สบายๆ สไตล์สีกากี : เขารู้จักระเบิด...แต่ระเบิดไม่รู้จักเขาพ.ต.ท.กำธร อุ่ยเจริญ


แค่มีคนตะโกนคำว่า "ระเบิด" ก็สร้างความหวาดหวั่น ตื่นตระหนก และความแตกตื่นให้แก่ผู้คนโดยรอบอย่างง่ายดาย ไม่ต่างกับการพบเห็นวัตถุปริศนา ที่วางอยู่ผิดที่ผิดเวลา ทุกคนยอมถอยห่างไปให้ไกลที่สุด...

แต่สำหรับ พ.ต.ท.กำธร อุ่ยเจริญ รองผู้กำกับกลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด กองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล เพียงแค่ได้รับแจ้งพบวัตถุต้องสงสัยจะตรงเข้าใส่ทันที !?!

พ.ต.ท.กำธร เป็นหนึ่งในผู้รู้จักระเบิดดีที่สุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เคยเสี่ยงตายกู้วัตถุระเบิดมานับครั้งไม่ถ้วน แต่เขาก็ไม่เคยไว้ใจพวกมัน โดยถือคติที่ว่า "เรารู้จักระเบิด แต่ระเบิดไม่รู้จักเรา" ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดและการเก็บกู้ของเมืองไทยสบายๆ สไตล์สีกากีฉบับกรุ่นกลิ่นอายวัตถุระเบิดจะมาบอกเล่าถึงเครื่องมือของนักก่อการร้ายสากลทั่วโลกใช้ปฏิบัติการอยู่นี้


ถาม : ระเบิดชนิดใดรุนแรงที่สุด
 
พ.ต.ท.กำธร : ระเบิดแสวงเครื่องที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง เป็นเครื่องมือหลักของกลุ่มก่อการร้ายทั่วโลก เป็นระเบิดที่ทำขึ้นเอง มาบรรจุในภาชนะรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เป็นต้น แล้วจุดระเบิดด้วยรีโมทคอนโทรล นาฬิกา และโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้มีปริมาณผลการระเบิดจำนวนมาก มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก มีการพัฒนาระเบิดแสวงเครื่องไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นระเบิดพลีชีพ พัฒนาเป็นอาวุธชีวเคมีและรังสีในอนาคตด้วย


ถาม : วัตถุระเบิดทั่วโลกแบ่งออกเป็นกี่ประเภท
 
พ.ต.ท.กำธร : ทั่วโลกแบ่งประเภทของระเบิดเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามอัตราการสลายตัวของระเบิด คือ ระเบิดแรงดันต่ำ เช่น ประทัดยักษ์ และระเบิดแรงดันสูง เช่น ซีโฟร์ นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งตามคุณลักษณะ คือ ระเบิดที่ทำเอง เช่น ระเบิดแสวงเครื่อง และระเบิดมาตรฐานที่ใช้ในกองทัพ เป็นระเบิดที่ผลิตมาจากต่างประเทศ มีความปลอดภัยสำหรับคนใช้ แตกต่างจากระเบิดทำเอง แม้จะมีอานุภาพใกล้เคียงกัน แต่ไม่ปลอดภัยสำหรับคนใช้และคนเก็บกู้วัตถุระเบิด ซึ่งการเก็บกู้ระเบิดแสวงเครื่องมีความเสี่ยงสูง ต้องใช้ความรู้และความชำนาญเป็นพิเศษ


ถาม : ที่พบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นระเบิดชนิดใด
 
พ.ต.ท.กำธร : วัตถุระเบิดที่พบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 95 เปอร์เซ็นต์ เป็นระเบิดทำเอง หรือระเบิดแสวงเครื่อง จากการตรวจพิสูจน์แล้วไม่พบว่าเป็นระเบิดที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เพียงแต่มีการนำสารทำวัตถุระเบิดมาจากต่างประเทศ 
 
ถาม : สถานการณ์ระเบิดทางภาคใต้และการเข้าไปช่วยเหลือ
 
พ.ต.ท.กำธร :
หลังจากมีมาตรการควบคุมสารที่ใช้ทำวัตถุระเบิด ซิมการ์ด และใช้มาตรการเชิงรุกเข้าตรวจค้นพื้นที่ต้องสงสัย ทำให้ความถี่ในการเกิดระเบิดในพื้นที่ลดลงมาก แต่ปริมาณการเกิดขึ้นค่อนข้างแน่นอน และมีความเสียหายมากขึ้น ส่วนการเข้าไปช่วยเหลือก็ลงไปประจำที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) จ.ยะลา เป็นกองกำลังสนับสนุน และเชื่อมโยงข้อมูลวัตถุระเบิดทั้งสองศูนย์เข้าด้วยกัน


ถาม : ภารกิจการเชื่อมโยงข้อมูลวัตถุระเบิดระหว่างประเทศของศูนย์ข้อมูลวัตถุระเบิด
 
พ.ต.ท.กำธร : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มอบหมายให้สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ กำกับดูแลศูนย์ข้อมูลวัตถุระเบิด ซึ่งมีการรวบรวมข้อมูลและศึกษาวิวัฒนาการ นำฐานข้อมูลมาวิเคราะห์ โดยศูนย์ข้อมูลวัตถุระเบิดได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากต่างประเทศ มีการประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลปีละ 2 ครั้ง ส่วนศูนย์ที่ ศปก.ตร.สน.มาลิงก์ข้อมูลกัน ช่วยให้มีการวิเคราะห์ข้อมูลได้ชัดเจนและถูกทาง ใช้ประโยชน์ได้จริง แต่ติดปัญหาที่ยังขาดแคลนเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลที่มีความเชี่ยวชาญมากพอที่จะรู้ว่าระเบิดที่เคยเกิดเมื่อ 10 ปีก่อน กับระเบิดที่เกิดปีนี้น่าจะเกิดจากกลุ่มเดียวกันก็ได้


ถาม : จากการวิเคราะห์ข้อมูลการเกิดระเบิดที่ภาคใต้ มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายสากลหรือไม่
 
พ.ต.ท.กำธร : การระเบิดที่ภาคใต้ ณ วันนี้จากการวิเคราะห์ข้อมูลวัตถุพยานไม่คล้ายการก่อการร้ายสากล แตกต่างจากฟิลิปปินส์ อินเดีย หรืออินโดนีเซีย ที่ดูเป็นมืออาชีพมากกว่า มีการแสดงตนหลังก่อเหตุ ของเรายังไม่เข้าข่ายก่อการร้ายสากล เนื่องจากยังไม่มีใครออกมาแสดงตน แม้ว่าจะมีลักษณะการลอบวางระเบิดที่คล้ายๆ กัน แต่ไม่ใช่การก่อการร้ายสากล เพราะยังไม่สามารถเชื่อมโยงวัตถุพยานที่พบในที่เกิดเหตุได้ จึงมองว่าเป็นเพียงกลุ่มที่มีปัญหาภายในประเทศ 


ถาม : กลุ่มก่อการร้ายประเทศใดที่มีศักยภาพที่สุด
 
พ.ต.ท.กำธร : ตอบไม่ได้ หากมีคนรู้ว่ากลุ่มก่อร้ายที่มีศักยภาพที่สุดอยู่ที่ไหน อเมริการู้คงไปบอมบ์แล้ว ตอนนี้ไม่มีใครรู้เป้าหมายชัดเจนของกลุ่มก่อการร้าย ตอนนี้ก็หลบๆ ซ่อนๆ อยู่ในโลกนี้แหละ ส่วนตัวผมมองว่าโลกนี้ยังสลับซับซ้อนและไม่ชัดเจน


ถาม : ภารกิจอื่นนอกจากเก็บกู้ระเบิดและพิสูจน์วัตถุระเบิด
 
พ.ต.ท.กำธร : มีหน้าที่ถวายความปลอดภัยแด่พระบรมวงศานุวงศ์ในการเสด็จตามพื้นที่ต่างๆ ตลอดจนคณะบุคคลสำคัญของประเทศและต่างประเทศ ที่จะเดินทางไปประชุมยังสถานที่ต่างๆ อย่างการประชุมอาเซียนที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และการประชุมอาเซียนที่พัทยา จ.ชลบุรี เก็บกู้ระเบิดตามสถานที่ต่างๆ ที่ประชาชนแจ้งมา ตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด คัดแยกสารก่อระเบิดแต่ละชนิด และฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิด ตลอดจนให้ความรู้กับประชาชน


ถาม : ประชาชนจะระวังภัยจากวัตถุระเบิดได้อย่างไร
 
พ.ต.ท.กำธร : มีหลักอยู่ 4 ข้อ คือ 1.ไม่เคยเห็น 2.ไม่เป็นของใคร 3.ไม่ใช่ที่อยู่ และ 4.ดูไม่เรียบร้อย คือ การพบสิ่งของที่ไม่เคยเห็น อย่าไปเปิด สิ่งของที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของก็อย่าเอามาเป็นของตัวเอง การเจอสิ่งของหรือกระเป๋าของใครไม่รู้มาตั้งอยู่หน้าบ้าน เจอถังดับเพลิงวางอยู่สี่แยก ดูแล้วสภาพไม่เรียบร้อย มีสวิตช์ มีสายไฟ มีเทปพันไม่เรียบร้อย เมื่อเห็นก็อย่าไปแตะต้อง เคลื่อนย้าย ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือโทรศัพท์แจ้งไปที่ 191 จะมีทีมเจ้าหน้าที่ไปเก็บกู้วัตถุต้องสงสัยตลอด 24 ชั่วโมง


ถาม : วิเคราะห์การลอบวางระเบิดในกรุงเทพฯ อย่างไร
 
พ.ต.ท.กำธร : ระเบิดที่พบส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ เป็นระเบิดปิงปอง มีรัศมีการทำลายล้าง 1-2 เมตร อาจทำให้มือขาด ขาขาดได้ หากเข้าบริเวณจุดสำคัญก็ทำให้เสียชีวิตได้ ระเบิดป่วนเมืองก็เป็นแค่ระเบิดป่วนเมือง ไม่ร้ายแรงมากเท่าระเบิดแสวงเครื่อง


ถาม : ในฐานะนักเก็บกู้ระเบิด มีความรู้สึกอย่างไรกับคนที่ลอบวางระเบิด
 
พ.ต.ท.กำธร : ผมรู้สึกว่าเป็นการเอาความรู้มาใช้ในทางที่ผิด ผมมองกลุ่มที่ลอบวางระเบิดเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่มีอุดมการณ์ และส่วนที่รับจ้าง กลุ่มที่มีอุดมการณ์ก็ใช้ตามวัตถุประสงค์เป้าหมายของเขาไป ส่วนคนที่รับจ้างก่อเหตุวุ่นวาย เป็นการใช้ความรู้ในทางที่ผิด ไม่น่าจะมาก่อความวุ่นวาย เพราะระเบิดมันอันตราย ที่สำคัญเป็นคนไทยด้วยกัน


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์