแล้ว คือ 1.นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.สัดส่วน 2.นายถวิล ไพรสณฑ์ ส.ส.กทม. 3.นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ ส.ส.สัดส่วน 4.นางผุสดี ตามไท ส.ส.สัดส่วน 5.นายศุภชัย ศรีหล้า ส.ส.อุบล ราชธานี 6.นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง 7.นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก และ 8.นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คน ที่ประชุมหารือเพียงกรอบกว้างๆ ว่าจะเป็นสถาบันไหนดี เช่น จากมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือสถาบันพระปกเกล้า จากนั้นจะหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลและประสานไปยังฝ่ายค้าน เพราะเกรงรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิจะซ้ำซ้อนกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีวิป 3 ฝ่ายมีมติกำหนดให้แต่ละพรรคและส.ว.ส่งชื่อตามสัดส่วนเพื่อเป็นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเพื่อความปรองดองและสมานฉันท์ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก่ประธานรัฐสภาภายใน 16.00 น. วันที่ 28 เม.ย. ปรากฏว่าถึงเวลาดังกล่าวไม่มีพรรคใดและส.ว.ส่งรายชื่อมา โดยประสานมาว่าไม่สามารถดำเนินการได้ทัน ทำให้ประธานวิป รัฐบาล แจ้งไปยังพรรคต่างๆ รวมถึงส.ว.ว่าให้เลื่อนส่งชื่อไปถึงวันที่ 29 เม.ย.
ข้องใจภาคประชาชนมีน้อย
น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าที่ประชุมส.ส.พรรคหารือถึงการตั้งคณะกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 2 ประเด็นคือ 1.องค์ประกอบคณะกรรมการ และ 2.ขอบข่ายอำนาจหน้าที่ ซึ่งที่ประชุมไม่ติดใจเรื่องขอบข่ายอำนาจหน้าที่ แต่ติดใจเรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมการที่ส่วนใหญ่มาจากภาคการเมือง มีภาคประชาชนน้อยมาก รวมถึงภาคผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากภาคการเมือง อาจไม่มีความเป็นอิสระจากการเมือง นอกจากนี้ที่ประชุมยังพูดถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไม่มีข้อยุติ เห็นว่าควรรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการชุดดังกล่าวก่อน แต่ประเด็นการนิรโทษกรรมในประเด็นการเมืองนั้น ที่ประชุมเห็นว่าให้เป็นอำนาจของประธานสภา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเพื่อความปรองดองสมานฉันท์และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วนของพรรคประชาราชและพรรคราษฎรจำนวน 1 คน ได้แก่ นายเสนาะ เทียนทอง ส.ส. สัดส่วน หัวหน้าพรรคประชาราช เป็นตัวแทน
ขณะที่พรรคภูมิใจไทยมีมติให้นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย และนายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม เป็นตัวแทนพรรคเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการดังกล่าว
ภท.ชงแก้รธน.8ประเด็น
ที่พรรคภูมิใจไทย นางศุภมาส อิศรภักดี รองโฆษกพรรคแถลงภายหลังการประชุมส.ส.พรรค ว่าพรรคมีมติเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 8 ข้อคือ 1.ต้องเป็นประเด็นสาธารณะและผ่านการทำประชามติทุกประเด็นเพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้ง 2.มาตรา 93-98 เรื่องที่มาของส.ส. ให้มีการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว เพื่อให้ประชาชนทุกพื้นที่มีสิทธิเท่ากัน 3.มาตรา 111 และ 113 ที่มาของส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้ง 4.มาตรา 265 ที่ห้ามให้ส.ส.ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น ที่ปรึกษา เลขานุการรัฐมนตรี ซึ่งจำกัดสิทธิของผู้แทนมากเกินไป 5.มาตรา 190 ในการทำสัญญากับต่างประเทศ
6.การสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ตามมาตรา 206, 231, 243, 246, 252, 256 ให้ใช้กระบวนการสรรหาแบบเดิม แต่ให้สรรหาผู้ดำรงตำแหน่งเป็น 2 เท่า เพื่อให้รัฐสภาเลือกให้เหลือเพียงเท่ากับตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ 7.มาตรา 239 เรื่องการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ให้กกต. ทำหน้าที่เฉพาะจัดการเลือกตั้งและรวบ รวมพยานหลักฐานการทุจริต และให้กกต. ส่งฟ้องศาลตัดสินให้ใบเหลืองใบแดง และจัดให้มีศาลเลือกตั้งมาทำหน้าที่พิจารณา 8.มาตรา 237 การยุบพรรค ให้ยกเลิกการยุบพรรคโดยให้เป็นความผิดเฉพาะตัวบุคคลเท่านั้นไม่เกี่ยวกับสมาชิกพรรคหรือกรรมการบริหารพรรค
หนุนให้ทำประชามติตัดสิน
นายประกิจ พลเดช ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่าพรรคเห็นว่าการแก้ปัญหาแต่ละข้อต้องถามความเห็นประชาชนและทำประชามติก่อนเพื่อให้สอดรับกับเสียงส่วนใหญ่ โดยพรรคเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทั้ง 8 ประเด็นที่พรรคเสนอเป็นประเด็นสาธารณะ ส่วนการนิรโทษกรรม พรรคจะไม่แตะเด็ดขาด เพราะเป็นประเด็นส่วนบุคคล แต่หากคณะกรรมการจะพิจารณาให้มีการนิรโทษกรรมต้องผ่านการประชามติ พรรคไม่ได้ปฏิเสธการนิรโทษกรรม แต่ขอฟังเสียงประชาชน ซึ่งผู้ใหญ่ในพรรคที่ถูกเพิกถอนสิทธิยืนยันว่าไม่กระทบไม่เดือดร้อน อยู่อย่างนี้ก็สนับสนุนพรรคได้
นายประกิจกล่าวว่า ประเด็นกรรมการสรร หาองค์กรอิสระ เราเห็นว่ายังให้เกียรติกรรมการสรรหาเหมือนเดิม แต่เมื่อสรรหาแล้วอยากให้ผู้ที่ถูกสรรหา 2 เท่าของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์อิสระ ในขั้นสุดท้ายมีส.ส.เข้าไปตัดสินเลือกร่วมกับส.ว.ด้วย นอกจากนี้เห็นว่าควรมีศาลเลือกตั้งเพื่อตัดสินคดีเลือกตั้งโดยตรง เนื่องจากที่ผ่านมากกต.มีอำนาจมากเกินไป ไม่มีองค์กรอื่นมาคานอำนาจ ส่งผลให้การตัดสินบางครั้งได้รับเสียงวิจารณ์มาก ส่วนการยุบพรรคเห็นว่าไม่ควรมี แต่การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้กระทำผิด 5 ปีให้ยังมีเหมือนเดิม แต่ให้เป็นความผิดเฉพาะบุคคล ไม่ใช่การยุบพรรค เพราะไม่เป็นธรรมกับสมาชิกพรรคคนอื่น ควรมีบทลงโทษเป็นรายบุคคลเท่านั้น
พท.ขู่บอยคอต ร่วมแก้รธน.
หลบกระแสต้านนิรโทษฯ
นายศุภชัย โพธิ์สุ ในฐานะคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองฯ ในสัดส่วนพรรคภูมิใจไทยกล่าวว่า เหตุที่พรรคไม่พิจารณาเรื่องนิรโทษกรรมเพราะเป็นการช่วยเหลือในประเด็นส่วนตัว ตรงนี้ต้องเอาไว้ทีหลังและต้องดูสถาน การณ์ก่อน เพราะวิธีการสร้างความปรองดองมีหลายวิธี ไม่ใช่การนิรโทษกรรมเพียงอย่างเดียว ซึ่งตนและนายบุญจงจะนำข้อเสนอของพรรคไปเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการต่อไป ส่วนใครเหมาะสมจะเป็นประธานคณะกรรมการนั้น ต้องขอดูรายชื่อกรรมการทั้ง 40 คนก่อนว่ามีใครบ้าง
รายงานข่าวแจ้งว่าตัวแทนพรรคภูมิใจไทยทั้ง 2 คน นายเนวิน ชิดชอบ เป็นผู้เสนอชื่อ ส่วนสาเหตุที่ไม่เน้นเรื่องการนิรโทษกรรม เพราะเชื่อว่ามีพรรคชาติไทยพัฒนาที่จะผลักดันเรื่องนี้อยู่แล้ว หากพรรคกระตือรือร้นเรื่องนี้คนที่จะถูกเพ่งเล็งมากที่สุดคือนายเนวิน
รายงานข่าวแจ้งว่า พรรคได้สั่งการให้ส.ส. พรรค 1 คนรวบรวมรายชื่อสมาชิกพรรคให้ได้อย่างน้อย 500 คน พร้อมทั้งส่งใบสมัครสมาชิกให้พรรคภายในวันนี้(28 เม.ย.) หากใครไม่สามารถรวบรวมได้หรือรวบรวมได้น้อยเกินไปจะมีผลต่อการพิจารณาตัวผู้สมัครในการเลือกตั้งครั้งต่อไป นอกจากนี้มีรายงานว่าส.ส.ทุกคนต้องซื้อเสื้อสีน้ำเงินของพรรคคนละ 400-500 ตัว เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ประชาชน หากซื้อเป็นเงินสดตัวละ 50 บาท แต่หากต้องการให้หักค่าเบี้ยประชุมที่ส.ส.จะได้รับรายละ 1 หมื่นบาท จะซื้อเสื้อได้ตัวละ 40 บาท
"เติ้ง"หนุนนิรโทษการเมือง
ที่พรรคชาติไทยพัฒนา นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวถึงทางออกของวิกฤตทางการเมืองภายหลังการตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาทางการเมืองเพื่อความปรองดองสมานฉันท์และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นทางที่หารือกันในระดับหนึ่งที่จะก้าวหน้าไปได้ แม้จะไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเด็ดขาดแต่ถ้าแก้ไขได้ส่วนหนึ่งก็ยังดี ต้องดูว่าปัญหาอยู่ตรงไหนและแก้ไขตรงจุดนั้น เหมือนที่นายกฯ พูดไว้ว่าเมื่อมีปัญหาการเมืองต้องเอาการเมืองเข้าไปแก้ไข ตนเห็นด้วย ส่วนเรื่องกรอบระยะเวลา 15 วัน หากไม่พอน่าจะขยายออกไปได้ ไม่ต้องเร่ง และไม่คิดว่าจะเป็นการซื้อเวลาของรัฐบาล
เมื่อถามว่าหลายฝ่ายห่วงว่าจะมีการนิรโทษกรรมที่อาจรวมไปถึงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วยนั้น นายบรรหารกล่าวว่า คงไม่มีเรื่องคดีอาญา อาจมีแค่เรื่องการเมืองเท่านั้น คิดว่าจะเป็นแนวทางทำให้ปัญหาในบ้านเมืองคลี่คลายลงไปได้ คนอยู่ใต้ดินก็เอามาบนดินเสีย คงทำให้คลี่คลายปัญหาไปได้
ด้านนายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานประชุมพรรค ถึงความคืบหน้าในการสรุปประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของพรรค ว่า คืบหน้าไปมาก คาดว่าจะเสนอประเด็นแก้ไข 3 ฉบับ ฉบับแรกจะมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับปัญหาที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เมื่อได้คุยกันและตกผลึกแล้วเห็นว่าควรเสนอแก้ไข มาตรา 190, 237 นอกจากนี้ ยังมีมาตรา 265 และ 266 ที่พรรคอื่นๆ ก็เห็นด้วย ส่วนฉบับที่ 2 คือประเด็นเกี่ยวข้องกับที่มาของส.ส.และส.ว. และฉบับที่ 3 เนื้อหาเกี่ยวกับองค์กรอิสระทั้งหมด
ไม่จำเป็นต้องทำประชามติ
ก่อนหน้านี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชุมพล ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรคเตรียมประเด็นไว้แล้ว จะเสนอให้แก้ไขบางมาตรา อาทิ มาตรา 190 มาตรา 237 หลักการของพรรคคือการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ความเป็นธรรมกับคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม คนไม่ได้กระทำผิดต้องพ้นผิด ส่วนคดีอาญานั้นไม่เกี่ยว เชื่อว่าประชาชนเข้าใจและต้องยอมรับ ไม่ยอมไม่ได้ เมื่อมีคนไม่ได้รับความเป็นธรรม คนที่ชี้แจงจะมีเหตุผลที่ดี ชี้แจงได้ ส่วนที่พรรคชาติไทยเคยยอมรับรัฐธรรมนูญปี 2550 และลงเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้น เพราะครั้งนั้นเห็นว่าให้รัฐธรรมนูญผ่านไปก่อนแล้วแก้ไขกันทีหลัง เมื่อถามว่าแต่อาจเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น นายชุมพลกล่าวว่า ไม่มีปัญหา ความเป็นธรรมอยู่ที่ไหนสังคมต้องรู้
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากข้อเสนอของพรรคไม่ได้แก้ไขจะมีปัญหาหรือไม่ นายชุมพลกล่าวว่า ไม่มีปัญหา แก้ได้ก็แก้ แก้ไม่ได้ก็จบกันไป พรรคจะไม่บีบคั้นรัฐบาล เราทำเพื่อความถูกต้อง เราทำเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่คนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม แก้ได้ก็ได้ แก้ไม่ได้พรรคไม่ได้ติดใจ วันหนึ่งความเป็นธรรมต้องคืนมาไม่ว่าโดยรูปแบบใดก็ตาม ส่วนจะต้องใช้กรอบเวลานานแค่ไหน ไม่สำคัญ แล้วแต่ขั้นตอน ไม่เร่งรัด จะเสร็จภายในรัฐบาลนี้หรือไม่ขึ้นอยู่กับกระบวนการ ถ้าสังคมไม่ยอมรับจริงๆ เราก็ถอยเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตบ้านเมือง
เมื่อถามว่าสุดท้ายต้องทำประชามติหรือไม่ นายชุมพลกล่าวว่า ไม่จำเป็น ประเด็นเดียวไปลงประชามติทำไม คราวที่แล้วฉบับปี"50 ไปลงประชามติถึงได้มีปัญหา ชาวบ้านไม่รู้เรื่องทั้ง 299 มาตรา เมื่อถามว่าจะเอาอะไรมาเป็นตัววัดว่าประชาชนยอมรับ นายชุมพลกล่าวว่า ทุกคนคือประชาชน นักการเมืองก็คือประชาชน ไม่มีความแตกแยก
พผ.แย้มประเด็นเสนอแก้ไข
เวลา 16.30 น. ที่พรรคเพื่อแผ่นดิน มีการประชุมพรรคโดยมีกรรมการบริหารพรรค รัฐมนตรีและส.ส.เข้าประชุม ขณะที่ส.ส.กลุ่มบ้านริมน้ำ และส.ส.กลุ่มพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ยังไม่เข้าร่วมประชุมพรรคเช่นเดิม ต่อมาเวลา 18.00 น. น.พ.อลงกต มณีกาศ ว่าที่โฆษกพรรค แถลงหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา แต่ต้องไม่นำรัฐธรรมนูญปี"40 มาเป็นแม่แบบ เช่น ต้องแก้มาตรา 190 เรื่องการเจรจากับต่างประเทศจะต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา มาตรา 237 เรื่องการยุบพรรคเนื่องจากอยากให้มีการเอาผิดเป็นรายบุคคล ไม่ใช่ยุบพรรค รวมถึงการเพิกถอนสิทธิ์กรรมการบริหารที่ไม่ได้ทำผิด และมาตรา 265 มาตรา 266 ที่ส.ส.ไม่สามารถเป็นเลขานุการรัฐมนตรีและที่ปรึกษารัฐมนตรีได้ รวมถึงส.ส.ไม่สามารถทำหนังสือถึงข้าราชการได้โดยตรง ทำให้ไม่สามารถแจ้งความเดือดร้อนให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดรับทราบได้ และต่อจากนี้พรรคจะนำข้อเสนอทั้งหมดผ่านตัวแทนของพรรคทั้ง 2 คน เพื่อให้นำผลสรุปของพรรคเข้าหารือในคณะกรรมการการแก้ไขปัญหาทางการเมืองฯต่อไป
น.พ.อลงกตกล่าวว่า ส่วนการนิรโทษกรรม พรรคมีมติเห็นด้วยเพราะที่ผ่านมากฎหมายถูกบังคับใช้จนเป็นเหตุให้พรรคถูกยุบ และกรรม การบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ์ทั้งที่ไม่ได้กระทำความผิด และเป็นกฎหมายที่เกิดจากคมช. อย่างไรก็ตามพรรคไม่เห็นด้วยหากจะให้มีการนิรโทษกรรมความผิดทางคดีอาญา โดยเฉพาะคดีการทุจริตต่างๆ
เผยปชป.ดัน"หยัด"นั่งปธ.
น.พ.อลงกต กล่าวถึงข่าวนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาเห็นว่านายเสนาะ เทียนทอง เหมาะสมเป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการเมืองฯ ว่า ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการฯ ที่พรรคการเมืองและส.ว.เสนอชื่อไปเป็นผู้ลงคะแนนเลือก แต่ส่วนตัวยอมรับได้หากนายเสนาะเป็นประธานคณะกรรมการฯ เพราะถือว่ามีความสามารถ ตั้งใจทำงาน รวมทั้งเห็นว่าเป็นผู้นำเสนอทางออกให้กับประเทศ แต่เชื่อว่าคงยาก เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้นายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นประธานคณะกรรมการฯ เช่นกัน
ด้านนายไชยยศ จิรเมธากร ว่าที่เลขาธิการพรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า พรรคได้ส่งรายชื่อเพื่อตั้งเป็นคณะกรรมการฯตามสัดส่วนของพรรคที่ประกอบด้วยสัดส่วนจากส.ส. 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 1 คน ประกอบด้วย นายสุเทพ เจตนาการณ์กุล อดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 2 และนายนพนิธิ สุริยะ อาจารย์ประจำคณะนิติ ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาแล้ว ทั้งนี้ สัดส่วนโควตา ส.ส.ของพรรค 1 คน พรรคไม่ประสงค์ส่งตัวแทนเข้าร่วม แต่ส่งผู้ทรงคุณวุฒิเข้าไปแทนโควตาเดิม รวมทั้งพรรคจะให้อิสระทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ครอบงำประเด็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ สาเหตุที่ตั้งคนนอก เพื่อป้องกันคำครหาว่าตั้งส.ส.ขึ้นมาแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง จึงใช้คนนอก
"ตู่"ด่ายุบกมธ.สอบสลายม็อบ
ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าสำหรับการประชุมของวิป 3 ฝ่าย ที่เดิมมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา 2 ชุด ชุดที่ 1 ทำหน้าที่ชำระสอบสวนการใช้กำลังปราบปรามประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และชุดที่ 2 ทำหน้าที่แก้ไขรัฐธรรม นูญ แต่ต่อมาได้ยกเลิกคณะกรรมาธิการที่ทำหน้าที่สอบสวนการใช้กำลังปราบปรามประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เหลือไว้เพียงคณะกรรมการที่ทำหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามสัญชาตญาณของตนคิดว่าใครที่ทำอย่างนั้นถือว่าเป็นคนที่ใช้ไม่ได้ เพราะไม่ควรนำเอาชีวิตของประชาชนมาเป็นเครื่องต่อรอง
นายจตุพรกล่าวว่าอยากฝากบอกไปยังสมาชิกพรรคเพื่อไทยถ้ายังปล่อยให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีการตรวจสอบเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก่อน ถ้าคิดได้แค่นี้ถือเป็นควาย เพราะสาเหตุที่รัฐบาลต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนเนื่องจากกลัวพรรคประชาธิปัตย์ถูกยุบ จึงไม่ควรไปตื่นเต้นกับเรื่องนี้ เพราะเราเคยถูกยุบพรรคไปแล้วถึง 2 ครั้ง ถ้าพรรคเพื่อไทยไปเอาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนการสอบสวนเรื่องการใช้กำลังปราบปรามประชาชนก็อาจจะมีปัญหาได้ จึงควรที่จะเอามติของประชาชนเป็นหลัก และไม่ควรไปบ้าจี้ตามพรรคประชาธิปัตย์ เพราะถ้านำคนผิดมาลงโทษไม่ได้การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่มีความหมาย
พท.ยื่นเงื่อนไข-ขู่บอยคอต
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข่าวนายชัยเสนอให้นายเสนาะเป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองฯและแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เห็นด้วย เพราะนายเสนาะยึดแนวทางไม่ทะเลาะกับใคร ที่สำคัญคือกล้าพูด กล้าเตือนสติ ที่ผ่านมาเมื่อนายเสนาะไม่พอใจพ.ต.ท.ทักษิณ นายอภิสิทธิ์หรือนายสุเทพ ท่านก็ด่ามาหมดแล้ว นอกจากนี้นายเสนาะยังรู้ทันเกมการเมืองดี ใครจะมาเล่นเกมด้วยคงยาก แต่หากไม่เป็นนายเสนาะ อีกแนวทางคือควรให้เป็นฝ่ายวุฒิสภา แต่ห่วงว่าวุฒิสภาจะรู้ทันเกมการเมืองหรือไม่ อย่างไรก็ตามคนของพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ไม่ควรเป็นประธาน เพราะเป็นก็ซัดกันเอง
ที่พรรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคแถลงหลังการประชุมพรรคว่า ได้หารือถึงข้อเสนอของการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองฯและแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยถกเถียงอย่างยาวนาน ที่ประชุมมีมติเสนอให้สภาผู้แทนฯตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อสืบสวนการสลายการชุมนุมวันที่ 13 เม.ย.เสียก่อน หากรัฐบาลปฏิเสธที่จะตั้งคณะกรรมการพิสูจน์ความจริง ส.ส.พรรคเพื่อไทยจะไม่เข้าร่วมอย่างเด็ดขาดในทุกเรื่อง ดังนั้น จึงยังไม่หารือเรื่องรายชื่อตัวแทนพรรคที่จะส่งไปเป็นคณะกรรมการ ทั้งนี้พรรคตั้งคณะกรรมการที่มีร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นประธาน จะยื่นเรื่องให้สหประชาชาติ ป.ป.ช. และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภายในสัปดาห์หน้า เหมือนกรณีพรรคประชาธิปัตย์ยื่นสอบการสลายชุมนุม 7 ตุลาฯ ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายกำลังพิจารณาจะยื่นแจ้งความดำเนินคดีกับนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาด ไทย นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย และนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย เนื่องจากนำคนเสื้อน้ำเงินมาปะทะกับคนเสื้อแดง ตามที่นายบุญจงยอมรับว่าเป็นคนนำเสื้อสีน้ำเงินมาจริง
วุฒิสภาวุ่นรายชื่อ7ตัวแทน
รายงานข่าวจากวุฒิสภาแจ้งว่า การเสนอชื่อ ส.ว.ร่วมเป็นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองฯและแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 7 คนได้มีปัญหาเกิดขึ้น สืบเนื่องจากการประชุมวิป 3 ฝ่ายเมื่อเย็นวันที่ 27 เม.ย. ตัวแทนวิปวุฒิสภาเตรียมเสนอชื่อนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาและประธานวิปวุฒิสภา นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรร หา พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ส.ว.สุราษฎร์ธานี นายสุพจน์ โพธิ์ทองคำ ส.ว.สรรหา นายวิทยา อินาลา ส.ว.นครพนม นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา เป็นคณะกรรมการ แต่นายไพบูลย์ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. และเป็นตัวแทนไปประชุมวิป 3 ฝ่ายขอถอนตัว โดยให้เหตุผลว่ากระบวนการเสนอชื่อไม่ถูกต้อง ไม่ได้รับการเห็นชอบจากวุฒิสภา นอกจากนี้ยังไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการชุดนี้ที่ตั้งธงแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ฝ่ายการเมือง และการกำหนดเวลาเพียง 15 วันยังเป็นการรีบเร่ง ขาดการมีส่วนร่วม ทำให้ตัวแทนวิปวุฒิสภาเสนอชื่อนายอนุรักษ์ นิยมเวช ส.ว.สรรหา เข้ามาแทน
รายงานข่าวแจ้งว่า ตลอดทั้งวันของวันที่ 28 เม.ย. มีส.ว.สอบถามนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ว่าทำไมรีบเร่งเสนอรายชื่อโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภา ทำให้นายประสพสุขต้องสั่งให้เลขาธิการวุฒิสภาส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือไปยังส.ว.ให้มาร่วมประชุมกับวิปวุฒิสภาวันที่ 29 เม.ย. เวลา 13.00 น. เพื่อเสนอชื่อบุคคลเป็นคณะกรรมการชุดดังกล่าว ส่วนรายชื่อเดิมทั้ง 7 คนให้ถือเป็นโมฆะ ซึ่งทำให้ส.ว.อีกส่วนหนึ่งไม่พอใจว่าทำไมต้องทำเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่
กลุ่ม40ส.ว.เสนอชื่อ4คน
นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กล่าวภายหลังการหารือของกลุ่ม 40 ส.ว. ถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองฯว่า เบื้องต้นทราบว่ามีรายชื่อของส.ว. 7 คน โดยกลุ่ม 40 ส.ว.ไม่เห็นด้วยกับรายชื่อดังกล่าวเพราะรวบหัวรวบหาง แต่งตั้งคัดเลือกกันเองโดยส.ว. ส่วนใหญ่ไม่ทราบ ดังนั้นวันที่ 29 เม.ย. เวลา 13.00 น. จะหารือกันในวิปวุฒิสภาอีกรอบเพื่อพิจารณารายชื่อคณะกรรมการในสัดส่วนของวุฒิสภา ทางกลุ่ม 40 ส.ว.จะเสนอชื่อ 4 คน ประกอบด้วย นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา นายวรวิทย์ บารู ส.ว.ปัตตานี และนายประเสริฐ ชิตพงศ์ ส.ว.สงขลา
นายประสานกล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการดังกล่าวเชื่อว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงได้ เพราะหากมุ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว เชื่อว่าจะเป็นปัญหาใหญ่ สังคมไม่ยอมรับ แต่หากมุ่งแก้ปัญหาพิจารณาเพื่อปฏิรูปทุกด้านของประเทศจริง คาดว่าน่าจะรับได้ หากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ มีความจริงใจและมุ่งมั่นเพื่อหาทางออก และต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พวกเราพร้อมให้ความร่วมมือ
กกต.โต้ข้อหาสองมาตรฐาน
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. ให้สัมภาษณ์ถึงฝ่ายค้านโจมตีเรื่องสองมาตรฐานกรณีการสอบสวนเงินบริจาคของพรรคประชาธิปัตย์ว่า ยืนยันไม่มีสองมาตรฐาน เพราะที่ดีเอสไอส่งมาเป็นสำนวนการร้องเรียนกรณีความผิดต่อตลาดหลักทรัพย์และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ไม่ได้เป็นกรณีความผิดต่อ พ.ร.บ.พรรคการเมือง และเอกสารที่ดีเอสไอส่งมาหนาเกือบ 4,000 หน้า ดีเอสไอแจ้งว่าน่าจะเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.พรรคการเมือง ซึ่งเป็นอำนาจกกต.ที่ต้องตรวจสอบก่อน ดังนั้นต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม สำนักกิจการพรรคการ เมืองตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบว่าอยู่ในอำนาจของกกต.หรือไม่ ซึ่งได้ทำบันทึกความเห็นถึงประธานกกต.แล้ว คาดว่าน่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของกกต.ในสัปดาห์นี้
เมื่อถามว่าสังคมตั้งคำถามต่อกกต.มากเรื่องสองมาตรฐานเพราะคดีเกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์มักช้าเป็นพิเศษ นายสุทธิพลกล่าวว่า คงไม่ใช่ การสืบสวนสอบสวน เช่น การเลือกตั้งซ่อมส.ส.ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการเลือกตั้งที่จ.สมุทรปราการ กกต.ก็ให้ใบแดงไป ยืนยันการวินิจฉัยสั่งการของกกต.เป็นไปตามพยานหลักฐานและข้อกฎหมาย ไม่ได้สองมาตรฐาน เราเน้นการปฏิบัติตามกฎหมายและความเป็นธรรมอย่างเคร่งครัด ส่วนความคืบหน้าการสอบสวนคดีแจกนามบัตรพร้อมเงินของนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย ขณะนี้คณะอนุกรรมการสอบสวนที่กกต.ตั้งขึ้นมาสอบสวนเสร็จแล้ว และอนุกรรมการทำบันทึกกราบเรียนประธาน กกต.เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมกกต.ต่อไป ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของประธานกกต.ว่าจะนำเข้าหารือเมื่อไหร่
ชี้ขาด"บุญจง"ต้นเดือนพ.ค.
ที่สำนักงานกกต. นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกกต. กล่าวว่า ที่ประชุม กกต.วันนี้จะเปิดซองความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ กรณีคำร้องที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ขอให้กกต.ตรวจสอบการสิ้นสมาชิกภาพของนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย สิ้นสุดลงตามมาตรา 106 (6) ประกอบมาตรา 266 ของรัฐธรรมนูญ เพราะแจกเงินงบประมาณของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ พร้อมแนบนามบัตรให้แก่ราษฎรในบ้านพักที่จ.นครราชสีมา เพื่อแจกจ่ายสำนวนให้กับกกต.ทุกคนนำไปศึกษาภายใน 7 วัน คาดว่าจะนำกลับเข้าพิจารณาในที่ประชุมเพื่อลงมติชี้ขาดได้ในสัปดาห์หน้า หรือวันที่ 7 หรือ 8 พ.ค. ขอยืนยันว่าไม่มีการยื้อคดี หรือได้รับใบสั่งจากฝ่ายใด
นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.กล่าวว่า คำร้องเรื่องนายบุญจง เป็นการร้องเรียนในความผิดแทรกแซงก้าวก่าย การทำหน้าที่ของข้าราชการประจำ หากสรุปว่านายบุญจงผิด จะทำให้นายบุญจงสิ้นสภาพการเป็นรัฐมนตรี โดยตามขั้นตอน กกต.จะต้องส่งเรื่องให้ประธานสภา ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเพิกถอนสิทธิต่อไป
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการกกต. เปิดเผยว่า ที่ประชุมกกต. นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. แจ้งให้ทราบว่าได้รับผลสรุปการสืบสวนสอบสวนจากคณะอนุกรรมการฯ กรณีนายบุญจง แจกเบี้ยยังชีพแนบนามบัตรตัวเอง โดยเปิดซองสำนวนในที่ประชุม พร้อมทั้งถ่ายเอกสารแจกให้กับกกต.ทุกคน และนัดพิจารณาในวันที่ 6 พ.ค.