รายงานข่าวจากกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) แจ้งว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ บก.จร.ได้จัดทำโครงการติดตั้งกล้องจับรถที่ใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดบนทางพิเศษฯ
โดยได้ทำโครงการเพื่อขอการสนับสนุนจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เจ้าของพื้นที่ ซึ่งเบื้องต้นเสนอติดตั้งกล้องจำนวน 10 ตัว งบที่ใช้อยู่ที่ประมาณ 25 ล้านบาท เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุบนทางพิเศษฯ ที่มีสาเหตุมาจากการใช้ความเร็ว โดยเฉพาะในโครงข่ายทางด่วนนอกเมืองที่รถใช้ความเร็วสูง เช่น เส้นทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด) ทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) ทั้งนี้การติดตั้งจะเป็นกล้องชนิดติดยึดอยู่กับที่ โดยกล้องจะถ่ายและบันทึกภาพตลอด 24 ชั่วโมง บอกข้อมูลการใช้ความเร็วของรถคันเป้าหมายและซูมเห็นป้ายทะเบียน สามารถบันทึกภาพในช่วงเวลากลางคืนได้ และเชื่อมข้อมูลมายังศูนย์ควบคุมสั่งการจราจร (บก.02) ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบข้อมูลและพิมพ์หมายเรียก ในลักษณะเดียวกับกล้องจับภาพรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร (เรด ไลท์ คาเมร่า) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามขณะนี้เป็นการเสนอโครงการเบื้องต้น ซึ่งจะต้องมีการหารือร่วมกันในรายละเอียดของโครงการต่อไป
ทั้งนี้ปัจจุบันการจับกุมผู้ขับขี่รถที่ใช้ความเร็วบนทางพิเศษฯ เจ้าหน้าที่จะจับกุมที่ความเร็ว 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยปัจจุบัน บก.จร.มีกล้องจับความเร็วชนิดเลเซอร์ ที่สามารถบันทึกภาพ และระบุความเร็วรถที่ใช้ ซึ่งจะมีการย้ายจุดตั้งด่านไปในเส้นทางที่คาดว่ารถจะใช้ความเร็วสูง และแจ้งวิทยุไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่บริเวณด่านทางออกในการจับกุม ทั้งนี้หากใช้ระบบเดียวกับการจับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟ ก็จะลดข้อโต้แย้งและลดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ถูกจับกุม ลดการใช้กำลังเจ้าหน้าที่รวมทั้งมีหลักฐานชัดเจน
โดยปัจจุบันการจับกุมรถที่ใช้ความเร็วของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งบนพื้นราบและบนทางด่วน มีทั้งกล้องชนิดเลเซอร์ที่มีการบันทึกภาพถ่าย และกล้องจับความเร็วรุ่นเก่าที่เป็นชนิดเรดาร์ที่ไม่มีการบันทึกภาพ.